หลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคเช่น “เด็กๆ กลุ่มนี้คิดเองไม่ได้หรอก” หรือ “เด็กที่ออกมาประท้วงต้องถูกคนเบื้องหลังชักจูงอยู่แน่ๆ” ประโยคทำนองนี้มักจะปรากฎขึ้นอยู่หลายครั้งในเวลาที่คนรุ่นใหม่ๆ ออกมาเคลื่อนไหว หรือส่งเสียงสะท้อนถึงปัญหาในสังคม
ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นกันนะ? ทำไมหลายๆ ครั้งที่วัยรุ่นออกมาส่งเสียงของตัวเอง พวกเขามักจะถูกโจมตีด้วยคำพูดทำนองนั้นอยู่เสมอ?
ในทางจิตวิทยาแล้ว มีภาวะแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘Cognitive Dissonance’ หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ได้ว่า ‘ภาวะการรับรู้ไม่ลงรอย’ ที่หมายถึงภาวะทางจิตใจที่เมื่อเราได้รับข้อมูลบางอย่าง ที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมที่เรามีอยู่แล้ว (เช่นจุดยืนด้านการเมือง ศาสนา หรือมุมมองการใช้ชีวิต) จิตใจของเราก็จะไม่สบายใจ และพยายามหาทุกวิถีทางเพื่อหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง ว่าความคิดชุดเดิมที่เรามีอยู่น่ะ มันถูกต้องดีงามอยู่แล้ว
ยกตัวอย่าง : หากมีใครบางคนวิจารณ์สิ่งที่เราชื่นชอบ บางคนก็อาจจะหยิบเหตุผลขึ้นมาแย้งหรือคลายความตึงเครียดของตัวเองได้ว่า คนเหล่านั้นถูกชักจูงมา พวกเขาคิดเองไม่ได้หรอก เพราะสิ่งที่เราเชื่อมั่นอยู่นั้นมันถูกต้องดีงามในตัวเองแล้ว
ซึ่งความอันตรายของมันก็คือ บ่อยครั้งที่คนซึ่งตกอยู่ในภาวะ Cognitive Dissonance มักจะไม่รู้ตัว
บทความชื่อ ‘Why It’s So Hard to Admit You’re Wrong’ (ทำไมการยอมรับว่าเราผิดนั้นมันช่างยากเย็นเหลือเกิน) ใน The New York Times อธิบายว่า วิธีการเบื้องต้นในการรับมือกับภาวะ Cognitive Dissonance คือการเข้าใจก่อนว่า จิตใจเรามันพร้อมจะหาข้อแก้ตัวหรือเหตุผลเพื่อเข้าข้างตัวเองอยู่นะ เมื่อเรารู้เท่าทันตามความเป็นจริงแล้ว ก็ควรจะเข้าใจว่า ความรู้สึกสับสน โกรธ หรือแม้แต่ความไม่เข้าใจคนที่มาโต้แย้งความเชื่อเรานั้นจะเป็นสิ่งที่ผิดเสมอไป
การพยายามเข้าใจอีกฝ่ายที่มาโต้แย้ง หรือเชื่อไม่เหมือนเราก็สำคัญและจำเป็นอยู่เหมือนกัน และอาจจะดีกว่ารีบตัดสินว่าพวกเค้าคิดหรือตัดสินใจเองไม่ได้หรอก
อ้างอิงจาก
https://www.apa.org/pubs/books/Cognitive-Dissonance-Intro-Sample.pdf
https://www.nytimes.com/2017/05/22/smarter-living/why-its-so-hard-to-admit-youre-wrong.html
#Brief #TheMATTER