‘หมอ กับ เภสัชกร’ ถกเถียงกันเรื่องอะไร?
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจได้เห็นแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกหลายฉบับผ่านตาบนหน้าโซเชียลมีเดียกันอยู่บ้าง เป็นการโต้ตอบกันระหว่าง แพทยสภา กับ สภาเภสัชกรรม ถึงประเด็น ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ ที่ตาม ‘สิทธิบัตรทอง’ สามารถรรับยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ที่รับรองในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ ‘ฟรี’
แต่แล้ว แพทยสภากลับยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้ ‘หยุดและทบทวน’ โครงการนี้ใหม่อีกครั้ง ด้วยมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน จนกลายเป็นมหากาพย์ข้อถกเถียง ที่จนถึงขณะนี้ (22 พฤศจิกายน 2567) มีแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกออกมาแล้วรวม 4 ฉบับ และยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นตรงกลางระหว่างทุกฝ่ายแต่อย่างใด
แถลงการณ์และจดหมายแต่ละฉบับพูดถึงประเด็นอะไรบ้าง หมอและเภสัชกรทั่วไปมีความเห็นอย่างไร และเรื่องนี้จะกระทบเราอย่างไรต่อไป The MATTER สรุปให้
- เรื่องเริ่มต้นจาก ‘ร้านยาชุมชนอบอุ่น’ หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรในร้านยาที่อยู่ใน สปสช. ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกโดยย่อว่า ‘โครงการ’ ที่เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2565 ถึงปัจจุบัน และตั้งแต่ 3 กันยายน 2567 เป็นต้นมา สปสช. ยังได้ขยายกลุ่มอาการ รวมเป็น 32 อาการ
- โครงการนี้ เกิดขึ้นเพื่อให้บริการทางสาธารณสุขสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้สะดวกขึ้นในกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ทั้งยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย
- ความแตกต่างของร้านยาในโครงการจากร้านยาทั่วไป คือ เภสัชกรสามารถให้คำแนะนำประชาชนที่มีอาการหรือเจ็บป่วยเบื้องต้น ติดตามดูแลอาการโรคเบื้องต้น หรือส่งต่อไปยังแพทย์เชี่ยวชาญ โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจะได้รับบริการยาและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- แต่จากการหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย คือ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม และ สปสช. กลับดูเหมือนว่าจะมีจุดที่มีความเห็นต่อการดำเนินการที่ไม่ตรงกัน จนแพทยสภา ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้หยุดการดำเนินการโครงการนี้ไว้ก่อน และขณะนี้ ศาลปกครองสูงสุดรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว
- 12 พฤศจิกายน 2567 สภาเภสัช จึงออกจดหมายเปิดผนึก ชี้แจงต่อกรณีที่แพทยสภาฟ้องศาลปกครองสูงสุดโดยเฉพาะ โดยมีใจความสำคัญที่ระบุว่า “ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่เภสัชกรทุกคนให้ความสำคัญสูงสุดเสมอ” หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการที่สมควรพบแพทย์ เภสัชกรก็จะส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
- นอกจากนั้น ยังยืนยันถึงมาตรฐานของร้านยาที่ร่วมโครงการ ว่ามีเภสัชกรที่มีความรู้ในการจ่ายยากลุ่มยาอันตราย และยาที่จ่ายเป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติยา) และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องอย่างการซักประวัติ โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา และอื่นๆ
- ในจดหมายเปิดผนึกยังระบุถึงประโยชน์ อย่างการช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่ายและทันเวลา ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะต้องไปโรงพยาบาล โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยรับบริการที่ร้านยาแล้ว 1.74 ล้านคน รวม 4.8 ล้านครั้ง และเภสัชกรชุมชนได้ให้คำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพถึง 1.05 ล้านครั้ง
- ตามมาติดๆ กับจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 โดยเน้นสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกันหลังประเด็นนี้เริ่มเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ยืนยันว่าการดำเนินการโดเภสัชกรนั้นถูกต้องตามกฎหมาย มีขั้นตอนซักประวัติคัดกรองอาการตามหน้าที่ และมิได้เป็นการก้าวล่วงวิชาชีพเวชกรรม
- โดยยังระบุว่า ก่อนหน้าที่จะเริ่มโครงการนี้ ก็มีการหารือร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายแล้ว ฝ่ายแพทยสภาเองก็เห็นด้วย
- 19 พฤศจิกายน 2567 แพทยสภาออกแถลงการณ์ตอบโต้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อเจตนารมณ์ในการฟ้องต่อศาลปกครอง โดยระบุว่า แม้โครงการนี้จะมีประโยชน์ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชน เพราะเป็นการจ่ายยาโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เพราะไม่ได้วินิจฉัยโรคก่อน เช่น แค่ปวดหัว แต่อาจเป็นอาการนำของเส้นเลือดในสมองแตก
