ดรามาไลฟ์โค้ชคนดังทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเจอปัญหาใหม่ในชีวิต – ตัวอักษร ‘ฌ. เฌอ’ อยู่ตรงไหนบนแป้นพิมพ์ ?
สำหรับแฟนวงไอดอลบางวงอาจไม่เป็นปัญหามากนัก แต่กับคนอื่นที่นานๆ ครั้งจะได้ใช้ตัวอักษรนี้สักที รู้ตัวอีกที กว่าจะหาเจอก็ใช้เวลามองหาอยู่หลายวินาที บางคนหาไม่เจอแอบใช้ตัวอักษรอื่นแทนๆ ไปก่อน
เชื่อว่าหลายๆ คน คงจะเคยสงสัยแหละว่า ทำไมตัวอักษรที่นานๆ ใช้ทีอย่าง ฌ. เฌอ ถึงยังมีอยู่ ทำไมไม่ใช้ ช. ช้าง ทับไปเลย เพราะก็ออกเสียงคล้ายๆ กัน
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ให้รากของตัวอักษรนี้ว่า มาจากภาษาเขมร ‘เฌอ’ ที่แปลว่าต้นไม้ ทั้งยอมรับว่าเป็นพยัญชนะที่ใช้เขียนคำไม่กี่คำ สำหรับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตหรือภาษาเขมร เช่น ฌาน ฌาปนกิจ ฌาปนสถาน เฌอเอม เป็นต้น (หากไม่นับการใช้ทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศส)
ส่วนการรณรงค์ให้ออกเสียงว่า ฌ. เฌอ ไม่ใช่ ฌ กระเชอนั้น นิตยสารศิลปวัฒนธรรมเคยระบุว่า นับแต่อดีตมีความพยายามในการคิดคำกำกับตัวอักษรนี้เพื่อให้ไว้หลายคำ ไม่ใช่แค่ 2 คำแรกเท่านั้น ยังรวมถึง ฌ. ฌาน ฌ. ฤาษีเข้าฌาน ฌ. อุปัชฌาย์ ฌ. เฌอริมทาง ฌ. กระ เฌอคู่กัน ฯลฯ – จะเห็นได้ว่าคำกำกับที่ใช้มากที่สุดคือ เฌอ ที่แปลว่า ‘ต้นไม้’ ในภาษาเขมร
ความจริง ตัวอักษร ฌ เฌอ เคยเกือบจะถูกเลิกใช้ไปสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามนโยบายรัฐนิยม ระหว่างปี พ.ศ.2485 ที่ให้ลดจำนวนสระ-พยัญชนะในภาษาไทยลง ด้วยวัตถุประสงค์ “ให้กระทัดรัดเพื่อได้เล่าเรียนกันได้ง่ายขึ้น” โดยให้งดใช้สระ 5 ตัว และงดใช้พยัญชนะ 13 ตัว รวมถึง ฌ. เฌอ ด้วย (ให้ใช้ ช. ช้างแทน ฌ. เฌอ)
อย่างไรก็ตาม นโยบายปรับปรุงสระ-พยัญชนะในภาษาไทยดังกล่าว ก็ใช้จนถึงปี พ.ศ.2487 เท่านั้น เมื่อจอมพล ป. ลงจากอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลชุดต่อมา ก็ยกเลิกหลายๆ นโยบายของจอมพล ป. รวมถึงการปรับปรุงสระ-พยัญชนะในภาษาไทย
เอาเข้าจริง เหตุผลในการยังคงตัวอักษร ฌ. เฌอ ในภาษาไทยไว้ มีรายละเอียดมากกว่านี้แหละ นอกเหนือจากเรื่องการบอกรากของคำยืมที่มาจากภาษาต่างประเทศ การกำหนดคำทับศัพท์ให้ออกเสียงใกล้เคียงถ้อยคำต้นทาง และเหตุผลทางการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง ใครมีข้อมูลมากกว่านี้ เชิญชวนมาแลกเปลี่ยนกันได้ตามอัธยาศัย
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.royin.go.th/?knowledges=ฌ-เฌอ-๒๘-เมษายน-๒๕๕๐
https://www.silpa-mag.com/culture/article_36757
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/035/1137.PDF
#Brief #TheMATTER