พอเข้าหน้าฝน ฝูงยุงก็กลับมาแพร่หนักจนสร้างความรำคาญใจให้ใครหลายคนกันอีกครั้ง เพราะมันไม่ได้ทำให้เราคันอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังนำพาโรคภัยมากมายมาให้เราด้วย จนถึงขั้นมีการตั้งเป้าการทดลองที่จะปล่อยยุงที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมกว่า 750 ล้านตัวในสหรัฐฯ เพื่อป้องกันยุงกัด และยับยั้งการโรคร้ายต่างๆ ซึ่งตอนนี้แผนการดังกล่าวก็ใกล้จะสำเร็จแล้ว
แผนการนี้ คิดค้นโดย Oxitec บริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีสหรัฐฯ เป็นพื้นที่ในการทดลองปล่อยยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ที่ได้รับการดัดแปลงให้มีโปรตีนที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยโปรตีนนี้จะฆ่ายุงเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงไปกัดผู้คน และยับยั้งการแพร่เชื้อโรค เช่น ไข้เลือดออก โรคซิกา
จริงๆ แล้ว แผนการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะการดัดแปลงพันธุกรรมยุงก็ถูกพัฒนามาตั้งแต่ ปี ค.ศ.2002 แล้ว แต่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรและบริการผู้บริโภคของรัฐฟลอริดา อนุมัติแผนที่จะปล่อยยุงกว่าหลายล้านตัวที่ฟลอริดาคีย์ส (Florida Keys) หมู่เกาะทางตอนใต้ของสหรัฐฯ รวมถึง สํานักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) ออกมาแถลงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ในการทดลองปีต่อๆ ไป จะมีการปล่อยยุงใน Harris county ในรัฐเท็กซัสด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยยืนยันว่าการทดลองนี้จะดัดแปลงและปล่อยเฉพาะยุงตัวผู้เท่านั้น ซึ่งยุงตัวผู้ไม่กัดคน จึงแปลว่าพวกมันจะไม่เป็นอัตรายต่อประชาชนอย่างแน่นอน
แต่ก็มีกลุ่มคนที่คัดค้านแผนดังกล่าวอยู่เช่นกัน โดยพวกเขาตั้งใจจะฟ้อง EPA เพราะไม่สามารถยืนยันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการได้ ขณะเดียวกัน กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการทดลองนี้ด้วยเช่นกัน
“ผู้คนที่อยู่ในฟลอริดา ไม่ได้ยินยอมที่จะเป็นจะเผชิญกับยุงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม รวมถึงการเป็นมนุษย์ทดลองด้วย” แบร์รี่ เวรย์ (Barry Wray) ผู้อำนวยการบริหารของสหพันธมิตรสิ่งแวดล้อมแห่งฟลอริดาคียส์ กล่าว
ขณะที่ เจย์ดี ฮานซัน (Jaydee Hanson) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหาร ระบุว่า การทดลองนี้ เป็นการทดลองแบบจูราสิกปาร์ก (Jurassic Park experiment) ทั้งยังบอกว่า อาจจะเกิดอะไรเลวร้ายขึ้นก็ได้ เพราะไม่ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแบบจริงจัง
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/environment/2020/jun/17/genetically-modified-mosquitoes-florida-texas
#Brief #TheMATTER