หลังจากมีการประกาศว่า นวนิยายรางวัลซีไรต์อย่าง ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ จะได้ก้าวไปโลดแล่นบนหน้าจอภาพยนตร์ หลายคนก็อดลุ้นไม่ได้ว่าเมื่อเรื่องราวอันเข้มข้นในหนังสือ ถูกถ่ายทอดออกมาในแบบภาพเคลื่อนไหวนั้นจะเป็นอย่างไร
ระหว่างที่รอคอยตัวละครในนวนิยายเล่มนี้มาเคลื่อนไหวบนหน้าจอ (ซึ่งคาดว่าจะฉายราวๆ กลางปีหน้า) The MATTER จึงขอแลกเปลี่ยนสนทนากับนักเขียน ‘วีรพร นิติประภา’ ว่าด้วยเรื่องมายาคติ ความรัก และความรุนแรง ผ่าน ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ และสภาพสังคมที่เราอยู่กันทุกวันนี้
The MATTER: ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ เล่าเรื่องอะไร
คุณวีรพร : มันเล่าเรื่องมายาคติ มันเล่าเรื่องโลกสมัยใหม่ที่มีการรับรู้ค่อนข้างสูง ถ้าอ่านเผินๆ เรารู้สึกว่าอ่านนิยายรักชีวิตคน 3 คน แต่ในความเป็นจริงเล่าเรื่องอื่นเยอะมาก
มันไม่ใช่แค่มายาคติอย่างเดียวด้วย แต่คือเข้าขั้นดราม่า ในขณะเดียวกันพอเขียนเสร็จกลับพบว่า เฮ้ย! สังคมบ้านเรามันดราม่า ผู้คนของเราดราม่า แล้วก็ทุกอย่างมันถูกแสดงออกในแบบที่ฟูมฟาย ซึ่งมันไม่ได้ทำกันชั้นเดียว มันมีการสร้างกระแสอันหนึ่ง เพื่อที่จะบีบอันหนึ่งให้เข้าไปในอีกเหตุการณ์
อย่างเหตุการณ์ทางการเมืองปิดกรุงเทพฯ 6 เดือน ระหว่างนี้มันมีดราม่าอะไรต่างๆ เกิดขึ้นตั้งเยอะ แต่ว่าคำถามก็คือ เมื่อเกิดกระแสขึ้นทำให้เกิดความแตกแยกตามมา แบ่งฝั่ง โทษกันไปโทษกันมา สร้างดราม่าให้เกลียดกัน คำถามของพี่คือว่า คุณเกลียดมันขนาดนั้นได้ไง รู้จักกันหรือเปล่า เราสามารถเกลียดใครได้ขนาดนั้นไหม จริงๆ นิยายเรื่องนี้ก็ถูกสร้างมาเพื่อที่จะถามและตอบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดมันมีความจริงอยู่แค่ไหน
The MATTER : มีวิธีการสร้างตัวละครเพื่อเล่าเรื่องแบบนี้ยังไง
คุณวีรพร : จริงๆ ง่ายมาก สมมติว่าเป็นผู้หญิง 1 คน ก็จินตนาการหน้าตาเป็นยังไง ไว้ผมยังไง แต่เอาจริงๆ รูปแบบไม่ค่อยน่าสนใจมากไปกว่าเขารู้สึกยังไง เขาคิดยังไง ดังนั้นในรูปแบบที่เราสร้างขึ้นมา ก็เพื่อที่จะสะท้อนว่าเขาคิดยังไง
บางครั้งตัวละครมันก็จะประหลาดขึ้นมา อย่างตัวละครแม่ในไส้เดือนตาบอดฯ เธอนั่งทับหลุมศพซึ่งในชีวิตจริงคุณไม่เจอคนแบบนี้หรอก แต่สิ่งนี้เพื่ออธิบายสภาวะภายในว่าเธอจมปลัก จนกระทั่งตายไป เธอก็ยังนั่งเฝ้าหลุมศพสามี คือเธอครอบครองและถูกครอบครองเสียเอง
บางทีเขียนไปครึ่งเรื่องก็กลับมาเปลี่ยนด้วย เพราะว่าไม่สอดคล้องกับเส้นทาง แต่ว่าพี่ชอบจะใช้เวลากับตัวละครไปด้วยกัน เติบโตตามกันไป
อีกอย่างคือพี่จะเขียนให้เป็นมนุษย์มากที่สุด เพราะพี่รู้สึกว่าถ้าคุณเขียนตัวละครให้เป็นมนุษย์ คุณก็จะให้ความยุติธรรมกับพวกเขาได้เท่าเทียมกับคนอื่นในชีวิตจริง พี่รักตัวละครของพี่ทุกตัว พี่เคยโพสต์เอาไว้เลยด้วยซ้ำว่า “หวังว่าฉันจะให้ความยุติธรรมกับพวกเธอทุกคนได้เท่ากัน”
The MATTER : คาดหวังให้คนอ่านตีความอะไรจากเรื่องนี้รึเปล่า
