ออสการ์มีพี่ลีโอ ล่าสุดก็ทำลายคำสาปออสการ์ไปแล้ว
ในโลกวรรณกรรมเองเราก็มีรางวัลระดับมหึมา อย่างโนเบลสาขาวรรณกรรมที่กำลังจะประกาศผลในช่วงเย็นวันนี้ ซึ่งแน่ล่ะ ชื่อของนักเขียนร่วมสมัยที่หลายๆ คนนึกถึง และเชียร์อย่างหนักว่าจะต้องได้รางวัลนี้เซ่! ก็คือคุณพี่ ‘ฮารุกิ มูราคามิ’ นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนชื่อต้นๆ ที่ประสบความสำเร็จในระดับปรากฏการณ์
ถ้าพูดถึงนักเขียนเทพๆ ที่ทั้งเทพ ทั้งดัง มูราคามิต้องเป็นชื่อหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาแน่นอน เว็บไซต์รับพนัน Ladbrokes ที่แทงว่าปีนี้ใครจะได้รางวัลดังกล่าว ชื่อมูราคามิก็โผล่มาอย่างเคย ปีนี้ครองคู่มากับนกูกี้ (Ngũgĩ wa Thiong’o) นักเขียนชาวเคนย่าที่เขียนเรื่องการกดขี่ของคนผิวขาว (สองคนนี้ขึ้นแท่นกันมาหลายปีแล้ว) ซึ่งเช้านี้นักพนันดูจะเทไปที่นกูกี้เลยทำให้จากที่อยู่อันดับ 1 คู่กัน นกูกี้เลยนำไปอยู่ที่อันดับ 1 ส่วนมูราคามิมีคนแทงที่ 6 ต่อ 1 ซึ่งก็แปลว่า นักพนันสายวรรณกรรมทั้งหลายดูจะเดาว่าเฮียมูเป็นรองอยู่นิดหน่อย
หลายคนคงงงๆ ว่า ทำไมนะงานที่ประหลาดๆ อ่านได้เรื่องมั่ง ไม่ได้มั่ง หรืออ่านแล้วเหงาน่าดูอย่างงานของมูราคามิ ทำไมถึงเป็นกระแส แล้วมูราคามิจะได้รางวัลใหญ่ที่ว่ามั้ย เพราะอะไร
The MATTER ต้อนรับการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ด้วยการชวน ผศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมร่วมสมัยมาร่วมตอบคำถาม
ทำไมงานเขียนของมูราคามิจึงเป็นกระแส
กระแสมูราคามิมีทั้งกระแสชื่นชอบ เป็นแฟนงานเขียน ไปจนถึงกระแสที่งงๆ ว่า ทำไมมูราคามิถึงดัง (บางคนก็บอกว่างงเพราะอ่านแล้วไม่เข้าใจเท่าไหร่) ในความเหงาและความแปลกประหลาด งานเขียนพี่แกสัมผัสกับคนเมืองและคนรุ่นใหม่ได้ยังไง
กระแสมูราคามิรวมไปถึงความงงนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือไม่ได้ดังและงงกันแต่ที่ไทยแลนด์แห่งเดียว ในเว็บต่างชาติ หรือบทความหลายชิ้นก็พยายามหาตอบว่าทำไมเฮียมูถึงดัง หนังสือแกดีตรงไหน อย่างในบทความ How Good Is Murakami อ้างถึงคำพูดของ Jonathan Franzen นักเขียนนวนิยายที่บอกว่างานเขียนของมูราคามิให้ผลกระทบทางอารมณ์ซึ่งมันตอบสนองกับชีวิตสมัยใหม่ที่ยุ่งเหยิงของเรา นิยายของมูราคามิทำให้เรารู้สึกแปลกประหลาดไปกับโลกสมัยใหม่ที่เรากำลังเผชิญอยู่
อาจารย์สุรเดชให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า งานเขียนของมูราคามิเกิดเป็นกระแสได้ก็ด้วยความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งทำให้งานเขียนของมูราคามิสัมผัสกับผู้อ่านวัยรุ่นได้อย่างลึกซึ้ง
“สาเหตุหนึ่งคือการเติบโตของเมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะโครงสร้างทางกายภาพ แต่ผมว่าสภาพจิตใจคนในเมืองก็เปลี่ยนไปด้วยครับ ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมหยั่งรากลงไปมากขึ้น ทำให้การยึดถือค่านิยมต่างๆ เปลี่ยนไปมากพอสมควร สภาพของเด็กวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นมาในบรรยากาศแบบนี้ย่อมมีความเหงา มีความรู้สึกไร้ราก ความเจริญทางวัตถุมันสวนกระแสกับความมั่นคงทางจิตใจ และปฏิเสธไม่ได้ว่ามูราคามิสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมแบบนี้ได้ดีมากครับ”
ทำไมมูราคามิถึงพลาดรางวัลในปีที่ผ่านมา
ในเมื่อกระแสมาแรงขนาดนี้ แล้วมีอะไรที่จะทำให้เฮียมูพลาดล่ะ ประเด็นหนึ่งคือปัญหาที่มูราคามินำเสนอมันไม่ใช่เรื่องคับขันเมื่อเทียบกับสิ่งที่นักเขียนคนเผชิญและนำเสนอ ปัญหาที่มูราคามิพูดถึงเป็นเรื่องระดับปัจเจกบุคคล สำหรับอาจารย์สุรเดชเองยังเห็นว่าปัญหาของการเสนอปัญหาในงานมูราคามิที่ทำให้น่าหลงใหลก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง
“ข้อนี้ผมก็เคยคิดอยู่ครับ ผมว่าปัญหาที่มูราคามินำเสนอส่วนใหญ่มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับตัวตน หรือความเป็นปัจเจกบุคคลในเมืองใหญ่ ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับ แต่ผมมองว่าหากเทียบกับนักเขียนคนอื่นๆ ที่เขาเผชิญกับปัญหาที่จับต้องได้มากกว่า เช่น การเหยียดสีผิว สงครามล้างเผ่าพันธุ์ มันย่อมทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันถึงภาวะความคับขันของปัญหาและวิถีทางในการแก้ปัญหาครับ”
“นอกจากนั้น อีกอย่างหนึ่งซึ่งผมเห็นในงานเขียนของมูราคามิคือการละเมียดละไมกับการนำเสนอปัญหา ทำให้ปัญหามีความโรแมนติกและสวยงามจนกระทั่งทำให้ผู้อ่านอยากจะอยู่ในปัญหาต่อไป ไม่อยากจะหาทางออก ผมคิดว่าปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่มูราคามิแต่อยู่ที่ธรรมชาติของปัญหาครับ เมื่อคุณพูดเรื่องเมือง เมืองใหญ่ย่อมทำให้เกิดความเหงา ความเปล่าเปลี่ยว แต่คนก็ยินดีที่จะเหงาและเปล่าเปลี่ยว มันมีเสน่ห์และอันตรายในเวลาเดียวกันครับ”
นอกจากมูราคามิแล้ว ยังมีใครที่น่าจับตาอีก
แน่นอนว่าในโลกนี้ยังมีนักเขียนอีกมากมาย อาจารย์สุรเดชกล่าวถึงนักเขียนนานาชาติที่กำลังเป็นกระแสในการเข้าชิงรางวัลรวมถึงสร้างสีสันให้กับวงวรรณกรรมโลก
“นอกจากมูราคามิแล้ว ตอนนี้ก็มีนักเขียนคนอื่นๆ น่าสนใจอีกเยอะมากครับ กูกิวาติอองโง นักเขียนชาวเคนยา ลาสโล คราสนาฮอไค นักเขียนชาวฮังกาเรียน อะมิทาฟ โกช นักเขียนชาวอินเดีย เซซาร์ ไอรา จากอาร์เจนตินา หรือแมริส กงเด ที่เขียนเกี่ยวกับปัญหาการค้าทาสและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ นักเขียนกลุ่มนี้ต่างก็เป็นนักเขียนจากรอบโลกที่น่าจับตามองครับและต่างมีผลงานเขียนสำคัญๆ มาหลายเล่ม พูดยากครับ ขึ้นกับชื่อที่เขาเสนอมา ขึ้นกับรสนิยมของกรรมการ ขึ้นกับงานชิ้นที่เขายกมาเปรียบกันอีก”
ดังนั้นคำถามเรื่องมูราคามิและรางวัลโนเบล ปัญหาหนึ่งที่อาจารย์สุรเดชชี้ให้เห็นคือ ด้วยกระแสของมูราคามิเอง อาจทำให้วงในการอ่านงานเขียนของนักเขียนนานาชาติน้อย และไม่ค่อยหลากหลาย จากคำถามที่ว่าทำไมต้องเป็นมูราคามิและคาดกันว่ามูราคามิต้องได้รางวัลดังกล่าว “ผมกลับเห็นว่าคำถามนี้ค่อนข้างน่ากลัวและแสดงให้เห็นความจำเป็นเหมือนกันที่เราควรจะอ่านหนังสือของนักเขียนนานาชาติคนอื่นๆ มากขึ้น เผื่อต่อไปจะได้มีคำถามว่าทำไมไม่เป็น โค อึน กวีชาวเกาหลีใต้ แอมอส โอส นักเขียนชาวอิสราเอล หรือนูรุดดิน ฟาราห์ นักเขียนชาวโซมาเลีย”