ช่วงนี้หลายคนหันมาสนใจทำอาหารกันมากขึ้น เห็นได้จากการถอยหม้อทอดไร้น้ำมัน เตาไฟฟ้าใหม่ๆ และแชร์เมนูที่ตัวเองทำในแต่ละวันลงโซเชียลมีเดียอย่างภาคภูมิใจ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ออกไปหาอะไรทานข้างนอกไม่ได้ หรือไม่ก็เบื่อๆ เหงาๆ เลยอยากหากิจกรรมทำไม่ให้ตัวเองว่าง
ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะ ‘kitchen therapy’ การบำบัดด้วยการเข้าครัวทำอาหาร เป็นวิธีที่นอกจากจะช่วยลดความเบื่อ สร้างความสนุกสนาน ในทางการแพทย์ ยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยบำบัดจิตใจให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
สถาบันดูแลสุขภาพหลายแห่งทั่วโลก ใช้การทำอาหารหรือการทำขนมเป็นเครื่องมือในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ อีกมากมาย เพราะการบำบัดประเภทนี้มักจะเน้นไปที่การสอนทำอาหารที่มีประโยชน์ และสอนทักษะการกินให้กับผู้ที่กำลังมีชีวิตยากลำบากหรือพบเจอกับความวุ่นวาย
แต่ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เราก็สามารถค้นพบได้ว่า การทำอาหารช่วยบำบัดเราให้ดีขึ้น เพราะการทำอาหารได้ซ่อนความสุขเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ในแต่ละกระบวนการที่ทำตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็น
1) สุขภาพดีขึ้นเพราะได้ทำเอง
การออกไปกินข้าวนอกบ้าน อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะควบคุมโภชนาการหรือคุณภาพของวัตถุดิบที่อยู่ในอาหาร แต่การทำอาหารกินเอง เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใส่อะไรลงไป หรือปรุงเท่าไหร่ก็ได้ รวมถึงตรวจสอบความสะอาดในทุกกระบวนการทำอาหาร
2) มีประโยชน์ในทางกายภาพ
การทำอาหารช่วยส่งเสริมเราในทางกายภาพ โดยการขยับร่างกายตั้งแต่ไหล่ นิ้ว ข้อมือ ข้อศอก คอ รวมไปถึงช่วยรักษาสมดุลของร่างกายโดยรวม ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงผ่านการยก ผสม ตัด หรือหั่นวัตถุดิบ และช่วยในเรื่องของประสาทสัมผัสที่ตัดสินใจว่าอะไรปลอดภัย เช่น ขณะใช้วัตถุมีคมหรือร้อน
3) ช่วยให้โฟกัสกับปัจจุบัน
นักบำบัดกล่าวว่า กระบวนการปรุงอาหารที่ดี จะช่วยบำรุงจิตใจและสติของเราได้ เพราะการทำอาหาร เราจำเป็นจะต้องโฟกัสช่วงเวลาตรงหน้าหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ ทำให้ไม่เผลอเคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในอดีต หรือปัญหาในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งการมีสติจะช่วยลดความเครียดและความกังวลให้กับจิตใจได้
4) สร้างความซาบซึ้งใจในสิ่งที่ทำ
หากเราซื้ออาหารกลับมากินที่บ้าน เราคงจะไม่ได้รู้สึกถึงความซาบซึ้งใจเท่ากับทำกินเอง เพราะลองนึกถึงแต่ละกระบวนการที่ทำ ไม่ว่าจะล้างผัก หั่นหมู ต้มน้ำให้เดือด หรือปรุงวัตถุดิบ ทั้งหมดล้วนใช้เวลา ความเหนื่อย และความใส่ใจ ดังนั้น อาหารที่ออกมาแต่ละจาน เราจะรู้สึกว่ามันอร่อยเป็นพิเศษ แม้จะผ่านมาอย่างทุลักทุเลก็ตาม เพราะมันเกิดจากความตั้งใจของเรา
5) ช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์
สำหรับหลายๆ คน การทำอาหารเป็นวิธีแสดงความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา ด้วยการคิดถึงรสชาติที่ตัวเองชื่นชอบ แล้วลองนำไปทำกับเมนูที่แตกต่างกัน จากนั้นก็ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่มาปรับใช้ให้เกิดเป็นอาหารแต่ละจาน บางครั้งก็อาจเกิดสูตรใหม่ๆ ที่มีแต่ตัวเองที่รู้ จนเมื่อทำออกมาสำเร็จ ก็เกิดเป็นความภาคภูมิใจต่อตัวเอง หรือก็คือได้ self-esteem เพิ่มขึ้นตามมาอีกที
6) ได้รับรางวัลหลังทำเสร็จ
ดูเผินๆ การทำอาหารก็เหมือนงานบ้านอื่นๆ แต่เราอาจได้รับความสุขที่เราไม่มีทางได้จากการซักผ้า ดูบ้าน หรือปัดฝุ่น เพราะการกินอาหารเป็นประสบการณ์ที่ใครๆ ก็รู้สึกว่าคุ้มค่า ทำให้การทำอาหารแต่ละครั้ง เราได้รับรางวัลตอบแทนความเหนื่อยเป็นความสนุกที่ได้ทำ และรสชาติที่ถูกปากตัวเอง
7) ช่วยกระชับความสัมพันธ์
การทำอาหารกับเพื่อน ครอบครัว หรือแฟน ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารและความร่วมมือ ผ่านการแลกเปลี่ยนเมนูหรือรสชาติที่ชอบและไม่ชอบ รวมไปถึงกรรมวิธีอาหารที่ช่วยกันทำให้ผ่านไปได้ด้วยดีในแต่ละเมนู
หากใครเครียดๆ เซ็งๆ ก็ลองชวนคนในบ้านเข้าครัวทำอาหารดูนะ ดีไม่ดี มาสเตอร์เชฟซีซั่นหน้าอาจจะมีเราเป็นหนึ่งในผู้แข่งขันก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://hereshelpinc.com/cooking-as-therapy/
#Goodsmorning #TheMATTER