ถือเป็นความเคลื่อนไหวในวงการสิทธิและกฎหมายไทยที่น่าสนใจ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ. ‘ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย’ แล้ว โดยหลังจากนี้จะส่งให้สภาพิจารณาต่อไป
ประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่น
1) จะคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2) เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันปราบปราม
3) เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว รวมถึงการขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและสร้างหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชาชน
4) กำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ซึ่งสามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้
5) กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก เว้นแต่กรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนแทน
ทั้งนี้ ยังได้กำหนดฐานความผิดเป็น 3 ประเภท คือ
-กรณีกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน หรือกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท
-กรณีผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 300,000 บาท
-กรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 400,000 บาท
หลังจากนี้ ต้องรอดูกันต่อไปว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ทางสภาจะรับร่างกฎหมายฉบับนี้ไปพิจารณาต่อเมื่อไหร่ และเนื้อหาจะเปลี่ยนไปจากฉบับนี้หรือไม่
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/news/politic/1874784
https://www.voicetv.co.th/read/bsfSKXBw3
#Brief #TheMATTER