การมีลูกสักคนในสมัยก่อนกับสมัยนี้แตกต่างมากขนาดไหนกันนะ? เมื่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันกดดันให้เราต้องคิดมากขึ้น การมีลูกจึงดูเป็นสิ่งที่ยากจะตัดสินใจและบางครั้งเวลามันก็ล่วงเลยจนเราอาจหมดวัยเจริญพันธุ์หรือช่วงที่เหมาะสมกับการมีลูกไปแล้ว
เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงในเอเชียแปซิฟิก ทำให้จำนวนเด็กทารกลดลงอย่างรวดเร็วและทำให้ความต้องการด้านเทคโนโลยีรักษาการเจริญพันธ์ุ (ART) พุ่งสูงขึ้น
ตามการคาดการณ์ของ Allied Market Research ระบุว่า ตลาดบริการการเจริญพันธุ์ของเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่าราวๆ 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2028 ซึ่งมันเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2020 ซึ่งศักยภาพในการเติบโตที่เฟื่องฟูได้นำมาซึ่งการร่วมลงทุนและการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
ขณะที่คู่รักหลายคู่กำลังรอเวลาไปจนถึงช่วงสุดท้าย (และบางครั้งก็สายเกินไป) ที่จะมีลูกตามธรรมชาติ แต่อัตราการมีลูกยากก็เพิ่มขึ้นทั้งในหมู่ชายและหญิงทั่วโลก ผู้คนหลายล้านคนเลือกที่จะไม่มีลูก และผู้เชี่ยวชาญเองก็เตือนถึงการลดลงของจำนวนประชากรในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทยเองก็เช่นกัน
ขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก็รวมอยู่ในรายชื่อประเทศที่เผชิญกับอัตราการเกิดที่ลดลงซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่กับในโลกที่มีเทคโนโลยี ART ทำให้การมีลูกมันเป็นไปได้มากขึ้น แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ ‘เงิน’ ที่เราจ่าย
การปฏิสนธินอกร่างกายหรือการผสมเทียมเป็นขั้นตอนที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 10,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้งในโรงพยาบาลเอกชนในสิงคโปร์ ซึ่งมีราคาสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ ขณะที่ในอินเดียมีค่าใช้จ่ายถูกที่สุดอยู่ที่ประมาณ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง ซึ่งต้องมีการผสมเทียมแบบนี้อย่างน้อย 3 รอบ พร้อมกับใช้ยาอีกหลายชนิดเพื่อช่วยในการผลิตไข่
คลินิกเด็กหลอดแก้วเติบโตขึ้นทั่วภูมิภาค เนื่องจากคู่รักอยากมีลูกในช่วงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในวงกว้างในทางเลือก เศรษฐกิจ และความแตกต่างทางเพศที่แคบลง
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ความจำเป็นในการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ที่มีผลการรักษาที่ชัดเจนและราคาที่เอื้อมถึงกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่คลินิกเหล่านี้ก็เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับผู้หญิงที่ต้องการมีลูกด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยมีการรักษาภาวะเจริญพันธ์ุที่หลากหลาย และมุ่งเป้าไปที่ตลาดจีน ซึ่งในไป๋ตู้ (Baidu) แอปฯ โซเชียลมีเดียของจีนและ WeChat เต็มไปด้วยคำแนะนำที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายรวมถึงอันดับโรงพยาบาลด้วย
กระทู้ภาษาจีนบรรยายประเทศไทยว่าเป็น ‘สถานที่สุดประเสริฐ’ สำหรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยที่สุด และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากมาย หน่วยงานในประเทศจีน เช่น Green Bridge เสนอแพคเกจในราคา 22,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมค่าที่พักในโรงแรม 5 ดาว ผู้ช่วยเฉพาะทาง และพี่เลี้ยงเด็กหลังคลอดเป็นเวลา 25 วัน
ธุรกิจที่กำลังเฟื่องฟู ทั่วทั้งเอเชียทำข้อตกลงในการดูแลสุขภาพเรื่องการเจริญพันธุ์มากขึ้น ในเดือนเมษายน Jinxin Fertility Group บริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกงได้ซื้อหุ้น 30% ของ Morula ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเด็กหลอดแก้วรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่มแรงผลักดันให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาค
ธุรกิจผลิตเด็กเริ่มต้นเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว จากทารกในหลอดทดลองคนแรกของโลกอย่าง หลุยส์ บราวน์ ถูกคลอดที่โรงพยาบาลในอังกฤษเมื่อเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 กรกฎาคม ปี 1978
การเกิดขึ้นของเด็กหลอดแก้วได้จุดประกายให้เกิดการถกเถียงกันอย่างบ้าคลั่งเกี่ยวกับจริยธรรมของแพทย์ที่ ‘รับบทเป็นพระเจ้า’ ในการสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลก อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติทางสังคมและวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับคู่รักที่ไม่มีลูกหลายล้านคู่ในชั่วข้ามคืน ตั้งแต่นั้นมามีทารกประมาณ 12 ล้านคนที่เกิดมาโดยใช้การรักษาภาวะการมีบุตรยาก
อย่างไรก็ตาม การทำเด็กหลอดแก้วประสบความสำเร็จประมาณ 30% – 35% ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี และลดลงเหลือ 7% – 10% สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี
อ้างอิงจาก