อีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากค่าฝุ่นสีแดงแจ๋ คือเด็กและเยาวชนที่ถูกมองว่าเป็น ‘อนาคตของชาติ’
ดูเหมือนว่าอนาคตของชาติเราอาจกำลังเติบโตอย่างไม่แข็งแรงเท่าไหร่? โดยเฉพาะในประเทศที่อากาศไม่สะอาด มองไปทางไหนก็ขมุกขมัว และค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน อันเป็นสภาพอากาศที่วนเวียนมาเจอเราแทบทุกปี
วันนี้ (8 มีนาคม) มีรายงานว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ในเชียงใหม่ติดลำดับ 5 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อีก 55 จังหวัดทั่วไทยก็กำลังเผชิญกับภาวะค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน สอดคล้องกับเว็บไซต์ IQAir เว็บไซต์ดัชนีคุณภาพอากาศที่ให้ข้อมูลว่าไทยมีค่าฝุ่นสีแดง (สีที่สะท้อนว่าอากาศอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพ) ขึ้นแทบทุกภูมิภาค
แน่นอน เรารู้ดีว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานคือมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กรมการแพทย์เคยให้ข้อมูลว่าหากสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่องในปริมาณมากผ่านระบบทางเดินหายใจอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งโรคทางเดินหายใจ โรงมะเร็งปอด โรงหลอดเลือดสมอง และโรคระบบหัวใจได้
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีให้ข้อมูลว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้ผลกระทบมากเป็นพิเศษ
หากยังจำกันได้ เมื่อราว 4 ปีก่อน มีเด็กชายวัย 4 ขวบจากเชียงใหม่มีอาการเลือดไหลออกจากจมูก ก่อนแพทย์จะวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ พร้อมบอกว่าน่าจะเป็นเพราะอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษ ซึ่งขณะนั้นอำเภอที่เขาอยู่อาศัยมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 597 มคก./ลบ.ม. จนพ่อของเด็กชายคนดังกล่าวออกมาโพสต์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก และบอกว่า “มัน [ฝุ่น] กำลังทำลายชีวิตของลูกผม”
ขณะที่นิธิพัฒน์ เจียรกุล รองศาสตราจารย์แพทย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกร้องผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวานนี้ (7 มีนาคม) ว่า ขอให้ผู้มีอำนาจทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องเยาวชนและคนเปราะบางของชาติ หลังค่าฝุ่น PM 2.5 สูงจนเกินมาตรฐาน
“สงสารเด็กนักเรียนข้างบ้านริมน้ำ วันนี้เขาควรเรียนออนไลน์ที่บ้าน ใจสลายเมื่อเห็นนักเรียนคลุกฝุ่น ไม่ต่างแฟนปิศาจแดงที่ถูกเย้ยหยันจนฝุ่นฟุ้ง” นิธิพัฒน์ กล่าว
ฝุ่น PM 2.5 กระทบกับเด็กในฐานะกลุ่มเสี่ยงอย่างไร? นิธิพัฒน์ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER เพิ่มเติมว่า ฝุ่นจิ๋วกระทบกับเด็กตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ พร้อมอธิบายว่า มีนักวิจัยต่างประเทศที่ศึกษาติดตามสถานการณ์ฝุ่นต่อเนื่องนาน 10-15 ปี ก่อนค้นพบว่า ทารกในครรภ์ของแม่ที่อาศัยในพื้นที่ค่าฝุ่นสูงๆ เมื่อเกิดมามีโอกาสป่วยเป็นโรคหืดมากกว่า มีโอกาสพิการแต่กำเนิดมากกว่า และอาจมีปัญหาเรื่องการนอนหลับมากกว่า หากเทียบกับเด็กที่เกิดจากแม่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ฝุ่นไม่เยอะ
“เด็กเมื่อคลอดออกมาวันนึงก็ต้องนอนอย่างน้อย 20 ชั่วโมง ซึ่งเด็กพวกนี้ [ที่เกิดจากครรภ์แม่ที่อยู่กับค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน] ก็จะนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ การที่เด็กนอนแบบไม่มีคุณภาพก็จะส่งให้พัฒนาการทางสมองของเด็กก็อาจถูกกระทบกระเทือนได้ง่าย” นิธิพัฒน์กล่าว
