เดชะบุญชาวไทย ไม่ต้องใช้สรรพนามระบุเพศ he/she
ไม่นานมานี้ เพื่อนต่างวัยชาวอังกฤษของฉันคนหนึ่งเปรยว่า “เทียบกับภาษาอังกฤษที่ใช้ he กับ she ภาษาไทยดีนะ ไม่ต้องคิดคำใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับคน nonbinary”
เพื่อนของฉันมีหลานสามคนที่เพศไม่ลงกล่องชายหญิง หรือที่ชาวเราเรียกว่านอนไบนารี่ นางบอกว่าเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับผู้ใหญ่ที่จะเรียกหลานๆ ด้วยสรรพนามเอกพจน์ไม่ระบุเพศ คือ ‘they’ (หรือคำอื่นๆ อย่าง ‘ze’) แทนที่จะเป็น ‘he’ หรือ ‘she’ โชคดีที่ภาษาไทยไม่ต้องปวดหัวกับสรรพนามขนาดนั้น
มะเหงกสิ! (แปลจากคำที่โพล่งไปตอนนั้นว่า bullshit!) ฉันเถียงนางคอเป็นเอ็น
หนึ่ง-ฉันไม่เชื่อว่าการฝึกเรียกคนด้วยสรรพนามที่ถูกต้อง นั้นเป็นเรื่องยากลำบากขนาดนั้น ถ้าจะเอาแต่โอดครวญว่ามันยาก ผ่านไปหลายปีก็ยังเรียกผิดๆ อยู่ หรือพบเห็นคนรอบข้างเรียกผิดก็ไม่ช่วยบอกช่วยแก้ คุณควรพิจารณาตัวเองแล้วล่ะ
สอง-การไม่ต้องมาวุ่นวายกับการหาตัวเลือกสรรพนามนอกจาก he กับ she ไม่ได้แปลว่า ความเข้าอกเข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศจะมีในสังคม
คำสรรพนามเป็นเพียงปราการด่านแรกที่ภาษาไทยบังเอิญง่ายกว่าภาษาอังกฤษ ซึ่งแน่ล่ะเรามีคำสรรพนามไม่ระบุเพศอย่าง ‘มัน’ หรือ ‘คุณคนนั้น’ รวมทั้งคำสรรพนามที่มีใช้กันโดยไม่ระบุเพศ อย่าง ‘เขา/เค้า’ หรือแม้กระทั่ง ‘นาง’ (สำหรับชาวเราแล้ว ‘นาง’ ใช้ได้กับทุกเพศ เพื่อนชาวอังกฤษข้างบนนี่ก็เป็นผู้ชาย)
ระบบสองเพศนั้นฝังลึกในความคิด อยู่ที่จะโผล่มาตรงไหนในภาษาต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นคำนำหน้านาม ชื่อคนที่ระบุเพศ คำลงท้าย ‘ครับ’ ‘ค่ะ’ ไปจนถึงคำวิเศษณ์แยกเพศ ‘หล่อ ‘สวย’ (ที่แต่ก่อนก็ใช้ ‘รูปงาม’ ได้กับทุกคน และเดี๋ยวนี้ก็เห็นรื้อฟื้นคำ ‘งานดี’ ของชาววังสมัยก่อนมาใช้กับไพร่ร่วมสมัยรูปร่างหน้าตาดีทั้งชายหญิง)
คุณลักษณะสำคัญที่สุดของสังคมไทยคือการมีช่วงชั้นต่ำสูงที่ยิบย่อย ภาษาตามแบบแผนกำหนดมาแล้วก็มาก แล้วคนธรรมดาๆ อย่างเราก็คิดหาคำใหม่หรือตีลังกาพลิกแพลงคำที่มีอยู่เดิมมารองรับการใช้งานในบริบทใหม่อีกไม่น้อย ฉันลองรวบรวมดูได้ประมาณนี้:
คำสรรพนามเอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง (หายใจเข้าลึกๆ สมมุติว่า ‘บุรุษ’ เป็นคำไม่ระบุเพศ) ตัวอย่างเช่น ผม กระผม เกล้ากระผม กระหม่อมฉัน หนู นู๋ ฉัน ชั้น ดิฉัน เดี๊ยน เรา เฮา กัน ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้า ข้า อั๊ว กู กรู ตู ตรู ปู ข้าน้อย ข้อย เค้า อัญขยม อาตมา ตถาคต ลูกช้าง พ่อ แม่ พี่ ตา ยาย ครู
คำสรรพนามเอกพจน์บุรุษที่สอง ตัวอย่างเช่น คุณ เธอ ตัวเอง ลูกค้า คุณผู้หญิง คุณผู้ชาย ท่าน เจ้า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฝ่าพระบาท พระบาท โยม ลื้อ มึง มรึง หล่อน แก แกร เอ็ง ท้าว พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง ตา ยาย หลาน ครู นักเรียน หลวงปู่ หลวงพ่อ หลวงพี่
ทำไมเราควรภูมิใจกับมรดกภาษาวัฒนธรรมไทยที่ทุกอย่างเป็นช่วงชั้นจนกระทั่งคนต้องดิ้นรนผลิตสรรพนามออกมาใช้ต่างๆ นานา? แต่จะหลากหลายยังไงผู้หญิงและคนเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชายก็ยังไม่มีสรรพนามที่ใช้แทนตัวเองได้อย่างสากลอยู่ดี?
คนไทยศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดอย่างฉันก็เลยเกิดคิดถึงสมัยสากลนิยม ‘ตามก้นฝรั่ง’ ในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบขึ้นมาชอบกล
ภาสาวิวัตน์สมัยจอมพล ป.
ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงอักขรวิธีรวมทั้งการใช้ภาษาไทยของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ช่วงพุทธทศวรรษ 2480 ตั้งแต่การลดตัวพยัญชนะและสระที่เสียงซ้ำซ้อนกันออก (ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ , ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ, ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ, รร เป็นอันต้องปลิว!)
จนกระทั่งกำหนดสรรพนามสากล ‘ฉัน’ (พหูพจน์ ‘เรา’) ‘ท่าน’ (พหูพจน์ ‘ท่านทั้งหลาย’) ‘เขา’ (พหูพจน์ ‘เขาทั้งหลาย’) ‘มัน’ (พหูพจน์ ‘พวกมัน’) และคำตอบรับสากล ‘จ้ะ/จ๊ะ’
ฉันถูกสอนว่านักเขียนสมัยนั้นพากันต่อต้านกันใหญ่ เพราะมองว่าเป็นการบ่อนทำลายมรดกทางภาษา นักเขียนชั้นเยี่ยมหลายคนถึงกับหยุดเขียนหนังสือชั่วคราว
ในขณะที่นักเขียนบางคนใช้มันเพื่อแสดงความไร้สาระของ อย่าง ‘ฮิวเมอริสต์’ ในเรื่องสั้น สุขะนาตกัม ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2497 ฉันได้อ่านเรื่องนี้ในเล่ม เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง รวมเรื่องสั้นบางเรื่องของฮิวเมอริสต์ อันถูกเลือกเป็นหนึ่งใน ‘หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน’
ตัวเรื่องของ ‘สุขะนาตกัม’ เป็นบทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกสาวสมัย ‘วัธนธัม’ ของจอมพล ป. ซึ่งเจตนาผู้แต่งค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการเสียดสี เอาข้อบังคับใหม่ทางภาษาและวัฒนธรรมมาทำตามทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่านโยบายของจอมพล ป. มันแปลกแปร่งและแปลกปลอมอย่างไร
แต่ฉันจำได้ว่าอ่านแล้วกลับรู้สึก ‘แปลกดีว่ะ’ คือแปลกในทางที่ดี กวนประสาทในแบบที่มันควรจะถูกกวนเสียบ้าง
สมควน : (เสียงตกไจ) อะไรกันจ๊ะพ่อ – เอ๊ย – จ๊ะท่าน?
สำคัน : อื้อ! นี่เกิดมีไครชื่อซ้ำกับท่านเข้าแล้วละซีจ๊ะ นามสกุลก็ซ้ำกันด้วยจ้ะ ว้า! ชื่อพ่อก็ซ้ำแฮะ! ยังไง กันเสียแล้ว!
สมควน : อะไรกันจ๊ะ? ฉันไม่รู้เรื่อง
สำคัน : เอ้าจะ! อ่านดูเอาเองซีจ๊ะท่าน
แทนที่จะหัวเราะใส่ความไร้สาระและเบาปัญญาของ ‘ภาษาวิบัติ’ ฉันกลับเห็นดีเห็นงามไปตามจอมพล ป.
