พี่คะ ช่วยหนูที เพลงมันติดอยู่ในหัวเอาออกไปได้
เราเชื่อว่านี่คือสถานการณ์ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ เวลาเดินไปไหนหรือกำลังจะทำอะไร เพลงนั้นมันก็โผล่ขึ้นมาอีกแล้ว แถมบางทีสถานการณ์ไปไกลกว่านั้น คือเรายังเผลอฮัมเพลงนั้นออกมาอีกต่างหาก
อยากจะลืมเพลงก็แสนยาก แล้วเราจะจัดการกับปัญหานี้ยังไงดีนะ? เอาเข้าจริงแล้วสิ่งนี้ก็เป็นปัญหาท้าทายชีวิตผู้คนในทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง จนมีคนพยายามหาวิธีต่างๆ ทั้งในเชิงพฤติกรรมและจิตวิทยามาแก้ปัญหานี้
Philip Beaman นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) จาก University of Reading บอกว่า กรณีเพลงที่ติดหูมากๆ หรือที่เราเรียกกันว่า Earworm นั้นจริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างภายในตัวเรา รวมไปถึงช่วงเวลาด้วย เช่น ในเทศกาลเราก็มักจะติดหูกับเพลงเกี่ยวกับคริสมาส
ที่ผ่านมาเคยมีงานวิจัยหลายชิ้น ที่พยายามศึกษาเรื่องนี้ และหาวิธีแก้ไข Earworm ที่เกิดขึ้นกับพวกเรา
เคี้ยวหมากฝรั่ง
เคยมีงานวิจัยที่พบว่า ระหว่างที่เราเคี้ยวหมากฝรั่งนั้น ขากรรไกรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร้องเพลงจะไปทำอย่างอื่นแทน ซึ่งมันจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการนึกถึงเสียงเพลงจะลดลง ขณะเดียวกัน มีคำอธิบายด้วยว่า การใช้ปากเคลื่อนไหวเยอะๆ ยังเกี่ยวพันกับการทำงานของ short-term memories ด้วย พูดอีกแบบก็คือถ้า Earworm มันเกี่ยวกับความทรงจำด้านเพลง วิธีที่จะหยุดมันได้ ก็คือการบล็อกการทำงานบางส่วนของ short-term memories
ไหนๆ ก็หนีไม่ได้ ก็ฟังเพลงนั้นแบบเต็มๆ ให้รู้กันไปเลย
บทความเรื่อง Why you can’t get a song out of your head and what to do about it จาก Harvard medical school แนะนำว่า ในบางครั้ง วิธีที่จะช่วยเราได้ก็คือยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้น ทำนองว่า ถ้าหนีไม่ได้ก็ต้องหาวิธีอยู่กับมันแทน เพราะบทความระบุว่า บางครั้ง earworm มันเกิดขึ้นในหัวเราเพราะเราจำเพลงนั้นเวอร์ชั่นเต็มๆ ได้ไม่ครบ ดังนั้น ถ้าหากเราย้อยกลับไปฟังเพลงนั้นแบบเต็มๆ (หมายถึงทั้งเพลงไม่ใช่แค่ท่อนฮุค) ก็จะช่วยเราได้
หนึ่งในแนวคิดที่พูดถึงกันบ่อยๆ คือเรื่อง Zeigarnil Effect ที่เสนอว่า เวลาเราเริ่มทำหรือฟังอะไรไปแล้ว สมองของเรามันก็จะรู้สึกว่าต้องทำหรือฟังต่อให้จบ ดังนั้น การฟังเพลงไปแบบครึ่งๆ กลางๆ มันก็จะทำให้สมองอยากจะเล่นเพลงนั้นต่ออีกเรื่อยๆ กลายเป็นการวนอยู่ในหัวอยู่ต่อเนื่อง
หากิจกรรมแนวแนวที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อเยอะๆ
เมื่อเพลงที่ติดอยู่ในหัวมักโผล่ขึ้นมาตอนที่สมองเราอยู่ว่างๆ วิธีการที่จะช่วยได้คือหันไปทำกิจกรรมที่ใช้โฟกัสเยอะๆ หรือต้องทุ่มสมาธิและความคิดอย่างเข้มข้นประมาณหนึ่ง กิจกรรมที่บรรดานักวิจัยแนะนำตรงกัน คือ Sodoku และ Crossword รวมถึงเกมที่ใช้ใบ้คำต่างๆ
อย่างไรก็ดี การจะต่อสู้กับ Ear worm ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เสมอไป ยิ่งในยุคสมัยที่ผู้ผลิตเพลงจำนวนไม่น้อย กำลังแข่งขันออกแบบดนตรีและเนื้อร้องขึ้นมาโดยที่ตั้งใจให้ติดอยู่กับเราเป็นการเฉพาะ
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/magazine-17105759
https://www.thecut.com/2016/08/pop-songs-bundle-memory-cues.html