หลายคนน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับ ChatGPT รวมทั้ง AI หลากหลายรูปแบบที่ขยันเปิดตัวกันมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 โดยข้อมูลจาก ark-invest.com ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุน AI training ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างโมเดล GPT-3 ที่มีต้นทุนลดลงจาก 4.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 มาเป็น 450,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022
แต่นอกจาก ChatGPT ตอนนี้มี AI รูปแบบไหนและมีฟังก์ชั่นอะไรที่น่าสนใจบ้าง เรารวบรวม 7 ตัวอย่างมาในบทความนี้แล้ว
แปลงข้อความเป็นรูปภาพ
เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเห็น AI ที่สามารถแปลงข้อความออกมาเป็นรูปภาพได้ เช่น DALL·E 2 โดย OpenAI เจ้าเดียวกับผู้สร้าง ChatGPT ตามมาด้วย Midjourney ที่กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์อยู่พักหนึ่ง แม้ในปี 2023 นี้ทั้ง DALL·E 2 และ Midjourney ได้ยุติการเปิดให้ใช้งานได้ฟรี แต่ข่าวดีคือเราจะเริ่มเห็นการการนำ AI ที่แปลงข้อความเป็นรูปภาพ มาปรับใช้แบบใกล้ตัวเรามากขึ้น อย่าง Canva ที่มีฟังก์ชั่น text to image ช่วยประหยัดเวลาในการค้นหารูปภาพที่ต้องการได้มากขึ้น
แปลงข้อความเป็นวิดีโอ
นอกจากแปลงข้อความเป็นภาพได้แล้ว ยังมี Make-A-Video ของ Meta ที่สามารถแปลงคำบรรยายออกมาเป็นคลิปแบบไม่มีเสียงและความยาวไม่เกิน 5 วินาที ส่วน Google ก็มีโครงการ Imagen สร้าง AI ที่แปลงข้อความให้เป็นวิดีโอเช่นเดียวกัน แต่ทั้ง 2 เจ้านี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบ โดยเฉพาะเรื่องการตรวจจับเนื้อหาสุ่มเสี่ยง รุนแรงและเป็นอันตราย ตอนนี้เลยมีแค่การเปิดตัวว่ากำลังพัฒนาอยู่นะ แต่ยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานกันจริงๆ อย่างเป็นทางการ
แปลงภาพ 2D ให้เป็น 3D
เทคโนโลยีจาก Instant NeRFs จาก NVIDIA สามารถแปลงภาพ 2 มิติ ให้เป็น 3 มิติ ได้ในเวลาไม่กี่วินาที โดยเราจะต้องถ่ายภาพนิ่งไว้จำนวนหนึ่งเพื่อฝึก AI ให้เรียนรู้และประมวลผลออกมาเป็นโมเดล 3 มิติ ซึ่ง AI นี้อาจปรับใช้กับการสร้างฉากในวิดีโอเกม เทคโนโลยีเมตาเวิร์ส ไปจนถึงการฝึกหุ่นยนต์ให้รับรู้ภาพวัตถุบนโลกจริงๆ ได้ โดยตอนนี้ยังเปิดให้ใช้งานได้ฟรี ในกรณีที่ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์
แปลงไฟล์เอกสารให้เป็นแชตบอตที่คุยกับเราได้
ไม่นานมานี้ หลายคนน่าจะเห็นแชตบอตใหม่ที่หน้าตาคล้าย ChatGPT แต่มีฟังก์ชั่นที่ต่างออกไป คือ สามารถอ่านไฟล์เอกสารแล้วตอบโต้กับเราได้ เหมือนเราได้นั่งคุยกับเอกสารฉบับนั้น อย่าง ChatPDF ที่สามารถอ่านไฟล์ PDF ได้ และ ChatDox ที่สามารถอ่านได้ทั้งไฟล์ PDF, DOCX, TXT และ CSV ซึ่งเจ้า AI นี้ทำได้ตั้งแต่สรุปเนื้อหาทั้งหมดของไฟล์ ไปจนถึงค้นหาข้อมูลและตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับไฟล์นั้นๆ
ทำนายโครงสร้างโปรตีนแบบ 3 มิติ
สำหรับ AI ที่น่าสนใจของสายวิทยาศาสตร์ คงจะเป็น AlphaFold เทคโนโลยีจาก DEEPMIND บริษัทลูกของ Alphabet โดย AlphaFold สามารถทำนายโครงสร้างโปรตีน 3 มิติได้ในเวลาแค่ไม่กี่วินาที จากเดิมที่มนุษย์เราใช้เวลานานนับปี ซึ่งการทำนายโครงสร้างโปรตีนแบบ 3 มิตินี้ สามารถนำไปปรับใช้กับการพัฒนายาและวัคซีนต่อได้ แถมยังทำได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ตรวจจับมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์
ยุคนี้นอกจากคอลเซ็นเตอร์แล้ว ยังมีมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายให้กับหลายองค์กร โดยรายงานของ FBI ระบุว่าการโจมตีทางอีเมลทำให้บริษัทต้องสูญเสียเงินถึง 43,000 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2021 เลยเริ่มมีเทคโนโลยีที่มาตอบโจทย์นี้ อย่าง ABNORMAL SECURITY ที่พัฒนา AI เพื่อตรวจจับและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ โดยเฉพาะทางอีเมล เช่น อีเมลที่เนียนๆ เป็นเพื่อนร่วมงาน แล้วแนบไฟล์/ลิงก์ที่เป็นอันตรายมาด้วย ส่วนอีกบริษัทที่น่าสนใจคือ SIGNIFYD ที่ใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งตรวจจับการโกงบนอีคอมเมิร์ซ
ตรวจจับอันตรายในโรงงาน
ส่วนเรื่องความปลอดภัยในชีวิตก็มี VOXEL ที่พัฒนา AI มาเพื่อตรวจจับอันตรายในโรงงานแบบเรียลไทม์ เช่น การรั่วไหล การเผลอเปิดประตูทิ้งไว้ หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ แล้วอาจเพิ่มความเสี่ยง/อันตรายได้ ซึ่งบริษัทที่นำ AI ของ Voxel ไปใช้งานรายงานว่า มีพนักงานที่บาดเจ็บลดลงถึง 77% นอกจากนี้เทคโนโลยีของ Voxel อาจนำไปปรับใช้กับการประหยัดพลังงานได้มากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น และแม้เราจะก้าวสู่ยุคที่เต็มไปด้วย AI ล้ำๆ หรือใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน แต่ AI ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความถูกต้องของข้อมูล รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิด อย่าง Midjourney เองก็เคยมีประเด็นที่คนนำภาพจาก Midjourney ไปปลอมแปลงจนเกิดข่าวปลอมขึ้นมา
ดังนั้น นอกจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องพัฒนาควบคู่กันไป คงจะเป็นเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้คนและสังคมในอนาคต
อ้างอิงจาก