ที่ผ่านมาหลายคนอาจได้ยิน กรณีที่ผู้ใช้สมาร์ตโฟน จากค่าย OPPO และ Realme เจอ ‘แอปฯ กู้เงินเถื่อน’ ที่ติดตั้งบนโทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว และไม่ได้ให้ความยินยอม แถมยังไม่สามารถลบการติดตั้งได้อีก
แม้ว่าล่าสุด หน่วยงานรัฐฯ หลายแห่ง จะเชิญตัวแทนจากทั้งสองบริษัทฯ มาหารือแล้ว แต่หลายคนยังคงสงสัยว่าที่มาที่ไปของกรณีนี้เป็นอย่างไร และแอปฯ ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานแค่ไหน
The MATTER ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่แรกจนถึงล่าสุด (13 มกราคม) ดังนี้
- ประเด็นนี้กลายเป็นที่สนใจมากขึ้น หลังเพจเฟซบุ๊กคุณลุงไอที รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล ที่ผู้ใช้สมาร์ตโฟน OPPO และ Realme หลายราย พบแอปพลิเคชันกู้เงิน ชื่อ ‘Fineasy’ และ ‘สินเชื่อความสุข’ บนโทรศัพท์ตัวเองโดยที่ไม่ได้โหลดมา
- ที่หลายคนกังวลใจคือ ผู้ใช้สมาร์ตโฟนดังกล่าว ไม่สามารถลบแอปฯ ดังกล่าวออกจากเครื่องด้วยตัวเองได้ แถมแอปฯ เถื่อนนี้ยังส่งข้อความแจ้งเตือน ที่เชิญชวนให้คนมากู้เงิน รวมถึงเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เช่น รายชื่อผู้ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์
- สำหรับ Fineasy สำนักข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า เป็นแอปฯ ที่ถูกติดตั้งมาตั้งแต่แรกซื้อ โดยมีการใช้ข้อมูลทางการเงิน แต่ก็เชิญชวนให้กู้เงินเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการแจ้งเตือนเปิดสินเชื่อ
- ในขณะที่แอปฯ สินเชื่อความสุขนี้ ไม่ได้ติดตั้งมาพร้อมกับสมาร์ตโฟนตั้งแต่แรก แต่หลังจากผู้ใช้อัปเดตเครื่อง แอปฯ นี้ก็โผล่มาบนโทรศัพท์แบบอัตโนมัติ และแม้ผู้ใหญ่จะลบแอปฯ แล้ว แต่เมื่ออัปเดตใหม่ แอปฯ นี้ก็จะโผล่มาอีกครั้ง
- อีกทั้งแอปฯ ทั้งคู่ พบแค่ในสมาร์ตโฟนบางรุ่น กล่าวคือเครื่องที่ราคาไม่สูง และเป็นรุ่นที่เริ่มเก่าแล้ว ทำให้เพจคุณลุงไอทีสังเกตว่า แอปฯ ดังกล่าวต้องการดึงดูดผู้ใช้บางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร จนถึงผู้มีรายได้น้อย
- นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้บริการหลายคนออกมาเล่าว่า แอปฯ นี้มีดอกเบี้ยสูงและไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ตอนแรก อีกทั้งเมื่อเข้าแอปฯ เพื่อทดลองกู้เงินแล้ว ผู้ใช้ต้องให้ความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว พร้อมที่อยู่ และต้องกรอกชื่อและเบอร์โทรของคนใกล้ชิด เพื่อเพิ่มวงเงินสินเชื่อ
- เมื่อวันที่ 11 มกราคม สภาองค์กรของผู้บริโภค ก็ออกมาเตือนผู้ใช้เกี่ยวกับแอปฯ ดังกล่าว โดยระบุว่า การแอบติดตั้งซอฟต์แวร์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้ นับเป็น ‘การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน’ พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐฯ ออกมาจัดการอย่างเร่งด่วน
- ทั้งนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคยังเตือนอีกว่า อาจเสี่ยงต่อการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การล่วงละเมิดทางการเงิน หรือการหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์
- จากนั้นบริษัท OPPO และ realme ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อกรณีที่เกิดขึ้น และชี้แจง พร้อมบอกว่ากำลังทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อจัดการกับปัญหานี้เร็วที่สุด
- นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังระบุว่าแอปฯ Fineasy ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคงไว้เฉพาะฟังก์ชันบริการเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเท่านั้น
- ช่วงเช้าวันนี้ (13 มกราคม) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บอกว่าจะเชิญตัวแทนจาก OPPO และ REALME รวมทั้งผู้ให้บริการแอปฯ ทั้งสอง เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว ณ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
- ขณะที่ จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าได้สั่งการด่วนให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเชิญตัวแทนจากทั้งสองบริษัทฯ ในวันพรุ่งนี้ (14 มกราคม)
- ช่วงบ่ายวันนี้ สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ตัวแทนจาก OPPO และ REALME เข้าชี้แจงต่อ กสทช. ซึ่งทั้งสองยอมรับว่าแอปฯ ดังกล่าวถูกติดตั้งมาจากโรงงาน และจะไปตรวจสอบกรณีนี้อีกครั้ง
- ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่าแอปฯ ดังกล่าว ยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตให้สินเชื่อส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย
- ต่อจากนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการควบคุม และปกป้องความปลอดภัยของผู้ใช้สมาร์ตโฟนจากทั้งสองค่ายอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก