“ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไปไฟเริ่มไหม้สบง” หลายวันมานี้ คลิปมุกตลก ‘หลวงปู่เค็ม’ ถูกแชร์กันมากมายในโลกออนไลน์ กับเรื่องราวหักมุม ที่กลายเป็นความสงสัยว่า หลวงปู่เค็มคือใคร แล้วมุกนี้มันเริ่มต้นจากไหนกันนะ?
The MATTER สรุปที่มาที่ไป และชวนกันมองเรื่องนี้ด้วยสายตา ‘จริงจัง’ โดยเฉพาะในแง่มุมที่สะท้อนถึงธรรมชาติคอนเทนต์ออนไลน์ ศิลปะของการเล่าเรื่องตลก รวมถึงค่านิยมไทย และวัฒนธรรมในวงการตลกบ้านเรา
1.) คลิปมุกหลวงปู่เค็มที่กำลังไวรัลกันในตอนนี้ คือส่วนหนึ่งของรายการ ‘ชิงร้อยชิงล้าน ว้าว ว้าว ว้าว’ ทางช่วง Workpoint โดยมีซีนตลกระหว่าง โก๊ะตี๋ อารามบอย กับ เท่ง เถิดเทิง
2.) ตามเรื่องราวที่โก๊ะตี๋เล่าในชิงร้อยชิงล้านนั้น หลวงปู่เค็มเป็นพระอาจารย์ซึ่งประจำอยู่ที่ ‘วัดเขาอีโต้ขว้างเป็ด’ (ในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้คือขว้างสัตว์ชนิดอื่น) และตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นต้องการแสดงอภินิหารให้กับผู้คนได้รับรู้
3.) และนี่คือส่วนหนึ่งของมุกหลวงปู่เค็ม ที่ทำให้คลิปนี้ไวรัลอย่างสุดๆ
“ตอนที่ยังไม่มรณภาพ หลวงปู่เค็มต้องการแสดงอภินิหารต่อหน้าศิษยาณุศิษย์ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน โดยการลุยไฟถ่านแดงๆ ยาวประมาณ 8 เมตร หลวงปู่เค็มยกมือขึ้นมา พุทธังอารธนานัง ธัมมังอารธนานัง สังฆังอารธนานัง”
“กองไฟยาวประมาณ 15 เมตร หลวงปู่เค็มก้าวลงกองไฟ ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไปไฟเริ่มไหม้สบง หลังจากนั้นหลวงปู่เค็มหงิกอยู่อย่างนี้ (ทำท่ามือหงิก) ใครเห็นก็ว่าตาย (ไม่ตาย? เท่ง ถาม) ตายสิ เหลือแต่กระดูกเชิงกรานเท่านั้นที่ยังไม่ไหม้”
“หลานชายไปนำเที่ยวกับเพื่อน พระองค์นี้สร้างจากกระดูกหลวงปู่เค็ม ไปทางเรือ ไปกว่า 50 คน เรือล่ม ตายหมด (แล้วหลานล่ะ) จมคนแรก”
4.) คลิปมุกตลกช่วงนี้เกี่ยวกับหลวงปู่เค็มจากโก๊ะตี๋ ได้กลายเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต โดยในเพจของ Workpoint Entertaniment นั้นมีคนดูไปแล้วกว่า 11 ล้านครั้ง (อัพโหลดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562) ส่วนในยูทูบก็เกือบ 2 แสนวิวหลังจากถูกอัพโหลดไปได้แค่วันกว่าๆ เท่านั้น
5.) แต่เอาเข้าจริงแล้ว มุกหลวงปู่เค็มไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียวนะ เพราะที่เราเห็นกันในรายการชิงร้อยชิงล้านนั้น เป็นเทปเดิมที่เดิมที่เคยออกอากาศมาแล้วเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 แต่กระแสดีมากจนทำให้เกิดการกลับมาตัดคลิปนี้เป็นการเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง
6.) มุกหลวงปู่เค็ม คือมุกตลกที่อยู่กับโก๊ะตี๋มานานแล้วเหมือนกัน เขาเคยเล่นมุขที่มีหลวงปู่เค็มเป็นตัวละครหลักหลายครั้ง
7.) เท่าที่เราพอสืบค้นมาได้ พบว่าโก๊ะตี๋ยังเคยพูดถึงเรื่องหลวงปู่เค็มในหนังเรื่อง ‘โปงลางสะดิ้ง ลำซิ่งส่ายหน้า’ ที่ฉายปี 2550 รวมถึงเรื่อง ‘โหดหน้าเหี่ยว 966 ฉายเมื่อปี 2552 ด้วยเหมือนกัน
8.) อย่างไรก็ดี โก๊ะตี๋ก็ไม่ใช่คนแรกที่เริ่มเล่นมุกหลวงปู่เค็ม เพราะตลกคนสำคัญอย่าง ‘หนู คลองเตย’ หรือ วันชาติ พึ่งฉ่ำ ก็เคยเล่นเมื่อนานมากๆ แล้วตั้งแต่ก่อนปี 2548
“กองไฟยาวประมาณ 10 เมตร หลวงปู่เค็มก้าวไปในกองไฟ ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไปไฟเริ่มไหม้สบงหลวงปู่เค็ม ต่อจากนั้นหลวงปู่เค็มถูกไฟคลอกตายคากองไฟ” หนู คลองเตย เล่าบนเวทีตลก
9.) โอเค ต่อจากนี้เราจะชวนสำรวจเรื่องจากมุกตลกหลวงปู่เค็มในมุมที่ ‘จริงจัง’ มากขึ้นนะ
เริ่มต้นจากข้อเท็จจริงที่เรามีว่ามุกหลวงปู่เค็ม เป็นมุกที่ตกทอดกันมาเรื่อยๆ ในวงการตลกไทย แม้ไม่รู้ว่าใครเป็นคนแรกที่เล่นมุกนี้ แต่ หนู คลองเตย ก็น่าจะเป็นศิลปินคนสำคัญที่ทำให้คนรู้จักหลวงปู่เค็ม จึงน่าจะสะท้อนถึงวัฒนธรรมในวงการตลกไทยได้ไม่น้อยเลย ว่าการเล่นมุกต่างๆ นั้นมาจากวิธี ‘ครูพักลักจํา’ รวมถึงการสอนและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
