พฤหัสบดีที่ผ่านมา จัดเป็นวันคึกคักของวงการหนังสือโลกทีเดียวครับ นั่นเพราะเป็นวันประกาศผลรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรม และก็อย่างที่คุณผู้อ่านคงทราบกันแล้วว่าผู้ที่ได้รางวัลประจำปีนี้ไปคือ Kazuo Ishiguro นักเขียนชาวอังกฤษ ม้ามืดที่ไม่มีใครคิดว่าจะได้ยินชื่อของเขา คอลัมน์ประจำสัปดาห์นี้ผมเลยถือโอกาสขอเฉลิมฉลองวาระนี้ด้วยการเขียนถึงผลงานของอิชิกุโระ นักเขียนที่ผมรักมากที่สุดคนหนึ่งของโลกวรรณกรรม
เกิดที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 8 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1954 ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 อิชิกุโระซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 5 ปี ครอบครัวของเขาก็ได้ย้ายไปประเทศอังกฤษหลังจากที่พ่อของเขาซึ่งเป็นนักสมุทรศาสตร์ (Oceanography) ได้รับทุนวิจัยเป็นเวลาหนึ่งปี แต่ความตั้งใจที่จะอยู่ทำวิจัยแค่ชั่วระยะหนึ่งก็ได้ยืดขยายจนครอบครัวของอิชิกุโระได้ปักหลักอาศัยอยู่ที่อังกฤษอย่างถาวร อิชิกุโระเคยได้กล่าวว่า การต้องจากญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นเป็นเสมือน ‘การสูญเสียไปทางอารมณ์’ แม้ว่าชีวิตของเขาจะไม่ได้จมปลักอยู่กับสำนึกว่าตนเป็นคนพลัดถิ่น แต่อิชิกุโระก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้อีกเช่นกันว่า
“สำหรับผม กระบวนการสร้างสรรค์ไม่เคยเกี่ยวกับความโกรธหรือความรุนแรงอย่างคนอื่นๆ เขา แต่เป็นไปในลักษณะของความเสียดายและโศกเศร้าเสียมากกว่า ผมไม่รู้สึกว่าผมเคยเสียดายที่ไม่ได้เติบโตในประเทศญี่ปุ่น นั่นมันไร้สาระสิ้นดี ชีวิตเพียงหนึ่งเดียวที่ผมได้รู้ ผมมีวัยเด็กที่เปี่ยมสุข และผมก็มีความสุขมากกับที่นี่ (อังกฤษ) แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นความรู้สึกอันรุนแรงที่ผมมีต่อญี่ปุ่นซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์กับคุณปู่ของผมนั่นต่างหาก”
คำตอบของอิชิกุโระสะท้อนให้เห็นถึงธีมหลักที่ปรากฏในงานเขียนแทบจะทุกเรื่องของเขา นั่นคือ การมองย้อนกลับไปยังอดีตด้วยสำนึกเสียดาย และความรู้สึกลึกๆ ที่หวังจะไถ่โทษ หรือได้ชดเชยต่อการตัดสินใจในอดีต ผ่านกระบวนการหวนย้อนความทรงจำที่มนุษย์จะได้ทบทวนและรับรู้ถึงตัวตนที่เราเป็น และเช่นกันที่ความทรงจำก็เปรยบประหนึ่งพื้นที่ซึ่งคอยปลอบประโลมเราให้ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปบนโลกที่อำมหิตและไร้ความปราณีแห่งนี้
“ผมชอบความทรงจำ ในหลายๆ ระดับ ว่ากันในทางทฤษฎี ผมชอบมันในฐานะวิธีบอกเล่าเรื่องราว มันให้อิสระมากมายกับผม แต่ผมก็ชอบเนื้อแท้ของความทรงจำเช่นกัน ผมชอบที่ฉากเหตุการณ์ต่างๆ จะขมุกขมัวอย่างจำเป็น นั่นเพราะความทรงจำนั้นเปิดรับต่อการยักย้าย ต่อการหลอกลวงตัวเอง และต่อการถักทอเข้าด้วยกัน และบ่อยครั้งมันจะถูกแต่งแต้มด้วยความอาลัยอาวรณ์ อารมณ์ที่รุนแรง ผมชอบระดับชั้นเหล่านี้ที่มารวมกัน ผมสนใจความทรงจำมาโดยตลอด”
ความทรงจำกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่อิชิกุโระใช้ประกอบสร้างอดีต เพื่อทำความเข้าใจกับปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เรียนรู้ถึงตัวตนที่เป็น
ในทางหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า อิชิกุโระได้กวักมือชวนผู้อ่านได้ก้าวเดินไปบนสายธารแห่งอดีตกาล เพื่อทบทวนถึงที่ทางและตัวตนที่เขาเป็น การอ่านนิยายของอิชิกุโระจึงไม่ใช่แค่การอ่านนิยายที่ถูกแต่งขึ้นมาเท่านั้น เพราะภายใต้เรื่องราวของบุคคลอื่นที่เราได้รับรู้ อิชิกุโระได้สอดแทรกกระบวนการพินิจพิจารณาอดีตที่ช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์มากขึ้น
ผมจะขอยกตัวอย่างวรรณกรรมสองเล่มของนักเขียนท่านนี้ นั่นคือ The Remains of the Day (มีแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ เถ้าถ่านแห่งวารวัน) และ Never Let Me Go (มีแปลเป็นภาษาไทยชื่อ แผลลึกหัวใจสลาย)
The Remains of The Day บอกเล่าเรื่องราวผ่านน้ำเสียง ประสบการณ์ และความทรงจำของสตีเฟน หัวหน้าคนใช้ในคฤหาสน์อังกฤษซึ่งเพิ่งเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้เจ้านายใหม่ที่เป็นชาวอเมริกัน อยู่มาวันหนึ่งสตีเฟนก็ได้จดหมายจากมิสเคนตัน เพื่อนร่วมงานเก่าซึ่งแต่งงานออกไปอยู่กินกับสามี อำลาคฤหาสน์หลังนี้ไปแล้วหลายสิบปี แต่เพราะเนื้อความซึ่งคล้ายจะบอกเป็นนัยๆ ว่าเธอไม่พบความสุขในชีวิตนัก ก็เป็นเหตุให้สตีเฟนเกิดอยากจะเดินทางไปพบเธอ ด้วยรถฟอร์ดที่เจ้านายอนุญาตให้ใช้ ลัดเลาะไปตามชนบทอังกฤษ ซึ่งระหว่างทางก็ได้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญและความสัมพันธ์กับแต่ละบุคคลในอดีตที่เขาเคยประสบมาในฐานะหัวหน้าคนใช้
ประเด็นสำคัญของหนังเล่มนี้ว่าด้วย dignity หรือศักดิ์ศรี และความภูมิใจในฐานะคนรับใช้อังกฤษ ซึ่งไม่ได้ยึดถือกันแค่อาชีพหนึ่งๆ หากแต่เป็นสิ่งซึ่งตกทอดผ่านสายเลือด จากพ่อสู่ลูก และสตีเฟนเองก็ยืดอกอย่างภูมิใจในตำแหน่งของเขามากๆ ถึงขนาดมีประโยคที่เขาพูดว่า ไม่มีชาติไหนในโลกที่จะสร้างคนรับใช้ได้เทียบเท่าสุภาพบุรุษได้อย่างอังกฤษอีกแล้ว ตรงนี้เองที่น่าสนใจ เพราะในขณะที่มันพูดเรื่อง dignity ของพ่อบ้าน อิชิกุโระก็พาดเกี่ยวมันกับความเป็น gentleman ของคนอังกฤษ ที่ถูกท้าทายและคัดง้างจากทัศนคติอื่นที่หลั่งไหลเข้ามาผ่านสงครามและการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก อเมริกันเป็นสำคัญที่ก้าวเข้ามาเป็นกุญแจหลักในการวิพากษ์ความเป็นสุภาพบุรุษอังกฤษที่ไหลเวียนอยู่ในสายเลือดอย่างยากจะเปลี่ยนแปลงได้
ตัวตนของสตีเฟนที่อิชิกุโระสร้างขึ้นนี้ คือภาพแทนของผู้ที่จมปลักอยู่ในกระแสคิดที่ไหลไม่ทันความเปลี่ยนแปลงไปของโลก ทั้งสิ่งซึ่งเขายึดถือก็ค่อยๆ กลายเป็นความเชื่องช้าล้าสมัย หรือกระทั่งการไม่ตั้งคำถามต่อคำสั่งเจ้า ก้มหน้าทำตามแต่คำสั่ง ซึ่งแม้สตีเฟนจะบอกว่าเป็นหน้าที่ของคนรับใช้ที่พึงต้องยึดถือ หากแต่ในทางหนึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นถึงการสมยอมต่ออำนาจอย่างสมบูรณ์ที่เขาไม่เคยตระหนักเลยว่ามันได้ค่อยๆ กดทับชีวิตเขาจนมันไม่เหลืออะไรเลย แต่เพียงความว่างเปล่าเท่านั้นเมื่อมองย้อนกลับไป
ในทางกลับกัน Never Let Me Go บอกเล่าเรื่องราวผ่านน้ำเสียง ประสบการณ์ และความทรงจำ ของ เคธี ผู้ดูแลสาวอายุ 31 ปี ที่พาเราย้อนกลับไปในช่วงชีวิตในอดีตของเธอ เราได้รู้จัก เฮลแชม โรงเรียนประจำที่จากน้ำเสียงของเธอพาให้เชื่อว่าน่าจะเป็นโรงเรียนศาสนาอะไรทำนองนั้น เด็กๆ ในเฮลแชม ถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดี พวกเขาได้เรียนบทกวี และศิลปะ และเชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตไปมีอนาคตที่ดีจากการศึกษาที่ได้รับ เรื่องคงจะเป็นเช่นนี้หากเพียงแต่ ‘โลกของเคธี’ เป็นโลกเดียวกับที่เราอยู่ เพียงแต่เด็กๆ ในเฮลแชมกลับเป็นบางอย่างที่ต่างออกไป ซ้ำร้าย เด็กๆ เหล่านี้กลับไม่ถูกยอมรับว่าเป็นมนุษย์ ถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม จากตัวตนที่เขาเป็น
Never Let Me Go คืองานเขียนที่สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ในโลกของอิชิกุโระยังคงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ที่แม้พวกเขาคล้ายจะแสดงว่าคำนึงถึงความเป็นอยู่ หรือทำทีว่าเมตตาแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ยังคงหวังจะกอบโกยผลประโยชน์อย่างไร้ความปราณีอยู่ดี
โลกของ Never Let Me Go นั้นโหดร้าย หากภายใต้ความอำมหิตและเย็นชา อิชิกุโระก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงกระบวนการเยียวยาผ่านความทรงจำ เคธีคือภาพแทนของคนนอก พลเมืองชั้นสอง หรือมนุษย์ที่ไม่ถูกยอมรับ เป็นชีวิตซึ่งเคลื่อนคล้อยไปในกาลเวลาอย่างไม่สลักสำคัญเพื่อที่ว่าสักวันเธอจะตายจากไปอย่างเงียบเชียบ และเดียวดาย
มีแต่ความทรงจำเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ซึ่งเธอจะมีตัวตน และถูกยอมรับ เช่นกันกับตัวละครในหลายๆ เรื่องของอิชิกุโระที่พวกเขาต่างก็อยู่อาศัยในพื้นที่ของความทรงจำส่วนตนก็เพื่อที่จะได้มีชีวิตและลมหายใจดังเช่นมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาต่างก็เจ็บปวด และแน่นอนว่าบาดแผลเหล่านี้ย่อมจะรักษาไม่หาย แต่อย่างน้อยๆ พวกเขาก็พอจะมีพื้นที่หลบภัย มีรูเล็กๆ ที่เบียดแทรกตัวเองให้หลบซ่อนจากความอัปลักษณ์ของโลกรอบข้างได้ มีความทรงจำให้พวกเขาพอได้ตระหนักถึงชีวิตอีกครั้งหนึ่ง