“โลกประกอบด้วย แผ่นดิน 3 ส่วน และผืนน้ำอีก 7 ส่วน”
คือประโยคที่เราถูกสอนให้ท่องจำตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า จนถึงทุกวันนี้ มนุษย์รู้จักพื้นที่ 70% ของบ้านที่เราอาศัยอยู่น้อยกว่าที่คิด (บางคนเทียบว่า อาจรู้จักดาวเคราะห์บางดวงในอวกาศมากกว่าด้วยซ้ำ)
โครงการทำแผนที่ก้นสมุทรจึงเกิดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธินิปปอนและองค์กรทำแผนที่ก้นสมุทรนานาชาติ GEBCO ในชื่อว่า ‘Seabed 2030’ โดยมุ่งหวังทำแผนที่ความลึกมหาสมุทรให้ครบทั้ง 100% ซึ่งนับแต่เริ่มโครงการมาในปี ค.ศ.2017 ก็มีการทำแผนที่เพิ่มจาก 6% เป็น 19% หรือหนึ่งในห้าของทั้งหมดแล้ว – ทว่าพื้นที่ที่เหลือก็ยังกว้างใหญ่ ถึงขนาดผู้เกี่ยวข้องเปรียบเปรยว่า ใหญ่เป็น 2 เท่าของพื้นผิวดาวอังคาร!
ความจริง เรามีแผนที่ก้นสมุทรอย่างคร่าวๆ ที่ทำโดยใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียม แต่โครงการ Seabed 2030 จะให้ข้อมูลที่ละเอียดกว่ามาก
หลายคนคงสงสัยในใจว่า แล้วเราจะอยากได้แผนที่ก้นสมุทรแบบละเอียดๆ ไปเพื่ออะไร? มีคำอธิบายว่า การทำแผนที่ก้นสมุทร ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อการนำทางในทะเล การวางสายเคเบิลและท่อใต้น้ำ การวางแผนประมง การอนุรักษ์สัตว์น้ำ ยังรวมไปถึงการทำความเข้าใจกระแสน้ำในมหาสมุทร ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล และทำนายการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศได้ดีขึ้นอีกด้วย
แม้อาจฟังดูไม่เซ็กซี่เท่าการสำรวจอวกาศ แต่การสำรวจใต้ทะเลก็ดูจะทะเยอทะยานไม่แพ้กัน
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/science-environment-53119686
https://seabed2030.gebco.net/data_centers/documents/seabed_2030_roadmap_v10_low.pdf
https://www.gebco.net/about_us/faq/#why_measure_depth
[ หมายเหตุ: การทำแผนที่ก้นสมุทร ไม่ได้ใช้มนุษย์ดำลงไปดูแบบในภาพประกอบแน่ๆ แต่ใช้วิธีที่ GEBCO เรียกว่า ระบบ multi-beam echo-sounder ที่ใช้วิธีวัดความลึกด้วยเสียงสะท้อน ผสมกับเทคโนโลยีอื่นๆ แล้วก็ทำออกมาเป็นแผนที่ก้นสมุทร – ซึ่งบอกข้อมูลสำคัญเรื่องความลึกและภูมิประเทศของมหาสมุทรนั่นเอง ]
#Brief #TheMATTER