10.) ประเด็นต่อมาคือ รูปแบบของมุกตลกหลวงปู่เค็ม ที่สื่อถึงความเชื่อของคนไทยที่อินกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ และอภินิหารต่างๆ ของพระและนักบวชมาอยู่เสมอๆ และด้วยความที่มันเป็นมุขแบบ ‘หักมุม’ หรืออภินิหารของหลวงปู่เค็มที่ไม่ได้มีจริง ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มุกมันตลกขึ้น
หรือถ้าพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ หลายๆ คนตลกกับมุกหลวงปู่เค็มเพราะอภินิหารของหลวงปู่เค็มไม่มีจริงตามที่คนเล่าได้โปรยไว้
ขณะเดียวกัน รูปแบบของมุกทำนองนี้ ยังเป็นศิลปะของการเล่นกับความคาดหวังจากผู้ฟังด้วย คือก็ลุ้นกับทั้งคนที่รอฟังว่าสรุปแล้วจะมีอภินิหารจริงๆ อย่างไร กับคนที่รู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ไม่จริง แต่ก็พร้อมกลั้นหัวเราะรอ เพื่อจังหวะสรุปในมุก
11.) บทความในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมที่ชื่อว่า ‘วัฒนธรรมตลกร่วมสมัย ตลกคาเฟ่กับตลกปัญญาชน มองปรากฏการณ์กระจก 6 ด้าน’ เคยพูดถึงเรื่องสไตล์ตลกคาเฟ่ไทย และภาพลักษณ์ของตลกแต่ละคนไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ส่วนตลกคาเฟ่อาจเรียกได้ว่าตลกเสรีนิยมวัตถุนิยม เพราะตลกกลุ่มนี้จะขายบันเทิงผ่านชีวิตประจําวันใกล้ตัว มีการเสียดสียั่วล้อให้ดูโง่เหลวไหล พวกเขาแสดงเพื่อให้เกิดความบันเทิงเป็นหลัก แต่การบันเทิงนี้เองอาจกลายเป็นภาพลักษณ์ของตัวเองที่ขายได้”
เรื่องราวที่เป็นสิ่งใกล้ตัว และคนสามารถเชื่อมโยง-นึกภาพตามได้ง่าย จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มุกตลกๆ ในไทยได้รับเสียงหัวเราะ นี่คือสิ่งที่เราเห็นได้จากวัฒนธรรมของตลกไทย
12.) มุกหลวงปู่เค็มในโลกออนไลน์ ยังได้บ่งชี้ถึงพลังของคอนเทนต์ ที่เมื่อมันโดนใจคนแล้ว มันก็สามารถกระจายตัวออกไปได้อย่างรวดเร็วด้วยเหมือนกัน นี่อาจจะสำคัญต่อการศึกษาเรื่องการตลาดในโลกออนไลน์ว่า ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไวรัลแล้ว ถ้ามันถูกต่อยอดเป็นสตอรี่อื่นๆ เพิ่มเติมก็อาจทำให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น (รวมถึงการพยายามสืบหากันว่า หลวงปู่เค็มมีตัวตนจริงๆ ไหม หรือวัดเขาอีโต้มีจริงรึเปล่า บ้างก็วาดหลวงปู่เค็มขึ้นมาเป็นตัวการ์ตูนเลย)
13.) มุกตลกเกี่ยวกับหลวงปู่เค็มในตอนนี้อีกหลายๆ คลิป ยังถูกอัพโหลดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมุขในอดีตเมื่อหลายปีที่แล้ว หรือมุกที่ หนู คลองเตย เคยเล่นไว้เมื่อนานมาแล้ว
มันยังอาจจะสะท้อนได้ว่า ถ้าคอนเทนต์ใดมันเข้าไปนั่งอยู่ในใจของคนได้เมื่อไหร่ มันก็อาจจะอยู่ในนั้นหลายต่อหลายปี แม้เวลาจะผ่านไป ก็ยังสามารถกลับคืนชีพมาโลดแล่นบนโลกออนไลน์ได้ใหม่อีกครั้ง ด้วยพลังของผู้คนในโชเชียลมีเดีย
14.) โซเชียลมีเดียจึงเป็นเหมือนพื้นที่ ที่ช่วยให้สิ่งที่เราอาจลืมไปแล้ว ได้กลับมาอยู่ในโลกปัจจุบันได้อีกครั้ง
แน่นอนว่า มุกตลกเกี่ยวกับหลวงปู่เค็ม มันเป็นเรื่องราวสมมติ ซึ่งถูกแต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิง และอภินิหารต่างๆ ของหลวงปู่เค็มก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่มันได้สะท้อนถึงลักษณะพิเศษของโลกออนไลน์ รวมถึงค่านิยมในสังคมไทย และวัฒธรรมในวงการตลกบ้านเราได้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000077450
https://www.silpa-mag.com/history/article_24923
https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_721360
https://www.facebook.com/watch/?v=435433900381489
https://www.youtube.com/watch?v=lnGfPJXxnc0
https://www.youtube.com/watch?v=rWQg1QG5JTA
#Recap #หลวงปู่เค็ม #TheMATTER