ทำไมพ่อลูกต้องเรียกกันว่า ‘พ่อ’ กับ ‘ลูก’ จะเรียก ‘ฉัน’ ‘ท่าน’ บ้างไม่ได้เหรอ? ทำไมไม่อ่าน ‘สุขะนาตกัม’ เสมือนเป็น speculative fiction เป็นไซไฟที่จินตนาการถึงโลกที่คนใช้สรรพนามเท่าเทียมกัน อ่านแบบนี้แล้วก็อาจมีทางเลือกเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องหันไปใช้ ‘I’ ‘you’ (หรือ ‘vous’ อย่างที่ปัญญาชนกัมพูชารุ่นก่อนยุคเขมรแดงใช้กัน) ซึ่งมักถูกกล่าวหาว่า ‘ตามก้นฝรั่ง’ บ้าง ‘เนยนม’ บ้าง
หัวเราะเยาะนโยบายปฏิวัติภาษาของจอมพล ป. กันนัก ทุกวันนี้ภาษาไทยแบ่งเพศเป็นสองอย่างหนักกว่าเดิม ผู้ชายแทบไม่มีใครใช้ ‘ฉัน’ แม้แต่คำลงท้าย ‘จ้ะ’ ก็กลายเป็นคำสำหรับผู้หญิง หรือสำหรับไว้พูดกับเด็กและผู้หญิงไปแล้ว ถ้าคนอื่นเกิดพูด ‘จ้ะ’ เป็นนิสัยขึ้นมา ก็มีคนเอาไปล้อเลียน –เราท่านจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ หรือคะ!
แทนที่จะมองว่าเป็น ‘ภาษาวิบัติ’ ฉันมองนโยบายนี้เป็นความพยายามให้เกิด ‘ภาสาวิวัตน์’ ที่แม้จะล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็น่านับถือ
ฝืนธัมชาติภาสา หรือภาสาฝืนธัมชาติ?
เราอาจรู้สึกว่าการใช้ภาษาทำนองนี้ไม่เป็นธรรมชาติ แต่คำว่า ‘ธรรมชาติ’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสัญชาตญาณ หรืออะไรที่เที่ยงแท้เป็นสากล
ลองอ่านเนื้อหาอีกตอนหนึ่งของ ‘สุขะนาตกัม’ ที่แสดงถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่
แม่ครัว : (เข้า ถือหนังสือพิมพ์คลานเข้ามาไหว้แล้วส่งไห้) – นี่เจ้าค่ะ หนังสือพิมพ์
สำคัน : ท่านไม่ต้องไช้ ‘เจ้าค่ะ’ กับฉัน ไช้ ‘จ้ะ’ พอแล้ว ขอบไจจ้ะที่เอาหนังสือพิมพ์มาไห้ อ้าว แล้วเด็กเด็กไปไหนหมดล่ะจ๊ะ ท่านจึงต้องเอาหนังสือพิมพ์มาไห้ฉันเอง ระวังเถิด ทิ้งครัวมาประเดี๋ยวแมวจะเลี้ยงแสดงความยินดีกับไหย่เท่านั้น ลุกขึ้นเถิดจ้ะ ไม่ต้องคลาน ไม่ต้องนั่งกะพื้น ไม่ต้องไหว้
ถ้าเราจะตีความเรื่องสั้นนี้ตาม ‘เจตนา’ ผู้แต่ง เราต้องเชื่อด้วยไหมว่าการหมอบคลานเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของคนไทย ไม่จำเป็นต้องกระเหี้ยนกระหือรือไปเปลี่ยนแปลงมันให้คนอื่นเขาหัวเราะเยาะ?
หรือว่าเราจะเลือกเชื่อตามคนอย่าง ‘สำคัน’ ว่าธรรมชาติคนไทยเปลี่ยนแปลงได้? แม้ ‘สำคัน’ จะติดนิสัยเสียทำนอง ‘คุณพ่อรู้ดี’ มาอยู่ แต่คิดได้ไหมว่าการแสดงความเชื่อเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมท่าทีสั่งสอนแบบนั้นก็ได้?
ภาษาที่ประดักประเดิด แปลกประหลาด ชวนขบขันอย่างใน ‘สุขะนาตกัม’ ถ้าเปลี่ยนฉากเป็นสังคมหมู่บ้านภาคอีสานที่คนพูดภาษาลาวกัน ก็อาจกลับกลายเป็นโลกสามัญธรรมดา
สรรพนาม ‘ข้อย’ กับ ‘เจ้า’ ใช้กันอย่างค่อนข้างเป็นสากล ไม่ขึ้นกับเพศ วัย และฐานะ เป็นสรรพนามที่ให้เกียรติคู่สนทนาเป็น ซึ่งการใช้คำว่า ‘เจ้า’ และถ่อมตนเองเป็น ‘ข้าน้อย’ อาจดูห่างเหินสักหน่อยเท่านั้น
หากบอกว่าการเรียกร้องให้เปลี่ยนภาษาเพื่อรองรับอัตลักษณ์ตัวตนของคนที่เพศไม่เข้าพวก ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ เป็นเรื่อง ‘ฝืนธรรมชาติภาษา’ ก็ดูจะใจแคบทั้งในเรื่องที่เอาภาษาตนเองเป็นศูนย์กลาง และแคบทั้งการมองข้ามว่าภาษาที่ใช้กันอยู่ฝืนธรรมชาติคนอื่นอย่างไร
การเรียกคนให้ตรงตามเพศที่เขาเป็น ไม่ใช่การฝืนธรรมชาติภาษา แต่เป็นการทำความเข้าใจว่า ภาษาที่เราใช้นั้นฝืนธรรมชาติคนอย่างไรต่างหาก ซึ่ง ‘ธรรมชาติ’ ที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องรู้มาตั้งแต่เกิดว่าเป็นเพศไหน แต่เป็นเรื่องของสำนึกที่เป็นธรรมชาติกับเพศนั้นๆ มากจนอยากให้สังคมเข้าใจ
เลือกรับมรดกฟาสซิสต์
อันที่จริง หลายๆ คนที่แสวงหาสรรพนามสากลที่เท่าเทียม ได้ปฏิเสธคำสรรพนาม ‘ฉัน’ ผู้หญิงอย่างจรรยา ยิ้มประเสริฐ เลือกใช้คำแทนตัวว่า ‘ผม’ และคำลงท้ายว่า ‘ครับ’ เพราะในเมื่อคำว่า ‘ฉัน’ กร่อนมาจาก ‘เดียรัจฉาน’ ผู้สมาทานหลักคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงสะดุดเมื่อต้องใช้คำนี้
ในขณะที่มุกหอม วงษ์เทศ เลือกใช้คำสรรพนาม ‘ข้าพเจ้า’ ซึ่งมุกหอมอธิบายกำกับว่าเป็นคำที่ ‘ล้าสมัย แปลกแยก และเชยมหันต์’ การเลือกคำแปลกเช่นนี้เป็นเครื่องสะท้อน ‘ภาวะอีหลักอีเหลื่อที่ไม่สามารถค้นหาคำแทนตัวตนที่โปร่งใสในภาษานั้นๆ ได้’ ภาษาซึ่งสะท้อนว่าในสังคมไม่มีที่ยืนให้กับความเท่าเทียมทางเพศ แม้แต่ที่ยืนเชิงสัญลักษณ์ในภาษา
‘ข้อย’ ‘เจ้า’ เองก็มิได้อยู่เหนือการเมือง ส.ป.ป.ลาว หลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ ได้สนับสนุนให้ประชาชนเลิกใช้สรรพนาม ‘ข้อย’ ‘เจ้า’ ซึ่งมีนัยยะของชนชั้นต่ำและชนชั้นสูง และหันมาใช้คำสรรพนามที่เป็นคำเรียกนับญาติแทน
สุดท้าย คิดถึงจอมพล ป. ไปก็เหมือนหลอกตัวเอง เพราะการมีคำสรรพนามสากลใช้ได้ทุกสถานการณ์เป็นเพียงครึ่งเดียวของสิ่งที่คน nonbinary อย่างเราต้องการ
เราไม่ได้ต้องการเพียงความทัดเทียมกันในศักดิ์ศรี แต่เราต้องการการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายด้วย — เรียกสั้นๆ ว่าความหลากหลายในความเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาสำหรับอุดมการณ์ชาตินิยมฟาสซิสต์
ก็สมัยจอมพล ป. มิใช่หรือที่กำหนดให้ชื่อคนต้องระบุเพศได้ว่าเป็นชายหรือหญิง ชายอย่าง ‘สมจิตร ภูมิศักดิ์’ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ‘จิตร ภูมิศักดิ์’
ก็สมัยจอมพล ป. มิใช่หรือที่มีนโยบาย ‘รัฐนิยม 12 ประการ’ (เอ๊ะทำไมคำนี้คุ้นๆ) ซึ่งข้อแรกกำหนดให้เรียกพลเมืองสยามทุกคนเป็น ‘คนไทย’ ไม่ใช้คำว่า ‘ไทยเหนือ’ ‘ไทยอีสาน’ หรือ ‘ไทยมุสลิม’ ดั่งประกาศของพิบูลสงครามปี 2482 ว่า:
ด้วยรัฐบาลเห็นว่าการเรียกชาวไทยบางส่วน ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอิสาน ไทยใต้ ไทยอิสลาม ก็ดี ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้
จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้
๑. ให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก
๒. ให้ใช้คำว่าไทย แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยก
ขอให้สังเกตว่า ประกาศฉบับนี้ไม่สนว่าใครจะนิยมเรียกตัวเองอย่างไร ก็เรียก ‘ไทย’ เหมือนกันให้หมดนั่นแหละ ใส่หมวกเหมือนกันให้หมด ถ้าเกิดขัดฝืนธรรมเนียมไหนขึ้นมา ก็ไม่ต้องถามมันหรอก ช่างหัวมัน
การใช้สรรพนามแปลกใหม่ของคนหลากเพศไม่ได้มีสปิริตแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนเพศที่สาม เพศนอกกรอบ genderqueer หรือ nonbinary ก็แล้วแต่ เพราะเราเชื่อว่าควรเรียกคนตามความนิยมของผู้ถูกเรียกเป็นสำคัญ
เครื่องมือสร้างความเข้าใจอย่างหนึ่งที่ฉันมี คือนามบัตรอันหนึ่งในกระเป๋าตังค์ ด้านหนึ่งเขียนคำว่า ‘CALL ME THEY’ ตัวใหญ่ ส่วนอีกด้านหนึ่งเขียนตัวเล็กอธิบายว่า
นี่แก
ชั้นยังก่อร่างสร้างตัวตนอยู่
ไม่แน่ใจว่าแกรู้ข้อนี้รึเปล่าตอนแกใช้สรรพนามระบุเพศเรียกชั้นแบบไม่ได้ถามกันก่อน
แต่ก่อน ชั้นไม่ได้บอกเรื่องตัวตนเพศนอกกรอบของชั้นกับคนอื่น ด้วยเฉื่อยชา ลังเล/หวาดวิตก กับกังวลว่าจะถูกหมายหัว
แต่เดี๋ยวก่อน นโยบายชั้นตอนนี้คือทึกทักไปเลยว่าคนอื่นตระหนักรู้ถึงระบบที่กดขี่ด้วยการกำหนดเพศแบบแข็งทื่อตายตัว ทึกทักอย่างนี้เพื่อทุกๆ คน และเมื่อไหร่ที่ใครไม่ตระหนักรู้ ชั้นก็จะแจกบัตรนี้ให้
ชั้นเสียใจที่มาอยู่ตรงนี้แล้วก่อความอึดอัดให้กับแกเหมือนๆ กับที่ชั้นชัวร์ว่าแกเสียใจที่ตัวเองมีส่วนสมรู้ร่วมก่อความอึดอัดให้กับชั้น
จุ๊บ+กอด
แทบไม่ค่อยได้ยื่นบัตรนี้ให้ใคร เพราะมักคิดไม่ทันเวลามีคนเรียกฉันด้วยเพศที่ผิด แต่คราวใดที่นึกขึ้นได้ หยิบบัตรออกมาพลิกอ่านดู ก็จะรู้สึกว่ามันเป็นสารที่ ‘ใช่’ ทุกครั้ง
คนที่ชอบหัวเราะเยาะพวกเรา มักโฟกัสแต่คำร้องขอ ‘CALL ME THEY’ ราวกับว่าเราเป็นพวกเรื่องมากจนงี่เง่า แต่พวกเขาไม่ค่อยจะสนใจรับฟังเหตุผลที่อยู่ด้านหลัง
คำว่า ‘CALL ME THEY’ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องถูกทำให้เหมือนกันไปหมด How dare you assumed my gender! ไม่ใช่แบบนั้นซะหน่อย
แต่หมายความว่าคนทุกคนไม่ว่าเพศใดต้องเสมอภาค คือมีที่ยืนทางภาษาที่ทัดเทียมกันด้วยต่างหาก
วิพากษ์วิจารณ์มาถึงตอนนี้ ฉันก็ยังอดคิดถึงการปฏิวัติภาษาไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามไม่ได้อยู่ดี จึงขอเลือกรับมรดกสรรพนาม ‘ฉัน’ กับ ‘ท่าน’ มาใช้เป็นของที่ระลึกสืบไปฯ