5 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูดเอาอากาศสะอาดเข้าปอดเพียงแค่ 425 วันเท่านั้น เฉลี่ยแล้วได้อยู่กับอากาศดีๆ ปีละไม่ถึง 3 เดือน ส่วนวันที่อากาศแย่และมีผลกระทบต่อสุขภาพมีมากถึง 1,073 วัน!
หากยังจำกันได้ ปี 2562 นับเป็นช่วงที่บ้านเราเริ่มตื่นตัวกับปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 กันอย่างจริงจัง ตระหนกกันถึงขนาดที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว ขณะที่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นอัพราคาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เวลาล่วงเลยผ่านมากว่า 5 ปี ความตระหนักถึงอันตรายของมลพิษทางอากาศของใครหลายคนอาจแปรเปลี่ยนเป็นความชินชา ทว่า ฝุ่นจิ๋วนี้ไม่เคยหายไปไหน The MATTER รวบรวมข้อมูลฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 – 31 ธันวาคม 2566 มากางให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ฝุ่นไปด้วยกัน
อากาศสะอาดคืออะไร?
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเกณฑ์คุณภาพอากาศไว้เมื่อปี 2564 โดยกำหนดค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพไว้ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือหากพูดให้เข้าใจง่าย หรือถ้าค่าฝุ่นจะเกินกว่านั้น ก็ไม่ควรมากกว่า 3-4 วันต่อปี
อย่างไรก็ดี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านเรากำหนดค่าเฉลี่ยมาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ 37.5 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานของ WHO
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนถูกพิจารณาว่าเป็นมลพิษอันมีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุดในบรรดามลพิษทางอากาศโดยทั่วไป แถมยังมีความอันตรายต่อร่างกาย เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย ส่งผลร้ายต่อกระบวนการทำงานของอวัยวะในร่างกาย และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น ภูมิแพ้ หืด ถุงลมโป่งพอง ยันโรครุนแรงอย่างมะเร็งปอด หลอดเลือดในสมอง รวมถึงหัวใจขาดเลือด
หากจินตนาการไม่ออกว่าร้ายแรงขนาดไหน กรีนพีซรายงานข้อมูลว่า ฝุ่น PM 2.5 อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของผู้คนราว 29,000 รายในประเทศไทยเมื่อปี 2564 เป็นเหตุให้ภาคประชาสังคมพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขวิกฤต และทวงคืนสิทธิในการหายใจในอากาศสะอาดคืนมา
ข้อมูลอากาศสะอาด 2562-2566 (5 ปี)
เราอ้างอิงข้อมูลค่าฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันท่ี 1 มกราคม 2562 – 31 ธันวาคม 2566 จาก Centre for Research on Energy and Clean Air (CREA) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยไม่แสวงหาผลกำไรด้านพลังงานและมลพิษทางอากาศที่รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลด้านมลพิษทางอากาศ (https://portal.energyandcleanair.org)
เราวัดโดยใช้เกณฑ์อิงตาม WHO และ US AQI โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มเพื่อให้เข้าใจง่าย ได้แก่
- Good 0-15 มคก./ลบ.ม. : อากาศดี สะอาด
- Moderate/Unhealthy for Sensitive Group 16-55.4 มคก./ลบ.ม. : อากาศที่เริ่มมีปัญหากับคนทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมการแจ้ง และเริ่มสร้างผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ
- Unhealthy 55.5-150 มคก./ลบ.ม. : อากาศที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพทุกคน ส่งผลกระทบต่อหัวใจและปอดได้
ผลจากการรวบรวมข้อมูลค่าฝุ่น PM 2.5 จำนวน 1,826 วัน (5 ปี) ในกรุงเทพฯ มีดังนี้
- วันที่อากาศสะอาด 425 วัน คิดเป็น 23.27%
- วันที่อากาศเริ่มมีปัญหากับคนทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง 1,228 วัน คิดเป็น 67.2%
- วันที่อากาศไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ 65 วัน คิดเป็น 3.56%
- วันที่ไม่มีข้อมูลค่าฝุ่น PM 2.5 108 วัน คิดเป็น 5.91%
หากเทียบให้เห็นภาพ โดยเฉลี่ยแล้วปีหนึ่งคนกรุงเทพฯ สูดอากาศสะอาดสะอาดเพียงปีละ 85 วันเท่านั้น คิดเป็นระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือนเต็ม หรือหากเทียบอีกแบบจะพบว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ได้อยู่กับอากาศสะอาดเฉลี่ยวันละแค่ 5.35 ชั่วโมงเท่านั้น
ขณะเดียวกัน คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับวันค่าฝุ่น PM 2.5 ระดับสีแดงแจ๋อันตรายต่อสุขภาพสูงถึง 65 วันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบเท่ากับการสูดมลพิษเข้าปอดราว 2 เดือนนิดๆ
ส่วนแต่ละปีมีจำนวนวันที่อากาศสะอาด และจำนวนวันที่อากาศไม่ปลอดภัย ดังนี้
- 2566 อากาศสะอาด 62 วัน อากาศไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ 277 วัน
- 2565 อากาศสะอาด 83 วัน อากาศไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ 274 วัน
- 2564 อากาศสะอาด 74 วัน อากาศไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ 217 วัน
- 2563 อากาศสะอาด 134 วัน อากาศไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ 232 วัน
- 2562 อากาศสะอาด 72 วัน อากาศไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ 293 วัน
หมายเหตุ: WHO กำหนดค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพไว้ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
จะเห็นว่าปริมาณอากาศสะอาดแต่ละปีมีแนวโน้มใกล้เคียงไม่ต่างจากเดิมนัก ยกเว้นในปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่นำมาสู่การล็อกดาวน์และอาจทำให้กิจกรรมก่อมลพิษลดลงจนจำนวนอากาศสะอาดเพิ่มสูงขึ้น และในปี 2566 ที่จำนวนอากาศสะอาดลดลงจากปีก่อนถึง 21 วัน
ส่วนปริมาณอากาศที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เกินค่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ก็คล้ายกัน อาจลดลงต่ำในช่วงปีโรคระบาด แต่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา
อนาคตร่างกฎหมายอากาศสะอาด
5 ปีที่ผ่านมา มีการผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาดในรัฐสภาจากทั้งภาคประชาชนและภาคการเมือง ในรัฐสภาชุดที่แล้วเองก็มีร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่พิจารณายังไม่แล้วเสร็จ จนการประกาศยุบสภาชุดก่อนและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ไม่ทันใน 60 วันทำให้กฎหมายอากาศสะอาดที่ค้างท่อต้องตกไป
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ เพื่อประชาชนแล้ว โดยเป็นร่างกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกปี และกำลังเตรียมเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไปในวันที่ 11 มกราคมนี้ สอดคล้องกับนโยบายจัดการฝุ่น PM 2.5 ที่เพื่อไทย พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เคยหาเสียงไว้ว่าจะแก้ปัญหา
นอกจากร่างอากาศสะอาดฉบับรัฐบาล ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.ก้าวไกล เผยผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวด้วยว่า มีร่างที่รอพิจารณาทั้งหมดทั้งหมด 7 ร่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือร่างอากาศสะอาดฉบับก้าวไกลและฉบับประชาชน
หวังว่านี่จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เราจะได้เห็นกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อคุ้มครองสิทธิในการหายใจของเราเร็วๆ นี้
อ้างอิงข้อมูลจาก