คุณวีรพร : อาจจะไม่ต้องตีความก็ได้ เหมือนเราเห็นสีแดงเราก็รู้ว่ามันเป็นสีแดง แล้วเราเรียกชื่อมันถูกแต่ว่าทุกครั้งมันปรากฎที่อื่นในเฉดต่างๆ เราก็รู้ว่ามันมีความหมายอื่นสัมพันธ์กับสีแดงที่เรารู้จัก ความรัก ความรุนแรง พี่ไม่คิดว่างานเขียนต้องทำหน้าที่เป็นคริสตัลเคลียร์ หรือตัวละครต้องมีบทคิดดังให้เรารู้ เราไม่ต้องการแบบนั้น คนอ่านเข้าใจในแบบนึง แค่นั้นพอแล้ว
เราต่างก็โดนทำร้ายกันประมาณหนึ่ง เราต่างก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งนั้น
The MATTER : พูดถึงความรักและความรุนแรง มีความเห็นต่อเรื่องเหล่านี้ในสังคมอย่างไร
คุณวีรพร : พี่ไม่แน่ใจว่าผู้คนสังเกตเห็นไหมว่าสังคมมันรุนแรงต่อกันมาก อย่างเช่นการหลอกให้รัก คือจะนอนด้วยก็นอนไปสิ อย่าหลอกเขาให้รัก อย่าบอกว่ารักเขา อย่าเอาทั้งตัวและหัวใจพร้อมจิตวิญญาณไป คือมันเป็นความรุนแรงในชนิดที่เข้ามาในระดับจิตใจ แล้วเมื่อเดินออกไปจากชีวิตเขาแล้ว เขาก็เละ ทิ้งไว้แต่เปลือกและซากของคนหนึ่งคน ซึ่งมันน่ากลัวกว่าการกระทำอีก
เรามักจะพูดถึงความรุนแรงในด้านของการกระทำ เช่น การทำร้ายร่างกาย ตบหน้า หลอกเอาทรัพย์อะไรอย่างนั้น แต่ยังไม่เคยพูดถึงการหลอกให้รักอะไรแบบนี้ ซึ่งมันเพื่ออะไร คุณต้องการจากคนคนหนึ่งขนาดนั้นเลยหรอ ในเมื่อคุณไม่จริงจังกับเขาขนาดนั้น
The MATTER : แต่ในชีวิตจริงก็มีคนประเภทที่รู้ว่าเขาหลอก แต่ก็ยอมให้หลอก
คุณวีรพร : ก็ใช่ ตัวละครหนึ่งของพี่ในเรื่องนี้ก็มีที่ยินยอมพร้อมใจต่อการโดนหลอก เพราะว่าเธอก็อยากเป็นจูเลียต เห็นไหมว่าเราอยู่ในสังคมที่ค่อนข้างจะซับซ้อน ผู้หญิงบางคนยอมให้ผู้ชายตบตีทุกวัน เพราะเธอคิดว่าเธอยอมเพื่อครอบครัว และคิดว่าเธอเป็นคนที่ดีกว่าแม่บ้านอื่นๆ ที่ไม่ยอมให้ถูกทำร้าย หรือแม่ที่พาลูกหนีไปอยู่ที่อื่น เราเปรียบเทียบกัน คิดว่ามันมีคุณค่า คุณค่าของการได้รู้จักกับชีวิตมากกว่าคนนั้นคนนี้ เขาทำร้ายแปลว่าเขารัก เขาหึงหวงเราปล่อยให้เขากระทำเราไป คุณค่าที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านสื่อต่างๆ พระเอกปล้ำแปลว่าพระเอกรัก นางเอกยินยอม ตอนจบแต่งงานกันอะไรทำนองนี้ ซึ่งพี่คิดว่ามันแหยะ
จริงๆ ผู้ชายก็โดนเยอะ เราต่างก็โดนทำร้ายกันประมาณหนึ่ง เราต่างก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งนั้น
The MATTER : มายาคติทำอะไรกับชีวิตเราบ้าง
คุณวีรพร : พี่ว่าความลุ่มหลงในมายาคติมันแย่ มันแย่ขนาดที่อาจเป็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของเราก็ได้ ในขณะที่สมมติว่าคุณไม่มีตรงนี้อยู่เลย คุณไม่มีนิยายรักจะอยู่ยังไงวะ เราไม่ได้เสียเงินซื้อนิยายรักอ่านเพื่อที่จะรู้สึกว่า เฮ้ย มันมีความรักอยู่โลกนี้เว้ย
หลายๆ ครั้งที่คุณคิดว่าเรื่องรักมันเป็นเรื่องใหญ่โตและศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายเทียบเท่ากับชีวิตแต่จริงๆ มันไม่ใช่อะไรเลย สุดท้ายแล้วคุณก็อยู่กันได้ นอนหลับ กินอิ่ม เราต้องการแค่นั้น ประเด็นของพี่อยู่ตรงที่เวลาคุณหล่นลงไปในมายาคติมากๆ คุณก็ลืมว่าคุณอยากได้อะไร คำถามไม่ได้อยู่ที่คุณอยากได้อะไร มันอยู่ที่คุณอยากได้อะไรจริงๆ