หลังจากเมื่อวาน (12 กันยายน) มีคลิปวิดีโอที่รถขนส่งผู้ต้องขังของเจ้าหน้าที่ขับรถชนผู้ชุมนุมรายหนึ่งบริเวณแยกดินแดง ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะปลิวด้วยแรงกระแทกไปกว่าสองเมตร และล้มลงกระแทกกับพื้นถนน โดยจากการประเมินเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฐมพยาบาลผู้ชุมนุมบาดเจ็บที่คาง ต้องใส่เฝือกที่ลำคอ ก่อนถูกพาตัวไปโรงพยาบาลราชวิถี
และในวันนี้ (13 กันยายน) ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกแถลงยืนยันว่าคนที่ขับชนคือเจ้าหน้าที่ตำรวจของนครบาลจริง และแถลงเหตุการณ์ว่า เจ้าหน้าที่จำต้องขับรถออกมาจากที่เกิดเหตุ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมรุมทุบตีรถผู้ต้องขัง และหลังจากที่ชนแล้ว เจ้าหน้าที่ได้มองกลับไป และเห็นว่าผู้ที่ถูกชนไม่มีอาการร้ายแรง จึงขับต่อมาจอดที่ รพ.พระมงกุฏฯ
The MATTER ติดต่อพูดคุยกับ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และความเป็นไปได้ของรูปคดี
ในคดีอาญา ลำดับแรกต้องดูที่เจตนา
อาจารย์นิติศาสตร์กล่าวว่า “ถ้าดูตามคลิปวีดีโออย่างเดียว ต้องดูเจตนาจากที่รถยนต์พุ่งเข้าชนอีกฝั่งหน่ึงที่เป็นคน และโดยหลักการตามแนวที่พิจารณากันมา การนำรถยนต์พุ่งเข้าชนคือเจตนาฆ่า อย่างน้อยต้องเล็งเห็นผล มันเหมือนการยิงปืนเข้าไปในที่ชุมชน รถยนต์มันเป็นของใหญ่และรุนแรง บาดเจ็บล้มตายได้ และชนโดยไม่หยุดมาดู มันคือเจตนาฆ่า”
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ระบุว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี
และเมื่อเราดูเจตนาแล้ว ต่อมาคือเราต้องดูผลของการกระทำ ซึ่งขณะนี้ผู้บาดเจ็บยังคงอยู่ในโรงพยาบาล ผลจึงยังไม่ชัดเจนนัก แต่ในกรณีที่ผู้บาดเจ็บไม่ตาย เมื่อมีเจตนาในการฆ่าแต่ไม่สำเร็จผลจึงเข้าข่ายพยายามฆ่า และต้องไปดูกฎหมายอาญามาตรา 80 ประกอบ
กฎหมายอาญามาตรา 80 ระบุว่า ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ถือว่าผู้นั้น ‘พยายามกระทำความผิด’ ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น หรือกล่าวคือ โทษสองในสามส่วนจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288
แต่รูปคดีสำคัญไม่แพ้กัน
เข็มทองตั้งข้อสังเกตต่อว่า “มันจะยากขึ้นถ้ามีเหตุการณ์อย่างอื่นเข้ามา เช่น คำอธิบายว่าผู้ชุมนุมเข้ามาทุบรถเจ้าหน้าที่ก่อน ทำให้ต้องมาดูต่อว่าตกลงมีข้อยกเว้นอะไรบ้างหรือเปล่า”
“มาตรา 67 ระบุว่า ถ้าเขาไม่ได้ตั้งใจชน แต่ขับหนีด้วยความรีบเร่งจนมาชนผู้ชุมนุมอีกคนที่ตัดหน้ารถ มันอาจเป็นการกระทำโดยจำเป็น ด้วยความสุดวิสัย จะฟังขึ้นไม่ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมคิดว่าตำรวจกำลังสร้างคำอธิบายชุดนี้”
“หรือในมาตรา 69 ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้”
มาตรา 67 ในกฎหมายอาญาระบุไว้ว่า ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น (1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน และถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 68 ระบุว่า ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
มาตรา 69 ระบุว่า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 และ 68 ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้
“มันเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่จะไม่รับโทษ มันอยู่ที่สองฝ่ายจะบรรยายฟ้องเหตุความจำเป็นของตัวเองอย่างไรในชั้นศาล เราอาจมองว่าชนแล้วก็ต้องผิดสิ แต่เมื่อกระบวนการกฎหมายมาถึงชั้นว่าความ สองฝ่ายต้องสู้กัน”
“เราต้องยอมรับว่าตำรวจชำนาญกฎหมาย และดูจากที่ออกมาแถลงการณ์ก็รู้แล้ว ว่าเขาจะไปทางอ้างเหตุความจำเป็นต่างๆ ให้ศาลเห็น”
“ตรงนี้ มันอยู่ที่ข้อเท็จจริงเลย ที่ยากคือทุกเหตุการณ์ถ้าไม่มีสื่อมวลชนอยุ่ตรงนั้น หรือมีไม่ครบทุกด้านทุกมุม มันเป็นความได้เปรียบของฝั่งผู้กล่าวอ้าง เพราะไม่มีพยานมายันตรงนั้น นี่เป็นปัญหาของการควบคุมสื่อมวลชน”
ควางหวังให้คนผิดรับโทษ คือภาพสะท้อนของกฎหมายที่พิกลพิการ
เข็มทองกล่าวต่อว่า “ถ้าดูจากแนวบรรทัดฐานที่ผ่านมายากมาก (ที่เจ้าหน้าที่จะรับโทษ) เพราะที่ผ่านมา มันก็จบแบบงงๆ ตลอด มีการนิรโทษกรรมหรืออ้างว่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุ้มครองเจ้าหน้าที่อยู่”
เข็มทองยอมรับว่า ผ่านสายตาของเขาเป็นไปได้ยากมากที่เจ้าหน้าที่ที่กระผิดจะต้องรับโทษ เพราะที่ผ่านมาระบบความยุติธรรมและกฎหมายไทยถูกใช้อย่างลั่กลั่น มึนงง และโล้เอียง
“นอกจากเคสนี้ ยังมีเคสคราวก่อนที่เจ้าหน้าที่ขับรถไล่ชนผู้ชุมนุม ถีบมอเตอร์ไซค์ล้ม หรือจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว และขยายวงไปถึงคนบริสุทธิ์ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางบนแฟลตดินแดง”
“พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ให้อำนาจไปกดดันผู้ชุมนุมขนาดนั้น มันต้องได้สัดส่วน และต่อให้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างไร หลักการใหญ่ที่สุดของกฎหมายคือรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุถึงสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลัก การใช้อำนาจต่างๆ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ”
“แต่นี่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเต็มที่ มันบอกสภาวะความเป็นจริงว่า กฎหมายไม่ถูกใช้อย่างเสมอภาค แล้วจะไปโทษศาลฝั่งเดียวก็ไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมมันมีหลายฝ่ายก่อนไปถึงศาล พอบิดเบี้ยวคนละนิดละหน่อย การรับผิดก็ไม่เกิด ฉะนั้น ถ้าโครงสร้างการเมืองยังเป็นแบบนี้ โอกาสเอาผิดยากมาก
อาจารย์นิติศาสตร์จุฬาฯ กล่าวต่อว่า สุดท้ายการเมืองจึงต้องนำหน้ากฎหมาย กล่าวคือ กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือที่รับใช้ระบอบปกครองอีกทีหนึ่ง
“กฎหมายสร้างขึ้นบนฐานของระบอบปกครองนั้นๆ ถ้าความคิดการเมืองเปลี่ยน ระบอบกฎหมายมันก็จะขยับตาม กฎหมายไม่มีทางนำการเมือง มันตามตลอด”
“นักกฎหมายเอาแต่บอกว่าต้องยึดกฎหมายๆ แต่คนที่ไปชุมนุมเขารู้ว่ากฎหมายมันไม่เป็นธรรม พอการเมืองไม่ขยับอ้างกฎหมายยังไงก็เสียเปรียบ ทำให้เขาต้องออกไปทำอะไรนอกกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนทางการเมือง
ถ้าในสังคมที่เป็นธรรม คดีที่หลักฐานชัดเจนขนาดนี้ สังคมอาจไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัยและติดตามคดีอย่างใกล้ชิดมากนัก เพราะกระบวนการยุติธรรมจะยื่นความถูกต้องให้เอง
แต่ในสังคมที่ตาชั่งเอียงขวา และผู้ถืออำนาจเป็นเจ้าของตาชั่ง สิ่งเดียวที่สังคมและประชาชนทำได้คือ ‘จับตาดู’
อ่านบทสัมภาษณ์ เข็มทองใน The MATTER ได้ที่:
อ้างอิง:
Illustrator By Waragorn Keeranan