กลายเป็นภาพที่เห็นกันชินตา เมื่อเหล่านักเรียนพากันชูสามนิ้วระหว่างการเคารพธงชาติ เพื่อแสดงจุดยืนถึงการต่อต้านเผด็จการ แต่การชูสามนิ้วมาจากไหน แล้วมีความหมายว่ายังไงกันแน่นะ?
พอพูดถึงการชูสามนิ้ว หลายคนอาจนึกถึงภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง The Hunger Games ซึ่งฉายในช่วงปี พ.ศ.2555-2558 ซึ่งเล่าถึงระบบการปกครองที่แบ่งออกเป็นเขต โดยแต่ละเขตจะต้องส่งตัวแทน ชาย-หญิง มาร่วมเกมต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด สะท้อนการปกครองที่กดขี่และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
ในช่วงที่กำลังต่อสู้อยู่ในเกมนั้น แคตนิส เอเวอร์ดีน ตัวเอกของเรื่องได้ชูสามนิ้วขึ้น เพื่อส่งข้อความว่า ‘ขอโทษ สรรเสริญ และกล่าวอำลา’ ไปยังผู้คนในเขตอื่นๆ ซึ่งผู้ปกครองมองว่า นี่เป็นการกระทำที่กระด้างกระเดื่อง .. แล้วจากนั้น สัญลักษณ์นี้ก็ถูกใช้ในการปฏิวัติของเหล่าผู้คนในเขตต่างๆ
ภาพยนตร์ The Hunger Games มีทั้งหมด 3 ภาค โดยภาคสุดท้ายถูกแบ่งออกเป็น 2 พาร์ท แล้วในวันที่พาร์ทแรกของภาค 3 เข้าโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2557 ก็มีข่าวว่าภาพยนต์เรื่องนี้เบรกรอบฉายบางรอบ ซึ่ง คสช. ในตอนนั้นเคยออกมาชี้แจงว่า กลัวการชูสามนิ้วจะสร้างความวุ่นวายและแตกแยกในสังคม (แต่คนที่ออกมาเรียกร้องก็ยืนยันว่า นี่มันคือการแสดงออกทางการเมืองแบบสันติวิธีและตามสิทธิขั้นพื้นฐานนะ)
การชูสามนิ้ว ยังได้เกิดขึ้นทั้งในช่วงเวลาของการชุมนุมทางการเมืองจากกลุ่มที่เลือกข้างประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ที่นักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนได้ออกมาชูสามนิ้วเพื่อแสดงออกถึงการเลือกข้างประชาธิปไตย-ต่อต้านเผด็จการตามเหตุการณ์ต่างๆ
ตลอดจนการชุมนุมที่สกายวอล์ค (เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปี พ.ศ.2562) เพื่อสะท้อนถึงความไม่พอใจต่อคดีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ รวมถึงการแสดงออกทางการเมืองในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้น ผู้ชุมนุมหลายคนก็ยืนยันว่า เรื่องนี้ไปไกลกว่าแค่พรรคอนาคตใหม่แล้ว แต่เป็นการแสดงออกเพื่อคัดค้านความไม่ชอบธรรมโดยรวมของรัฐบาล
นอกจากนั้น การใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ยังปรากฏผ่านการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกอย่างต่อเนื่อง และเป็นการส่งต่อการใช้สัญลักษณ์ที่กว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ความหมายของการชูสามนิ้วในประเทศไทยนั้น ได้ขยับออกมาไกลจากภาพยนตร์เรื่องนี้พอสมควร โดยหลายคนบอกว่า การชูสามนิ้วในไทย มีทั้งความหมายตามการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1789-1799 ซึ่งหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ด้วยเช่นกัน
หรือในโซเชียลมีเดียตอนนี้ ก็มีการพูดถึงความหมายว่า มันแทนความหมายของ เสรีภาพ สันติภาพ และภราดรภาพ ซึ่งทั้งสามข้อนี้ก็ไปค่านิยมตามหลักประชาธิปไตยไม่ต่างกัน
ตอนนี้ กระแสการชูสามนิ้ว ถูกหยิบกลับมาใช้อย่างแพร่หลายอีกครั้งในช่วงที่ผ่านมา โดยเป้าหมายให้เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านเผด็จการ และระบอบอำนาจนิยม รวมถึงการเรียกร้องด้านประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ-ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน
ในกลุ่มนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียน ที่พร้อมใจกันชูสามนิ้วระหว่างการเคารพธงชาติ และผูกโบว์ขาว และเกิดเป็นกระแสในโลกออนไลน์ พร้อม #ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ ซึ่งมีครูบางคนลงโทษนักเรียนจากการกระทำดังกล่าว แต่ก็ไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ระบุว่า การกระทำดังกล่าวมีความผิด ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ระบุว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวของนักเรียน ถือเป็นสิทธิของนักเรียนที่สามารถกระทำได้
โดยมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” และมาตรา 5 ระบุว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”
ขณะที่ มาตรา 25 ระบุว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”
ไม่ว่าความหมายจะเป็นอย่างไร แต่ก็มีความหมายถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยวิธีการแบบสันติวิธี ในช่วงหลังมานี้
อ้างอิงจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/295563
https://www.thairath.co.th/content/464736
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
#Brief #TheMATTER