บิ๊กโจ๊ก–พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ชื่อของ อดีตรอง ผบ.ตร. ที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้ง เพิ่งสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา
การจบการศึกษาย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 มีรายงานว่า ศาลอาญาได้ออกหมายจับคนสนิท ‘บิ๊กโจ๊ก’ กรณีร่วมแก๊งโกงข้อสอบ โดยลักลอบนำข้อสอบออกมาให้คนอื่นทำ แล้วจึงส่งกลับให้ลอก
The MATTER ชวนมาทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ระหว่างรอการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมไปด้วยกัน
- บิ๊กโจ๊ก – พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. ได้เข้าศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาในปีการศึกษา 2566 และเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ในปี 2567
- หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต (นอกเวลาราชการ) เป็นหลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่นิติศาสตร์มาแล้ว เพื่อเข้าศึกษานอกเวลาราชการ และได้รับปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิตอีกใบหนึ่ง โดยใช้เวลาในการเรียนรวมทั้งหมด 3 ปีการศึกษา
- จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ คาดว่ามาจากการมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในการสอบของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โดยกล่าวหาว่ามีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษในการสอบ
- กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ ได้รับมอบหมายให้ทำการสืบสวนในคดีนี้ โดยได้ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบ รวมถึงข้อสอบ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบ.ตำรวจไซเบอร์ แถลงเมื่อ 23 เมษายน 2568 ว่า จากการสืบสวน พบว่ามีนายตำรวจคนสนิทของบิ๊กโจ๊กมาช่วยประสาน มีหลักฐานเป็นการพูดคุย และพบเส้นทางการเงินโอนระหว่างผู้ต้องหาหญิงในคดีเว็บการพนันมาให้กับผู้ต้องหาในคดีนี้ จำนวน 5 ครั้ง เป็นเงิน 3-4 แสนบาท จึงสันนิษฐานว่ามีขบวนการลักลอบนำข้อสอบออกมาให้กับอดีตบิ๊กตำรวจนายนี้
- จากการสืบสวน พบหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาคนสำคัญ คือ ดร.ขนิษฐา เลิศบรรเจิดวงศ์ หรือ ดร.นิด
- 22 เมษายน 2568 ศาลอาญา กรุงเทพใต้ ได้อนุมัติหมายจับ ดร.นิด ในข้อหาร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 โดยตำรวจไซเบอร์จับกุมตัวได้แล้วที่บ้านพัก
- ข้อกล่าวหาหลักคือ ดร.นิด มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำข้อสอบของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไปให้กับบิ๊กโจ๊ก เพื่อช่วยเหลือในการสอบ
- สำหรับวิธีการโกงสอบนั้น ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการยืนยัน ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า บิ๊กโจ๊กจะขอเลื่อนสอบไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลว่าติดภารกิจราชการ จนเหลือตนสอบเดี่ยว แล้วจึงสร้างสถานการณ์ให้ ดร.นิด ลักลอบไปนำข้อสอบออกมาให้นักกฎหมายชื่อ ‘นายอู๊ด’ เฉลย เมื่อได้รับเฉลยมา ก็ให้คนลักลอบนำเฉลยคำตอบไปให้ถึงที่โต๊ะ เสมือนในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’
- 23 เมษายน 2568 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก โต้ตอบถึงกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ระบุว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทั้งกรณีนี้และกรณีอื่น พร้อมยืนยันถึงมาตรฐานการจัดการศึกษา การให้ปริญญา และคุณภาพของบัณฑิต
- นอกจากนั้น ยังพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนอย่างเต็มที่ โดยคณะได้รับการประสานจากตำรวจไซเบอร์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 และให้ความร่วมมือในการแสวงหาและรวบรวมหลักฐาน
- 24 เมษายน 2568 ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “เมื่อถึงเวลาที่ความจริงปรากฏชัดพร้อมด้วยพยานหลักฐาน แน่นอนว่า บัณฑิตผู้ใดได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยไปด้วยโดยการทุจริต การเพิกถอนปริญญาเป็นผลที่ต้องติดตามมาโดยไม่ต้องสงสัย มั่นใจว่าคณะนิติศาสตร์จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยความรอบคอบ”
- ในระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัยว่าด้วยระบบการศึกษาขั้นปริญญาบัณฑิต พ.ศ.2540 ประกอบกับข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2551 ไม่มีการบัญญัติชัดเจนกรณีเพิกถอนปริญญา
- แต่ในปี 2553 จุฬาฯ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหารือในประเด็นดังกล่าว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุคำตอบใจความว่า หากมหาวิทยาลัยอนุมัติให้ปริญญา เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว แต่ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงที่ทำให้บุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติ ทำให้การที่มหาวิทยาลัยอนุมัติการให้ปริญญาแก่บุคคลนั้นมิชอบ ก็ย่อมมีอำนาจเพิกถอนมติที่ให้การอนุมัติได้
- ขณะนี้จึงยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม โดยยังไม่มีการตั้งข้อหากับ บิ๊กโจ๊ก แต่อย่างใด และเป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อไปว่าศาล ตำรวจ หรือคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จะมีการจัดการอย่างไรต่อ
อ้างอิงจาก