งานวิจัยที่ติดตามเด็กอนุบาลหลักแสนกว่าคนใน 551 เมืองในจีน ค้นพบว่า การสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ที่สูงตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก สัมพันธ์กับการมีคุณภาพการนอนในวัยเด็กที่แย่ลง และความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้เด็กมีปัญหาการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน
สำหรับเด็กที่โตขึ้นหน่อย เมื่อได้รับค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน แพทย์จากศิริราชให้ข้อมูลว่า อาจส่งผลให้เด็กอาจติดเชื้อและเป็นหวัดได้ง่ายขึ้น ส่วนเด็กที่มีภาวะภูมิแพ้อยู่แล้วก็อาจกำเริบง่ายขึ้น
เหตุที่วัยเด็กเปราะบางกว่าวัยอื่น นิธิพัฒน์เผยว่า เพราะเด็กเป็นวัยที่สมรรถภาพปอดยังโตไม่เต็มที่ (ปอดจะทำงานเต็มที่ตอนอายุ 21-25 ปี) ขณะที่สรีระวิทยาการหายใจของเด็กก็ต่างจากผู้ใหญ่ และประสิทธิภาพการป้องกันตัวผ่านการใส่หน้ากากก็ไม่มากเท่าผู้ใหญ่ ขณะที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ ให้ข้อมูลว่า เพราะเด็กมีอัตราหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ เลยมีโอกาสสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่า
“ตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน จนวัยรุ่น จนเข้ามัธยม มหาลัย ถ้าเขาถูกฝุ่นหรือมลพิษในอากาศสะสมนานก็จะเหมือนกับได้รับควันบุหรี่หรือก๊าซพิษต่างๆ ผลคือ เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรงในอนาคต ไม่สามารถทำงานหนัก หรือหากแข่งขันกีฬากับต่างประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นก็อาจจะด้อยกว่าเขา กลายเป็นปัญหาเรื่องต้นทุนลดลง เพราะสมรรถภาพลดลง” นิธิพัฒน์ ระบุ
ที่น่าสนใจคือ นิธิพัฒน์อธิบายว่า เมื่อแก่ตัวลงเด็กกลุ่มนี้ก็จะยิ่งไม่แข็งแรงและอาจมีภาวะปอดไม่แข็งแรง และกลายเป็นภาระของประเทศในอีก 40-50 ปีข้างหน้าได้ ว่าง่ายๆ ก็คือสุขภาพของเด็กที่เสียไปในวันนี้ อาจกระทบกับระบบสาธารณสุขของประเทศ สมรรถนะในการแข่งขันกับคนอื่น และอนาคตของชาติในระยะยาว
“ถ้าเราปล่อยให้ปัญหามลพิษอากาศรุนแรงขึ้น ปัญหาสุขภาพจะเป็นภาระมากขึ้นในอนาคต ระยะยาวมันกระทบสาธารณสุขไทยแน่ ยังไม่นับเรื่องมะเร็งที่ก็เป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจกันว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดมะเร็งระบบการหายใจและระบบอื่นๆ” แพทย์จากศิริราช ระบุ
แล้วเด็กๆ จะป้องกันได้อย่างไร? นิธิพัฒน์แนะนำว่า เด็กต้องงดกิจกรรมการแจ้ง และต้องหาพื้นที่ร่มที่ปลอดภัย มีระบบฟอกอากาศ และมีอากาศที่ดีสำหรับเด็ก
“ในมาตรการระยะยาว รัฐต้องแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติคืบหน้าถึงไหนแล้ว ติดขัดอะไรอยู่ ต้องการการสนับสนุนจากประชาชนอย่างไร อย่างที่สองคือ อยากให้ประทังการสูญเสียให้รวดเร็วและทันเวลา เช่น ในช่วงนี้ หมออยากเห็นมาตรการหยุดเรียน มาตรการลดการเข้าทำงาน มาตรการ work from home หรืออื่นๆ หมออยากเห็นแผนการที่ชัดเจนให้ประชาชนได้สบายใจว่า มันมีการแก้ปัญหาและลดการสูญเสียแล้วนะ แม้ในระยะสั้น”
“อยากให้ใส่ใจถึงผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวต่อเด็ก ที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของชาติเรา” นิธิพัฒน์ทิ้งท้าย
ข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุชัดเจนว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบกับเด็กในฐานะกลุ่มเสียงอย่างรุนแรง ดังนั้น หากเด็กคืออนาคตของชาติจริง หวังว่าชาติจะรีบคืนอนาคตที่สุขภาพดี และคืนสิทธิในอากาศสะอาดให้กับเด็กและเยาวชนเร็วๆ นะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/191976