ไม่รู้เป็นอะไร เวลาพูดกับสัตว์เลี้ยง เรามักจะใช้เสียงอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงน่ารักใช้พูดกับสิ่งที่เอ็นดู บางครั้งในภาษาไทยเราเรียกว่าเป็น ‘เสียงสอง’ ในทางวิชาการบางทีก็เรียกว่า puppy talk และ pet-directed speech จากการสำรวจพบว่าโดยทั่วไปแม้ว่าจะมีภาษาและวัฒนธรรมต่างกัน มนุษย์มีแนวโน้มที่จะใช้พิตช์ที่สูงขึ้น (higher pitch) เวลาพูดกับสัตว์
และเจ้าเสียงสองนี้มีประสิทธิภาพในการสื่อสารและสานความสัมพันธ์กับสุนัข แต่ได้ผลกับลูกหมาเป็นหลัก
การใช้เสียงสองที่ว่าเป็นวิธีการสื่อของมนุษย์ต่อสิ่งที่มีสถานะและศักยภาพทางภาษาต่ำกว่า เราเลยใช้ภาษาแบบเรียบง่าย (pre-linguistic) เช่น ในการที่ผู้ใหญ่สื่อสารกับเด็ก และคนสื่อสารกับสัตว์ (เรามีแนวโน้มจะเห็นสัตว์เลี้ยงเป็นเด็กเนอะ) ภาษาดังกล่าวมีลักษณะร่วมกันคือ เรามีแนวโน้มจะใช้ระดับเสียง (pitch) ที่สูงขึ้น ใช้การซ้ำคำ และใช้โครงสร้างภาษาที่เรียบง่ายแต่ถูกต้องชัดเจนมากกว่าปกติ
ในการสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงจะพบการใช้ประโยคแบบคำสั่งและถาม เช่น เวลาพูดกับน้องหมาก็จะแบบ… ว่าไงค๊า กินไรยัง เป็นอะไร นั่งลง คอย เราใช้เสียงสูงและใช้ประโยคง่ายๆ แต่ถูกไวยากรณ์
คำอธิบายของนักภาษาศาสตร์ คือการที่ผู้ใหญ่ใช้รูปแบบประโยคดังกล่าว ก็เพราะต้องการที่จะทั้งสื่อสารและสอนภาษาเด็กๆ ไปในตัว คือการพูดสั้นๆ ชัดๆ ซ้ำๆ ในบางงานวิจัยพบว่าเรามีแนวโน้มที่จะออกเสียงพยัญชนะและสระอย่างถูกต้องชัดเจนมากกว่าปกติเวลาที่เราใช้เสียงสองนี้ ดังนั้นในทำนองเดียวกัน การพูดกับน้องหมา เราก็เหมือนพยายามที่จะทำความเข้าใจและสอนน้องไปในตัว
Kyra Sundance เจ้าของหนังสือ The Dog Rules เขียนไว้ว่า วิธีการใช้เสียงของของเรากับสัตว์เป็นการสื่อสารที่มีนัยของความเป็นมิตร ความเข้าอกเข้าใจ การเชื่อมโยงกันอย่างสันติ Robert Mitchell นักจิตวิทยาบอกว่าการที่เราใช้เสียงที่สูงขึ้นกับเด็กๆ เรียกว่า motherese เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในแทบทุกภาษาและวัฒนธรรม เป็นการแสดงความรัก เรียกร้องความสนใจ และทำให้เด็กๆ รับรู้สิ่งที่กำลังพูดอยู่ได้ดีกว่าการพูดแบบปกติ
นักวิจัยเองก็สนใจว่า เอ๊ะ แล้วการใช้เสียงสองกับน้องหมามันมีประสิทธิผลไหมนะ ผลคือนักวิจัยพบว่ามีผลในแง่ของการเรียกร้องความสนใจกับน้องหมาวัยเด็กๆ เท่านั้น ในงานทดลองตีพิมพ์ลงในวารสาร Proceedings of Royal Society B วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกและของอังกฤษ ไปทดลองใช้เสียงสองกับสุนัข 20 ตัว เป็นลูกหมาครึ่งหนึ่งและหมาโตอีกครึ่ง ผลคือมีแต่ลูกหมาเท่านั้นที่ถูกกระตุ้นโดยเสียงสอง แต่พวกหมาโตนั้นไม่สนใจ
นักวิจัยสันนิษฐานว่า สุนัขโตแล้วน่าจะตอบสนองทางภาษาและการสื่อสารโดยผู้คนหรือถ้อยคำที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าแค่การใช้ระดับเสียง คือ หมาโตแล้วอาจจะอยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มันรู้จักหรือผูกพันธ์ด้วยมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก