เศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ทำให้ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นคนว่างงาน เด็กที่เพิ่งจบใหม่ออกมา ก็หางานกันลำบาก หลายประเทศจึงต้องหาทางรับมือปัญหานี้ โดยล่าสุด รัฐบาลออสเตรเลียจะออกนโยบายเพิ่มค่าเทอมของมหาวิทยาลัยในสายมนุษยศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ นิติศาสตร์ และจะลดค่าเทอมในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาด อย่างพยาบาล วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม เพื่อดึงให้นักศึกษาไปเรียนในสาขาที่มีตำแหน่งงานรองรับ
แดน เทียน (Dan Tehan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของออสเตรเลีย ประกาศนโยบายที่จะช่วยเพิ่มจำนวนเด็กจบใหม่ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานเลย โดยระบุว่าจะเพิ่มการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย 39,000 ที่นั่ง ภายในปี ค.ศ.2023 และเป็น 100,000 ที่นั่ง ภายในปี ค.ศ.2030
โดยนโยบายนี้จะเปลี่ยนแปลงค่าหน่วยกิตของคณะสายพาณิชยศาสตร์ และนิติศาสตร์ให้เพิ่มขึ้น 28% และคณะสายมนุษยศาสตร์ ให้เพิ่มขึ้นอีก 113% แต่จะสนับสนุนและเก็บอัตราค่าเรียนในหลักสูตรที่หาง่ายได้ง่ายกว่าให้น้อยลง อย่างหลักสูตรครุศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ จิตวิทยาคลินิก วิทยาศาสตร์ สุขภาพ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักศึกษาเลือกเรียนหลักสูตรเหล่านี้แทน
นโยบายนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งทำให้อัตราการว่างงานของเยาวชนเพิ่มขึ้น โดยเทียนกล่าวว่า ทักษะต่างๆ ของเยาวชนจะต้องได้รับการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี เพื่อให้พวกเขาพร้อมสำหรับการทำงาน เมื่อมีตำแหน่งงานเปิดรับ
เทียนเสริมอีกว่า เขาต้องการให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้นักศึกษาเลือกทางเลือกที่ถูกกว่า โดยจะช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน และทั้งฝ่ายนักศึกษา และรัฐบาลก็จะได้ผลประโยชน์จากเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี อลิสัน บาร์นส์ (Alison Barnes) ประธานสหภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา (NTEU) มองว่า การศึกษาสายมนุษยศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ และนิติศาสตร์นั้น ช่วยสอนเรื่องการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ไขปัญหา ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้น มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่ แอนดรูว์ นอร์ตัน (Andrew Norton) ผู้อำนวยการแผนการศึกษาระดับสูงของสถาบัน Grattan กล่าวว่า ในขณะที่เป้าหมายของรัฐบาล คือการให้เยาวชนไปเรียนต่อด้านที่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่เราก็ไม่สามารถควบคุมความต้องการของตลาดหลัง COVID-19 ได้อยู่ดี ทั้งยังยืนยันว่า ระบบควรเป็นไปตามทางเลือกที่นักศึกษาต้องการเรียนเองมากกว่า
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER