‘การแสดง ถ้าเฟคมันดูออก’
มนุษย์เรารายล้อมไปด้วย ‘เรื่องเล่า’ แม้แต่ตัวตนของเราต่างก็ประกอบขึ้นด้วยเรื่องเล่า เวลาที่เรานึกถึงตัวตนของเรา มันคือการนึกถึง ‘เรื่องราว’ ของตัวเราเอง แล้วเล่าออกมาเพื่อบอกว่าเราคือใคร
ช่วงนี้เรื่องการพูดดูจะเป็นประเด็นฮิต การเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ทำจนได้ดิบดีเป็นอาชีพ ความเป็นมืออาชีพเลยอยู่ที่การใช้วาทศิลป์ต่างๆ ในการบอกเล่าเรื่องราวจนสามารถกระตุกต่อมน้ำตาของคนฟังให้หลั่งไหลได้ ทำให้คนรู้สึกว่า โอ้ว นี่แหละคือสุดยอดของคน คนๆ นี้แหละคือคนที่เรียนรู้ เติบโต มีประสบการณ์และเข้าใจโลกสุดๆ ที่จะมาช่วยชี้นำชีวิตให้เราได้ (หยิบทิชชูแป้บ)
แต่ในขณะเดียวกัน บางคนอาจจะจับการพูดหรือเรื่องเล่าอันเดียวกันนี้ได้ว่า เอ๊ะ นี่มันจริงเหรอ จริงใจรึเปล่าฟะ อะไรจะปากคอสั่นน้ำหูน้ำตาไหลขนาดนั้น แถมพอฟังตัวเรื่องจริงๆ แล้ว มันมีอะไรบ้างหว่านอกจากเรื่องของตัวคนพูดเอง
จริงๆ ที่ว่ามายังหมายถึงการพูดคุย หรือโกหกสร้างเรื่องในชีวิตประจำวันด้วย ในระดับหนึ่งถ้าเรามองว่าชีวิตของเรามันคือการเล่าเรื่อง เราก็เจอเรื่องเล่าจำนวนมากมายอยู่ทั้งวัน ในบรรดาเรื่องเล่าพวกนั้นมันก็ปะปนกันเนอะ จริงบ้าง โม้บ้าง เกินจริงบ้าง บางคนวาทศิลป์ดี พูดอะไรคนก็เชื่อ มาสาย ไม่รับโทรศัพท์ เต็มไปด้วยความยากลำบาก เป็นคนดี อะไรต่างๆ นาๆ ก็สรรหาเรื่องมาเล่าจนคนฟังเชื่อจนกระทั่งอินไปตามๆ กัน
พลังหนึ่งของวาทศิลป์คือการสร้างอารมณ์ร่วม พอเรามีอารมณ์ร่วมก็ดูเหมือนว่าตาของเราจะพร่าไปด้วยน้ำตา ไม่ว่าจะด้วยความปิติหรือความเศร้า ถ้าเรื่องเล่านั้นมันจริงใจหรือไม่มีเบื้องหลังเป็นการหาประโยชน์ต่างๆ ก็ดีไป แต่ถ้ามันเป็นเรื่องปลิ้นปล้อนไม่จริงใจล่ะ การจับความทอร์แหลเป็นเรื่องยาก ดังนี้ The MATTER เลยจะชวนไปดู ‘ภาษา’ และ ‘วาทวิทยา’ ของความปลิ้นปล้อนกัน คือมันอาจจะไม่ตรงร้อยเปอร์เซ็นเนอะ
แต่องค์ความรู้เบสออนงานศึกษาอย่างเป็นระบบล้วนๆ !
ภาษาของความตลบแตลง การศึกษาเชิงภาษาศาสตร์
แหม่ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะส่งเสริมแต่อย่างใด แต่ดูเหมือนว่าการโกหกสร้างเรื่องดูจะเป็นแกนหนึ่งของมนุษย์อย่างพวกเราๆ ความสนใจใคร่รู้ของนักวิชาการต่อการหลอกลวงเกิดขึ้นหลังชาร์ล ดาร์วินพูดถึงการรอดชีวิตของผู้ที่เหมาะสม (Survival of the fittest) ว่า ‘ส่วนหนึ่งของการอยู่รอดคือการหลอกลวง (lying) เราต่างต้องสร้างภาพของเราที่คนอื่นรับรู้ ทั้งภาพตัวตนและสถานะทางสังคม ความสามารถที่เราทำได้ และตัวเราเองที่มีความพึงปรารถนาในสายตาคนอื่นทั่วๆ ไป’
จากมุมมองของดาร์วินเลยดูเหมือนว่าการรู้จักลวงหลอกคนอื่นดูจะเป็นองค์ประกอบการเอาตัวรอดที่สำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดในโลกของการกินกันได้นี้ งานศึกษาพบว่ามนุษย์เราเริ่มโกหกเป็นตั้งแต่อายุ 6 เดือน เรียกได้ว่าหลอกกันได้ตั้งแต่สมัยที่ยังร้องไห้กินขี้มูกกันอยู่เลย
การโกหกหรือคำโกหกจึงเป็นเรื่องรายล้อมเราอยู่เสมอ หลังการเกิดขึ้นและรวมตัวกันของศาสตร์ต่างๆ ภาษาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ทำความเข้าใจภาษาในฐานะระบบความหมายอันซับซ้อนของมนุษย์ นักภาษาศาสตร์เชื่อว่าคำโกหกอันเป็นส่วนหนึ่งของภาษาย่อมมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง จึงมีนักวิทยาศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ที่พยายามมองหาร่องรอยและการแยกแยะคำโกหก ว่าในระดับจิตไร้สำนึก (ระดับจิตวิทยาที่เหนือไปจากความควบคุม) ของคนที่โกหกมีแนวโน้มจะใช้ภาษาอย่างไร
งานศึกษาเชิงภาษาศาสตร์เป็นงานศึกษาที่ใช้กรอบวิธีแบบวิทยาศาสตร์ในการศึกษาตัว ‘ภาษา’ มีการใช้กลุ่มทดลอง เก็บข้อมูล และประมวลผลข้อมูลด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันก็เป็นการสรุปเป็นแนวโน้มเพื่อตั้งข้อสังเกตและทำความเข้าใจต่อไป
การหายไปของคำว่าฉัน/เรา ในเรื่องที่เล่า
งานวิจัยที่เกี่ยวกับการโกหกมีอยู่จำนวนหนึ่ง ในงานวิจัยชื่อ Lying Words: Predicting Deception From Linguistic Styles (2003) เป็นหนึ่งในงานศึกษาและสรุปลักษณะของคำโกหกทั้งจากงานศึกษาชิ้นก่อนหน้าและการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ หนึ่งในข้อสรุปที่ใกล้เคียงกันของคนที่เล่าเรื่องไม่จริงที่มีลักษณะร่วมกันคือ การเล่าเรื่องนั้นมักไม่ค่อยปรากฏสรรพนามแทนตัวประเภทบุคคลที่ 1 เช่น ฉัน ผม หรือเรา ในเรื่องเล่านั้นๆ
