ผู้หญิงในเกาหลีใต้กำลังอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว
2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่า ใน Telegram มีกลุ่มแชทที่ใช้ส่งต่อรูปและและวิดีโอ ‘อนาจาร’ ผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ ซึ่งถูกคนร้ายใช้เทคโนโลยี Deepfake ในการสร้างรูปและวิดีโอปลอมขึ้นมา จนกลายเป็นกระแสความหวาดกลัว และถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก
เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นที่ตรงไหน Deepfake คืออะไร และมันจะส่งผลอย่างไรต่อไป? The MATTER ชวนไปทำความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นกัน
- ก่อนหน้านี้ไม่นาน สื่อหลายแห่งในเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มแชททาง Telegram จำนวนมากที่สมาชิกสร้าง และแชร์ภาพเนื้อหาทางเพศที่ใช้ Deepfake สร้างขึ้น โดยหลังจากมีการเปิดเผย ก็พบว่ามีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากกว่า 500 แห่งที่มีนักเรียนสร้างกลุ่มแชทแบบนี้ขึ้น โดยบางกลุ่มมีสมาชิกมากถึงหลักพันคน และมากที่สุดกว่า 220,000 คน
- Deepfake คืออะไร? มันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รูปแบบหนึ่ง ที่สามารถสร้างสื่อทั้งภาพนิ่ง เสียง และภาพเคลื่อนไหวได้เสมือนจริง โดยเรียนรู้จากข้อมูลลักษณะของบุคคล หรือที่พบได้บ่อย คือการ ‘สวมหน้า’ ลงไป เช่น อัปโหลดรูปใบหน้าของคนดัง และออกมาเป็นคลิปวิดีโอคนคนนั้นกำลังมีกิจกรรมทางเพศได้
- ผู้เสียหายมีทั้งคนมีชื่อเสียง และคนรู้จักของผู้ชายเหล่านั้น ทั้งเพื่อนร่วมชั้น ครู หรือแม้แต่คนในครอบครับ จำนวนผู้เสียหายยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าหลายคนมีอายุต่ำกว่า 16 ปี (Age of Consent หรืออายุความยินยอมของเกาหลีใต้) เช่นเดียวกันกับผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุ ที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น
- ไม่เพียงแต่ผู้หญิงเกาหลีใต้เท่านั้นที่ตกเป็นผู้เสียหาย โดยมีการเปิดเผยว่า มีห้องแชทที่ใช้ส่งต่อสื่ออนาจารของผู้หญิงประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะด้วย โดยขณะนี้พบห้องสำหรับผู้หญิงเวียดนาม
- ผู้หญิงเกาหลีใต้ต่างลบรูปภาพของตนเองออกจากโซเชียลมีเดีย หรือปิดการใช้งานบัญชีทั้งหมด เนื่องจากกลัวว่าจะถูกนำรูปไปใช้ทำ Deepfake “เราผิดหวังและโกรธที่ต้องมาปรับพฤติกรรมใช้โซเชียลมีเดียของเรา ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย” อาอึน นักศึกษาคนหนึ่งซึ่งมีเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยเป็นผู้เสียหายกล่าว
- อาอึนกล่าวว่า ผู้เสียหายรายหนึ่งในมหาวิทยาลัยของเธอ ถูกตำรวจบอกว่าจะไม่ให้ติดตามความคืบหน้าของคดี เพราะการจับผู้ก่อเหตุนั้นยากเกินไป และนั่นยัง ‘ไม่ใช่ความผิดจริงๆ’ เพราะ ‘รูปภาพเหล่านั้นเป็นของปลอม’
- ข้อกังวลหนึ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้คน คือเมื่อมีการส่งต่อรูปเหล่านี้เป็นกลุ่มแชทขนาดใหญ่ ก็อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ หรือก่ออาชญากรรมทางเพศในชีวิตจริงได้
- ตำรวจเกาหลีใต้เผยว่า จำนวนคดีอาชญากรรมทางเพศในรูปแบบ Deepfake ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024 พุ่งสูงถึง 297 คดี โดยเพิ่มขึ้นจาก 180 คดีในปี 2023 และ 160 คดีในปี 2021 โดยผู้เสียหายและผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น
