การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 301 ที่กำหนดโทษของการ ‘ทำแท้ง’ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563 ที่สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเดิม ให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะกฎหมายเดิมใช้มากว่าหกสิบปีแล้ว ทำให้เกิดการทำแท้งเถื่อนและการตั้งครรภ์ไม่พร้อมมากมาย โดยให้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งสมดุลระหว่างชีวิตของทารกในครรภ์และชีวิตของผู้ตั้งครรภ์ ไปจนถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในการตัดสินใจว่าจะตั้งครรภ์ต่อไปหรือยุติการตั้งครรภ์ – ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างกฎหมายแก้ไข ป.อาญา มาตรา 301 และมาตราที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ไประหว่างวันที่ 13-28 สิงหาคม พ.ศ.2563 โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็น 4 คน เป็นชายและหญิงอย่างละครึ่ง
ร่างกฎหมายแก้ไข ป.อาญา ที่กำหนดโทษการทำแท้ง ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีเนื้อหาเพียง 4 มาตรา สาระสำคัญคือการแก้ไข ป.อาญา มาตรา 301 เดิมใน 2 เรื่อง
1.) กำหนดว่า หญิงใดที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิดทางอาญา (เดิมไม่มีการกำหนดอายุครรภ์)
2.) ปรับลดโทษของการทำแท้งลง (จากจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) เป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไข ป.อาญา มาตรา 305 ที่ให้ยกเว้นโทษกรณีแพทย์ช่วยทำแท้ง โดยเพิ่มเงื่อนไขยกเว้นความผิดจาก 2 กรณี เป็น 4 กรณี
อย่างไรก็ตาม กว่าจะออกมาเป็นกฎหมายเพื่อแก้ไข ป.อาญา มาตรา 301 และมาตราที่เกี่ยวข้องได้จริงๆ คงใช้เวลาอีกหลายเดือน เพราะถึงจะผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ยังต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณาอีกที ซึ่งถึงเวลานั้น เป็นไปได้ว่าเนื้อหาของกฎหมายอาจเปลี่ยนไปจากเดิม
– ดูร่างแก้ไข ป.อาญา ว่าด้วยโทษของการทำแท้ง ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ที่ : https://www.krisdika.go.th/detail-law-draft-under-consideration-by-the-office-of-the-council-of-state?billCode=242
– ดู ป.อาญาเดิม เนื้อหาที่ว่าด้วยการกำหนดโทษของการทำแท้งจะอยู่ระหว่างมาตรา 301-305 : https://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB06/%BB06-20-9999-update.pdf
#Brief #TheMATTER