เทคโนโลยี ‘สแกนม่านตา’ (iris scan) เป็นสิ่งที่สร้างความลำบากให้กับสายลับมือพระกาฬในภาพยนตร์มานักต่อนัก (ไม่เชื่อไปถามเจมส์ บอนด์, เจสัน บอร์น หรืออีธาน ฮันต์ ดูได้) เพราะเป็นหนึ่งในวิธีพิสูจน์อัตลักษณ์ที่น่าเชื่อถือที่สุด เนื่องจากเนื้อเยื่อม่านตามีลักษณะเฉพาะบุคคลและซับซ้อนมาก แม้แต่ฝาแฝดก็ยังไม่เหมือนกัน หลายๆ ชาติจึงนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการพิสูจน์ยืนยันตัวตน
ล่าสุด รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้นำเทคโนโลยีนี้มาทดลองใช้ในการพิสูจน์ตัวตนของชาวสิงคโปร์ หรือผู้ที่พักอาศัยในสิงคโปร์ ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศในด่าน ตม. 2 จุด คือบริเวณชายแดนที่ติดกับมาเลเซีย และท่าเรือเฟอร์รี่ที่จะไปบางเกาะของอินโดนีเซีย หลังจากเริ่มสแกนม่านตาชาวสิงคโปร์ที่มาทำบัตรประชาชนทำเป็นฐานข้อมูล
ไปแล้ว ตั้งแต่เดือน ม.ค.ของปี 2017
แต่ปัญหาของเทคโนโลยีสแกนม่านตาก็คือ มันมีราคาค่อนข้างแพง (แพงกว่าการสแกนลายนิ้วมือถึง 5 เท่า!) รวมถึงข้อจำกัดในการใช้งาน ทำให้กระทั่งรัฐบาลที่มีเงินอย่างสิงคโปร์ยังลังเลที่จะใช้ในจุดอื่นๆ เช่น สนามบินชางฮีก็เตรียมจะใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าแทน เช่นเดียวกับการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้บนเสาไฟกว่า 100,000 ต้นทั่วทั้งเกาะ
รัฐบาลสิงคโปร์มักอ้างว่า การติดตั้งเทคโนโลยีสารพัดสแกนลายนิ้วมือ ใบหน้า ไปจนถึงม่านตา ก็เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชากร และความสงบสุขของบ้านเมือง แม้จะถูกวิจารณ์มาตลอดว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจถูกใช้เพื่อจับตาประชาชน
ปัจจุบัน หลายชาติได้นำเทคโนโลยีสแกนม่านตานี้มาใช้ในด่าน ตม. เช่นกัน ทั้งอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา ขณะที่สมาร์ทโฟนหลายยี่ห้อ ก็ใช้การสแกนม่านตาในการปลดล็อกเครื่อง นัยว่าจะสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้มากขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิงจาก
https://www.straitstimes.com/singapore/transport/ica-trials-eye-scans-to-boost-border-security
#Brief #TheMATTER