ก็ค่าครองชีพมันสูงนี่นา!
นับวัน จำนวนคู่รักที่ไม่อยากมีลูกดูจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะแค่ในไทย แต่รวมถึงหลายประเทศทั่วโลก จริงอยู่ที่กรรมวิธีในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ย่อมมีความท้าทายหลายต่อหลายด้าน แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า อุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนแรงจูงใจในการอยากมีลูกของคนทั่วโลกคือภาระค่าใช้จ่าย
“เราจะเลี้ยงลูกให้ดีได้อย่างไรในเมืองที่รายได้สวนทางกับค่าครองชีพ”
นี่คงเป็นความในใจที่ใครหลายคนกำลังรู้สึก และสิ่งนี้สอดคล้องกับ ผลการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล เมื่อปี 2023 ที่ทำการสอบถามผู้ที่ไม่อยากมีลูกจำนวน 334 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 38.32 ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน ขณะที่ร้อยละ 37.72 มองว่าไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก และอีกร้อยละ 33.23 ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ
เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้เองเอื้อให้ไลฟ์สไตล์รูปแบบหนึ่งค่อยๆ เป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ข้ามมายุโรป และในที่สุดก็ได้รับความสนใจในหมู่คนไทย โดยวิถีชีวิตซึ่งดูจะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เราพูดถึงนี้มีชื่อว่า ‘DINK’
DINK หรือ D.I.N.K. ย่อมาจากคำเต็มอย่าง ‘Double Incomes, No Kid’ อันหมายถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่คู่รักตั้งใจจะไม่มีลูก เพื่อให้ต่างคนต่างได้ทำงานอย่างที่ต้องการ มีโอกาสในการออมเงินอย่างเต็มที่ ทั้งยังสามารถนำเงินส่วนนี้ไปปรนเปรอความสุขให้กับตนเองได้โดยไม่มีข้อจำกัด
ในยุคที่ปัจจัยทางการเงินถือเป็นโจทย์ใหญ่ สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง เงินเฟ้อสูงกว่า 3% ทุกปี ประกอบกับอีกหลากหลายความไม่แน่นอนที่พร้อมสั่นคลอนเงินในกระเป๋า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากหลายคนจะหันมาวางแผนการออมอย่างจริงจัง พยายามตัดรายจ่ายส่วนเกินออกไปให้ได้มากที่สุด ซึ่งนั่นก็ยิ่งส่งเสริมให้ไลฟ์สไตล์ DINK ได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก
DINK กลายเป็นเทรนด์ที่คู่รักในโลก TikTok พูดถึงอย่างแพร่หลายมากกว่า 33 ล้านวิว ถึงขั้นที่นิตยสารชื่อดังอย่าง TIME ทำการศึกษาประเด็นนี้แบบลงลึก โดยนักลงทุนอายุน้อยอย่าง เจดีน ไบรเดน (Jadyn Bryden) ได้เปิดเผยกับ TIME เอาไว้ว่า เธอรู้จักกับไลฟ์สไตล์ไม่มีลูกนี้ตอนที่ยังเด็กมาก ตอนนั้นเธอจินตนาการไม่ออกเลยว่าตัวเองจะนำมันมาปรับใช้ได้อย่างไร ทว่าตอนนี้ เธอกับสามีประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นชาว DINK อาศัยอยู่ในบอสตัน ช่วยกันหารายได้ และยังไม่ต้องการมีลูก
“ไลฟ์สไตล์หารายได้ 2 ทาง โดยไม่มีลูก เป็นโอกาสสุดเพอร์เฟ็กต์ในการบริหารจัดการเงินเก็บของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย เก็บออม หรือเอาไปใช้ลงทุน”
โดยในตอนนี้ เธอกับสามีแยกเงินเดือนครึ่งหนึ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนรายได้ที่เหลือออมไว้สำหรับการจัดงานแต่งงาน ค่าบ้าน บัญชีเกษียณ ฯลฯ
“แต่จริงๆ แล้ว DINK ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานะระยะยาว อย่างฉันกับสามีเองเลือกใช้ช่วงเวลานี้ไปกับการสร้างรากฐานทางการเงินที่แข็งแรง เผื่อวันหนึ่งเราประสบปัญหา หรือถ้าเกิดอยากมีลูกขึ้นมา เราจะได้ไม่ต้องประสบกับความยากลำบากจนเกินไป” เจดีนทิ้งท้าย
ย้ายจากโลกตะวันตกมายังประเทศไทย ดูเหมือนว่านี่จะเป็นช่วงเวลาที่ DINK กำลังถูกจับตามากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากการที่เว็บไซต์ของธนาคารหลายแห่งกำลังให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบนี้ ซึ่งถามว่าทำไมมันจึงดูเป็นวิธีคิดที่น่าจะได้ผลกับคนไทย สาเหตุหลักอย่างหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสวัสดิการของประเทศเราไม่ได้ถึงพร้อมมากนัก คนรุ่นใหม่จำนวนมากจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายในช่วงบั้นปลายของชีวิต
บางครอบครัวอาจหวังพึ่งลูกหลานให้กลับมาเลี้ยงดูตัวเองยามแก่ชรา ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนกลับไม่อยากฝากภาระอันหนักอึ้งนี้ไว้ที่ทายาท จึงจำเป็นต้องเก็บเงินตั้งแต่ตอนที่ตัวเองยังทำงานไหวอย่างรอบคอบและรัดกุม
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนจบปริญญาตรีในสถาบันการศึกษาของรัฐบาลสูงถึงประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อคน ซึ่งคิดเป็น 6.3 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปีของประชากรในปี 2022 พูดง่ายๆ คือ คนคนหนึ่งต้องทำงานนานกว่า 6 ปีจึงจะมีเงินมากพอเลี้ยงดูลูกหนึ่งคน ซึ่งนี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งค่าที่อยู่อาศัย อาหาร ตลอดจนค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้นทุกปี โดยภาระก้อนใหญ่อย่างน้อย 1.6 ล้านบาทตรงนี้จะกลายเป็นเงินเก็บได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทันทีสำหรับใครก็ตามที่ตัดสินใจไม่มีลูก ค่าใช้ชีวิตหลังเกษียณที่หลายคนกังวลจะกลายเป็นปัญหาน้อยลงหากไม่ต้องจ่ายค่านม ค่าเทอม หรือค่าเรียนพิเศษของลูก ทำให้ DINK กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถโน้มน้าวใจคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีน้ำหนักไม่น้อย
DINK หมายรวมถึงใครได้บ้าง?