ในระดับจิตวิทยาภาษา นักจิตวิทยาอธิบายว่า ด้วยความที่เรื่องที่เล่ามันไม่จริง ในระดับจิตใต้สำนึกเลยพยายาม ‘แยกตัวเอง’ ออกจากเรื่องราวที่ตัวเองกำลังเล่าอยู่เนื่องจากว่าโดยส่วนตัวแล้ว บุคคลนั้นไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงกับเรื่องที่ตัวเองกำลังพร่ำพรรณนาอยู่
ความลบ คำก็ลบ
โดยลึกๆ แล้ว ผู้ที่กำลังเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวหรือมโนแจ่มอยู่ ถึงจะบอกว่าการโกหกเป็นส่วนหนึ่งของการเอาตัวรอดด้วยการโม้หรือตบตาคนอื่น แต่ลึกๆ แล้วนักจิตวิทยาพบว่าในการโกหกมักจะมีความรู้สึกผิดติดอยู่ในก้นบึ้งของการตลบแตลงนั้นอยู่เสมอ ความรู้สึกผิดที่เป็นแง่ลบนั้นจึงเผยออกมาผ่านการใช้คำในภาษา
นักภาษาศาสตร์พบว่าจิตใจที่รู้สึกผิดในขณะที่กุเรื่องอยู่จะสะท้อนออกมาในรูปแบบของการใช้ภาษา ในการสื่อสารที่จงใจหลอกลวงมักมี ‘คำที่สะท้อนถึงความรู้สึกในแง่ลบ’ ต่างๆ ผุดออกมา เช่น ความเกลียดชัง ความเศร้า ความทุกข์ทรมาน คือในทางจิตวิทยาเชื่อในเรื่องการ ‘หลุด’ ของคำต่างๆ ที่เป็นการสะท้อน หรือระบายความรู้สึกที่ถูกกดไว้ลึกๆ การปรากฏของคำหรือเรื่องราวที่เป็นแง่ลบเลยเป็นแนวโน้มหนึ่งของความโกหก
ยิ่งโป้ปด อารมณ์ยิ่งเยอะ
James W. Pennebaker เป็นนักวิจัยที่เฝ้าศึกษาเรื่องคำโกหกอย่างจริงจัง คือนอกจากพี่แกจะเป็นส่วนหนึ่งของคณะวิจัยงานศึกษาชิ้นที่อ้างถึงก่อนหน้านี้แล้ว พี่แกยังเขียนหนังสือ The Secret Life of Pronouns ที่มีบทนึงพูดถึงคำโกหก Pennebaker สำรวจและวิเคราะห์จากข้อมูลและสติหลายอย่าง รวมถึงการศึกษาการเล่าเรื่องของ Stephen Glass ผู้รายงานข่าวที่กุหรือมโนเรื่องความทรงจำที่รุนแรงต่างๆ แทนที่จะไปสัมภาษณ์จริงๆ จนสุดท้ายถูกไล่ออก
Pennebaker สรุปว่า เรื่องเล่าที่จริงนั้นมีคำที่พูดถึงอารมณ์ความรู้สึกน้อยกว่าเรื่องที่กุขึ้นมา เรื่องเล่าจริงมักมีคำกริยาและรายละเอียดเรื่องราวที่ชัดเจนมากกว่าเรื่องที่กุขึ้น ประมาณว่าเรื่องเฟคมักเอาอารมณ์ไปบิ้วแล้วอำพรางรายละเอียดต่างๆ เพราะไอ้เรื่องกุมันไม่มีไง ไอ้รายละเอียดหรือเรื่องราวที่เป็นรูปธรรมอะ
จริงๆ ข้อสรุปทั้งหลายก็เป็นแค่ข้อสังเกตและเป็นแนวโน้ม แต่สุดท้ายก็เป็นอาจจะเป็นร่องรอยที่เอาไว้ลองสังเกตว่า เอ๊ะ นี่คนคนนี้กำลังเฟคใส่เราอยู่รึเปล่า เรื่องที่เขาเล่า ภาษาที่เขาใช้มีตัวเองอยู่ในนั้นแค่ไหน เขาให้รายละเอียดเหตุการณ์เรื่องราว หรือเน้นเอาอารมณ์เข้านำ มีคำที่สาดๆ สบประมาท หรือคำเชิงลบเยอะมั้ยนะ หรือว่าคุยๆ ไป เอะอะอารมณ์มา ดราม่ากระจาย ไม่โกรธก็ร่ำไห้ไม่มีเหตุผล
ถ้าเป็นแบบนั้น ก็ตรงกับที่นักวิจัยว่าเลยเนอะ
อิอิ