- เกาหลีเคยเผชิญกับวิกฤตนี้มาก่อนแล้ว ในปี 2019 โดยมีเครือข่ายค้าประเวณีใช้ Telegram สร้างและแชร์ภาพอนาจารของผู้หญิงและเด็ก โดยตำรวจในขณะนั้นขอความช่วยเหลือในการสืบสวนจาก Telegram แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ แต่ในที่สุดผู้กระทำก็ถูกตัดสินจำคุก 42 ปี
- ตามรายงานเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารแบบ Deepfake ทั่วโลกในปี 2023 โดย Security Hero บริษัทในสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นด้านการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลประจำตัว ระบุว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของสื่อลามกอนาจารแบบ Deepfake มากที่สุด จากบุคคลที่ปรากฏอยู่ในสื่อลามกอนาจารแบบ Deepfake ทั้งหมดทั่วโลก มีนักร้องและนักแสดงเกาหลีใต้มากถึง 53%
- หน่วยงานกำกับดูแลและตำรวจของเกาหลีใต้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าจะปราบปรามการทำ Deepfake ที่แสวงหาประโยชน์ทางเพศ พร้อมเรียกร้องให้ Telegram และบริษัทโซเชียลมีเดียอื่นๆ ให้ความร่วมมือ
- การปราบปรามเรื่อง Deepfake ทางเพศของเกาหลีใต้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ที่เกิดในรัสเซีย ถูกจับกุมที่ฝรั่งเศส จากการปล่อยให้กลุ่มอาชญากรใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันในการกระทำผิดต่างๆ
- หน่วยงานกำกับดูแลสื่อของเกาหลีใต้ ขอให้เจ้าหน้าที่ในฝรั่งเศสให้ความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ Telegram และอำนวยความสะดวกในการสื่อสารโดยตรงกับผู้ดูแล Telegram
- รัฐบาลเกาหลีใต้กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาว่า จะผลักดันกฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อให้การซื้อหรือการรับชมภาพอนาจารที่แสวงหาประโยชน์ทางเพศเป็นความผิดทางอาญา
- ตำรวจเกาหลีใต้กำลังวางแผนปราบปรามอาชญากรรมทางเพศในโลกดิจิทัลให้สำเร็จภายใน 7 เดือน โดยจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่กำกับดูแลที่คอยตรวจสอบเรื่องนี้ และจะจัดตั้งสายด่วน 24 ชั่วโมงสำหรับให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย
- “สาเหตุหลักของเรื่องนี้คือการแบ่งแยกทางเพศเชิงโครงสร้าง และวิธีแก้ไขคือความเท่าเทียมทางเพศ” กลุ่มสิทธิสตรี 84 กลุ่มระบุในแถลงการณ์ โดยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอกยอล (Yoon Suk Yeol) ซึ่งไม่มีวิสัยทัศน์ต่อการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศ และยังยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศของรัฐบาลอีกด้วย
- ไม่ใช่แค่ในเกาหลีใต้เท่านั้นที่กำลังเผชิญปัญหาอาชญากรรมทางเพศบนโลกออนไลน์ หลังมีการเปิดเผยเรื่องนี้ ผู้ใช้ X (X; Twitter) ในประเทศไทยก็นำมาพูดถึงว่า ในไทยเองก็มีปัญหากลุ่มแชทส่งต่อรูปและวิดีโออนาจารในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
- หลังจากนี้จึงจะต้องติดตามมาตราการแก้ไขปัญหาของเกาหลีใต้ รวมถึงในไทยต่อไป ว่าจะสามารถจัดการกับเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว จนเจ้าหน้าที่อาจะควบคุมได้ไม่ทันหรือไม่?
อ้างอิงจาก