Double Incomes, No Kid เป็นวิถีชีวิตที่สามารถเกิดขึ้นหลักๆ 5 ลักษณะ
- คู่สามีภรรยาที่เลือกจะไม่มีลูกด้วยตัวเอง – อย่างที่บอกไปว่า การลดภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรจะทำให้ครอบครัวมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และนั่นทำให้คู่รักสามารถนำเงินในส่วนนี้ไปลงกับอะไรก็ตามที่สนใจ หลายคู่อาจไปท่องเที่ยว ซื้อสินค้าที่ชื่นชอบ หรืออย่างน้อยที่สุด มันจะช่วยให้พวกเขาอุ่นใจได้มากขึ้นสำหรับวัยเกษียณในอนาคต
- คู่รักที่ไม่สามารถมีลูกได้ และไม่ต้องการรับบุตรบุญธรรม – คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ยินดี 100% ที่จะมีวิถีชีวิตแบบ DINK แต่การมีเงื่อนไขต่างๆ มาบีบรัดก็ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับ DINK อย่างราบรื่นที่สุด
- คู่รักข้าวใหม่ปลามันที่ยังไม่มีลูก – นี่คือจังหวะเวลาที่สามีภรรยามากมายใช้ในการวางแผนและเก็บเงิน บางคู่อาจตัดสินใจมีลูกเมื่อพร้อม เป็นอันสิ้นสุดสภาวะ DINK ในขณะที่บางคู่อาจเลือกที่จะไม่มีลูก ซึ่งเป็นการยืดระยะ ‘ช่วยกันเก็บเงิน’ ต่อไป หรือถ้าจะบอกว่าคู่รักข้าวใหม่ปลามันที่เพิ่งแต่งงานคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการใช้ชีวิตแบบ DINK ก็คงจะไม่ผิดนัก
- คู่รักที่ลูกสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว – ในภาษาอังกฤษเรียกสถานะนี้ว่า ‘Empty Nester’ หรือก็คือเจ้าของรังที่ว่างเปล่า เพราะลูกน้อยพากันเติบโต สยายปีกโบยบินได้โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากผู้ปกครอง ส่งผลให้คู่รักสามารถกลับมาโฟกัสกับการเก็บเงินเพื่อตัวเองได้อีกครั้ง
- ตกลงจะอยู่ด้วยกัน แม้จะไม่ได้เป็นคู่รักกัน – ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงในยุคนี้ นี่คือการอยู่ด้วยกันแบบพาร์ตเนอร์ชีวิตโดยที่อาจจะไม่ต้องมีความรู้สึกเชิงชู้สาวร่วมด้วย เป็นการตัดสินใจอยู่ด้วยกันแบบเพื่อนเพื่อหารค่าใช่จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าห้อง เฟอร์นิเจอร์ วัตถุดิบในการทำอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ประหยัดเงินได้อีกทางหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องมีครอบครัว
สิ่งที่ DINKER ควรระวัง
แม้ว่า DINK จะดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากแค่ไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ควรระมัดระวังคือในปัจจุบัน แบรนด์สินค้าจำนวนไม่น้อยก็เริ่มนำไลฟ์สไตล์นี้มาใช้ในการจูงใจผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น รถหรูเจ้าหนึ่งทำการโฆษณาในทำนองที่ว่า ‘ไม่มีลูกสิ แล้วคุณจะมีเงินเหลือพอซื้อรถคันนี้ได้’ เพราะฉะนั้น เราเองก็ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าอยากดำเนินชีวิตในรูปแบบนี้จริงๆ หรือกำลังโดนอิทธิพลของสื่อครอบงำอยู่
สุดท้ายนี้ บทความไม่ได้มีเจตนาจะชี้นำว่าควรทำตาม DINK หรือไม่ อย่างไร เพราะแท้จริงแล้ว ทุกคนควรได้เลือกใช้ชีวิตตามรสนิยมและเป้าหมายของตัวเอง อย่างที่รู้กันว่า เม็ดเงินคือปัจจัยสำคัญในการตอบสนองซึ่งความต้องการของมนุษย์ และการจะมีลูกย่อมต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาล ดังนั้น มันคงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยหากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนคู่รักที่ต้องการมีลูกอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สมควรกล่าวโทษใครก็ตามที่เลือกเส้นทางชีวิตแบบไร้ทายาท เพราะนั่นก็เป็นทางที่พวกเขาเห็นแล้วว่าเหมาะกับตัวเอง
อ้างอิงจาก