ถ้าต้องใช้ชีวิตบนดาวอังคาร หน้าตาของเมืองจะเป็นอย่างไร? ความฝันที่จะเดินทางหนีออกจากโลกเพื่อไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร เป็นสิ่งที่ใครหลายคนใฝ่ฝันถึง และพยายามทำให้มันเป็นจริงได้มากขึ้นเรื่อยๆ
องค์กร Dubai’s Mohammed Bin Rashid Space Centre (MBRSC) ที่ทำงานศึกษาและด้านอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหนึ่งงานที่กำลังศึกษาเรื่องการขึ้นไปตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านสร้างเมืองกันบนดาวอังคารด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดได้ออกแบบคอนเซ็ปต์ ‘เมืองในโดม’ ออกมาแล้ว
ในเบื้องต้น เมืองในโดมที่ว่านี้จะเป็นเมืองที่เก็บออกซิเจนเอาไว้ภายใน โดยมีโดมที่เป็นที่กักเก็บออกซิเจนไม่ให้หลุดออกไป ซึ่งจะทำให้มนุษย์เราสามารถหายใจได้อย่างปกติเหมือนกับอยู่บนโลก
อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่สำคัญนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องออกซิเจน แต่ยังรวมไปถึงอุณหภูมิบนดาวอังคาร ที่ปกติแล้วจะค่อนข้างหนาวเย็นมากๆ (ติดลบ 63 องศาเซลเซียส) รวมถึง ความกดอากาศที่น้อย ซึ่งสามารถทำให้ของเหลวเปลี่ยสภาพเป็นแก๊สได้ในเวลาที่รวดเร็ว
นอกจากนั้น ผู้พัฒนาคอนเซ็ปต์เมืองในโดม ยังได้ออกแบบให้มีที่อยู่อาศัยของผู้คนต้องอยู่ใต้ดินลงไปราวๆ 20 ฟุตเพื่อป้องกันรังสีที่อาจส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน เมืองแห่งนี้จะใช้พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์มาช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย
เมืองในโดมนี้ยังเป็นแค่คอนเซ็ปต์เบื้องต้นเท่านั้น และยังจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยกันอีกยาวนาน แต่ทาง UAE เองก็มีแผนว่า ถ้าสิ่งต่างๆ พร้อมมากกว่านี้แล้ว อาจจะได้ทดลองสร้างเมืองในโดมแบบจำลองนี้ขึ้นมาก่อนในเขตทะเลทราย เพื่อให้เป็นเมืองรุ่นต้นแบบก่อนที่มนุษย์เราจะพร้อมหนีไปอยู่บนดาวอังคาร
ทั้งนี้ เมื่อปี 2017 ประเทศ UAE เคยประกาศตัวว่าจะสร้างนวัตกรรมต่างๆ เพื่อออกไปสร้างเมืองบนดาวอังคารให้ได้ภายใน 100 ปีข้างหน้า
ช่วงหลังมานี้ หลายๆ ฝ่ายก็ได้พยายามทำให้ความฝันเรื่องการไปอยู่บนดาวอังคารใกล้ความจริงมากขึ้น ซึ่งก็น่าติดตามกันต่อไปว่า การหนีออกไปจากโลกเพื่อไปอยู่บนดาวดวงอื่นนั้น จะเกิดขึ้นได้จริงไหม แล้วมันจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่?
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/style/article/mars-science-city-design-spc-scn/index.html
https://futurism.com/martian-city-dome-breathtaking
#Brief #TheMATTER