คืนนี้ถึงคิวประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2017 พอพูดถึงโนเบลวรรณกรรม ก็จะเป็นประเด็นว่า ‘เฮียมู-ฮารูกิ มูราคามิ’ จะได้รางวัลโนเบลมั้ย ปีที่แล้วเองเฮียมูก็เป็นตัวเต็ง แต่ผลรางวัลกลับผิดโผเพราะรางวัลสาขาวรรณกรรมดันไปออกที่บ็อบ ดีแลน นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ผลผิดคาดนี้เลยเกิดกระแสฮือฮาขึ้นทั่วโลก
ในทุกๆ ปี เราต่างสนุกไปกับการลุ้นและจับตาว่า เหล่านักเขียนชั้นนำของโลกคนไหนจะรับรางวัลอันทรงเกียรติและขึ้นแทนนักเขียนรางวัลโนเบลคนต่อไป ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน มูราคามิก็ติดโผว่าน่าจะได้ (ซักที) นอกจากเฮียมูแล้ว ยังมี ‘นกูกี้ วา ติงโอ’ (Ngugi Wa Thiong) นักเขียนชาวเคนยาคนสำคัญที่ถูกจับตาว่ามีสิทธิได้
เว็บไซต์ nicerodds.co.uk รวบรวมโผที่ผู้คนไปแทงกันว่าใครจะได้รางวัลปีนี้ ผลสามอันดับแรกออกมาคล้ายๆ กับปีที่แล้ว คือมีมูราคามิติดโผร่วมกับนกูกี้ วา ติงโอ (Ngugi Wa Thiong) นักเขียนชาวเคนยา-ในวงวรรณกรรมปีที่แล้วก็มาคู่คี่กับเฮียมู ส่วนอันดับสามเป็น ‘มาร์กาเร็ต แอทวูด’ (Margaret Atwood) นักเขียนหญิงชาวแคนนาดาเจ้าของผลงาน ‘The Handmaid’s Tale’ งานเขียนแนวดิสโทเปียที่เพิ่งกลายเป็นซีรีส์ที่ใครๆ ก็บอกว่าสุดแสนจะเหมาะกับยุคทรัมป์
ปีที่แล้ว The MATTER ชวน ‘อาจารย์สุรเดช โชติอุดมพันธ์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมร่วมสมัยให้ความเห็นเกี่ยวกับการเป็นตัวเต็งและความเป็นไปได้ที่จะได้รางวัลของมูราคามิว่าง านของมูราคามิสามารถจับความรู้สึกเหงาและความรู้สึกไร้รากของผู้คนในสังคมเมือง “สังคมที่ความเจริญทางวัตถุสวนทางกับความมั่นคงทางจิตใจ” แต่อีกด้านอาจารย์ก็เห็นว่าประเด็นในงานเขียนของมูราคามิพูดถึงประเด็นของตัวตนและการเป็นปัจเจกชนเป็นหลัก ซึ่งงานเขียนของนักเขียนอื่นๆ นั้นกำลังแตะเรื่องที่มีความหนักแน่นและมีผลกระทบรุนแรงกับสังคมมากกว่าความรู้สึกส่วนตน เช่น ‘การเหยียดสีผิวและสงครามล้างเผ่าพันธุ์’
ข้อสังเกตสำคัญที่อาจารย์เห็นว่าอาจทำให้งานของเฮียมูอาจพลาดรางวัลไปคือ ‘ความสวยงาม’ และ ‘ความโรแมนติก’ ที่จริงอยู่ว่าความสวยงามน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ในที่สุดความงามอาจกลายเป็นดาบสองคมเพราะเรื่องราวและปัญหาถูกถ่ายทอดออกมาสวยงาม “ทำให้ปัญหามีความโรแมนติกและสวยงามจนกระทั่งทำให้ผู้อ่านอยากจะอยู่ในปัญหาต่อไป ไม่อยากจะหาทางออก” อาจารย์สุรเดชเห็นว่า “เมื่อคุณพูดเรื่องเมือง เมืองใหญ่ย่อมทำให้เกิดความเหงา ความเปล่าเปลี่ยว แต่คนก็ยินดีที่จะเหงาและเปล่าเปลี่ยว มันมีเสน่ห์และอันตรายในเวลาเดียวกันครับ”
ดังนั้นเมื่อพิจารณาเฮียมูคู่กับนักเขียนคนอื่นๆ อย่างนกูกี้ นักเขียนที่พูดเรื่องการเหยียดผิวโดยใช้วรรณกรรมและงานเขียนต่อสู้กับลัทธิอาณานิคมในระดับความคิด พยายามที่จะ ‘ลบล้างการครอบงำของอาณานิคม’ (decolonize) ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบภาษา ในระดับวัฒนธรรม ส่วนงานเขียนของแอทวูดเองก็ทรงพลังและสอดคล้องกับยุคสมัยของทรัมป์ พลังของงานเขียนจึงมีนัยทางการเมืองและเป็นการต่อสู้กับปัญหาและการกดขี่ในโลกของความเป็นจริง
นอกจากนักเขียนทั้งสามแล้ว ในโลกของวรรณกรรมและการสร้างสรรค์ยังมีนักเขียนนานาชาติที่กำลังสร้างสรรค์ผลงานในมิติที่ต่างกันออกไป นักเขียนที่กำลังใช้วรรณกรรมเพื่อพูดถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ในรูปแบบที่เฉพาะตัว ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมโลกอาจารย์สุรเดชก็ยกตัวอย่างนักเขียนเช่น “ลาสโล คราสนาฮอไค นักเขียนชาวฮังกาเรียน อะมิทาฟ โกช นักเขียนชาวอินเดีย เซซาร์ ไอรา จากอาร์เจนตินา หรือ แมริส กงเด ที่เขียนเกี่ยวกับปัญหาการค้าทาสและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์” หรือในโผเองก็ปรากฏชื่อที่เราคุ้นหูแต่ก็ยังไม่ได้โนเบลสักทีเช่น มิลาน คุนเดอรา หนึ่งในนักเขียนสำคัญที่พูดเรื่องชีวิตอันเบาโหวงของสังคมสมัยใหม่
รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจึงเป็นโอกาสสนุกๆ ที่เราได้จับตาว่านักเขียนทั่วโลกกำลังทำอะไรกันอยู่ ในแต่ละพื้นที่กำลังให้ความสำคัญกับอะไร และในการให้รางวัลที่สำคัญระดับโลกนี้ คณะกรรมการมีรสนิยมและพิจารณา ‘งานที่ดี’ จากอะไร สำหรับใครที่เชียร์ใคร ก็ติดตามการประกาศผลได้คืนนี้ การประกาศผลอย่างเป็นทางการจะประกาศในวันที่ 5 ตุลา เวลาบ่ายโมงตามเวลาสวีเดน
อ้างอิงข้อมูลจาก