- ดังนั้น เมื่อปัจจุบันยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลผู้ป่วยร่วมกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร จึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ ‘หยุดและทบทวน’ โครงการ
- 21 พฤศจิกายน 2567 ผู้แทนแพทยสภายืนยันในที่ประชุมหารือร่วมกับ รมว. สาธารณสุข และสภาเภสัชกรรม ว่า ในภาพรวมเห็นด้วยกับโครงการ แต่หลังมีประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมฯ จึงไม่เห็นด้วยกับการให้เภสัชกรจ่ายยาให้กับผู้มาขอรับบริการเฉพาะในบางกลุ่มอาการได้ เพราะมีความเสี่ยง
- รมว. สาธารณสุข ระบุว่า ได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพิจารณากำหนดกลุ่มอาการของความเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เภสัชกรจ่ายยาให้ได้ ซึ่งหากตกลงกันได้ ก็จะนำไปสู่การแก้ไขประกาศของ สปสช. ที่เกี่ยวข้องต่อไป
- ในวันเดียวกัน สภาเภสัชออกจดหมายเปิดผนึกฉบับ 3 ซึ่งยังเน้นย้ำถึงมาตรฐานที่เภสัชกรทำได้ คือการซักประวัติเพื่อจ่ายยาดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งทำมานานถึง 70 ปีแล้ว และเภสัชกรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยา
- และยังพูดถึงประเด็นร้อน ที่มีกรรมการแพทยสภาโพสต์ข้อความว่า “การฟ้องร้อง สปสช. และสภาเภสัชกรรมโดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัชกร จ่ายยา ตามบริบทเดิม แม้แต่น้อย” ซึ่งอาจตีความได้ว่า กรณีผู้ป่วยจ่ายเงินเอง ไม่ขัดข้อง แต่หาก สปสช. จ่ายค่าบริการแทนประชาชน แพทยสภากลับฟ้องร้องว่าไม่ปลอดภัย จนน่าตั้งข้อสังเกตว่าการฟ้องร้องนี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเพียงใด
- นอกจากนั้น จดหมายยังทิ้งท้ายให้แพทยสภาพิจารณาความปลอดภัยในการใช้ยาให้ครอบคลุมทั้งระบบ เช่น ใน ‘คลินิก’ ที่ฉลากยาไม่ระบุชื่อยาและรายละเอียด ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้หากมีปัญหาในการใช้ยา หรือผู้ที่ส่งมอบยาก็อาจมิได้มีความรู้เรื่องยา ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศสาธารณสุขอีกด้วย
- จากการโต้กันไปมาระหว่างสองฝ่ายนี้ มีทั้งประชาชนทั่วไป และคนในวิชาชีพที่ออกมาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบน Facebook และ X
- ด้านเภสัชกร เล่าถึงเนื้อหาที่ศึกษามา ว่าแม้ว่าเภสัชกรจะมีภาพจำว่าเชี่ยวชาญด้านยา แต่ก็ไม่ได้เรียนแค่เรื่องยาเดี่ยวๆ เท่านั้น ยังเรียนเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ว่ามีสัญญาณบ่งบอกอย่างไร และใช้แนวทางปฏิบัติเดียวกันทั้งประเทศ ว่าความเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือรุนแรงแค่ไหนจะต้องถึงมือหมอ
- ประเด็นคลินิกจ่ายยา เภสัชกรออกมาเล่าว่าเป็นปัญหาอย่างมาก ถึงขั้นที่มีกลุ่มแชทไลน์ ‘เภสัชทั่วไทยช่วยกันระบุชื่อยาเม็ด’ ที่มีสมาชิกกว่า 7,500 คน เพื่อช่วยกันหาชื่อยาที่คนไข้นำมาจากคลินิกมาสอบถาม โดยเป็นซองยาที่ไม่เขียนฉลาก และเป็นเม็ดยาแบ่งขาย ไม่มีแผงยา แล้วบางครั้งคนไข้ใช้แล้วเกิดอาการแพ้ เมื่อโทรกลับไปสอบถามทางคลินิกก็ไม่ได้รับคำตอบว่าเป็นยาอะไร
- ด้านแพทย์ จำนวนหนึ่งมาคอมเมนต์ใต้โพสต์ในเฟซบุ๊กของสภาเภสัชกรรมว่า แม้ตนจะเป็นแพทย์ แต่เห็นด้วยกับจดหมายเปิดผนึกของสภาเภสัชกรรม พร้อมส่งกำลังใจ
- เฟซบุ๊กเพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล ที่เจ้าของเพจเป็นแพทย์ และมีผู้ติดตามถึง 1.9 แสนคน ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า อาจมีระบบที่แพทยสภาไม่เห็นด้วย แต่ในที่ประชุมกลับเห็นตรงกันหมด และอาจเป็นประเด็นร้ายแรง จนถึงขึ้นที่จะต้องอาศัยอำนาจศาล
- ดังนั้นตนจึงพอเข้าใจถึงเจตนาอันดีของแพทยสภา แต่สำหรับคนทั่วไปและเภสัชกร อาจอ่านประกาศแล้วรู้สึกเหมือนบอกว่าเภสัชกรไม่มีความรู้มากพอ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดี และสะท้อนแนวทางความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน
- นอกจากนั้น กรณีที่ยกตัวอย่างมายังอาจไม่สมเหตุสมผล เช่น ที่ระบุว่าการปวดหัวอาจเป็นอาการนำไปสู่เส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งหากมีอาการเพียงเริ่มต้นเช่นนี้ ถึงเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็อาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ และถึงไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้ตรวจละเอียดทุกราย รวมถึงทำให้ผู้ป่วยที่อ่านแถลงนี้ อาจเกิดความกังวลในอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยมากยิ่งขึ้นได้
- สำหรับประชาชนทั่วไป ส่วนหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์เข้าใช้บริการร้านยาในโครงการ แล้วรู้สึกประทับใจ จากการซักประวัติและการบริการของเภสัชกร รวมถึงมีการติดตามอาการหลังทานยา
- และที่สำคัญ คือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้จริงๆ เพราะนอกจากความสะดวกแล้วนั้น ค่าแรงในปัจจุบันสวนทางกับค่าครองชีพ รวมถึงยาที่หลายรายการมีราคาแพง โครงการนี้จึงลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้มาก
- คนส่วนหนึ่งจึงมองในทางลบว่า ในเมื่อโครงการนี้ให้ประโยชน์กับประชาชน และยังให้ประโยชน์กับแพทย์ในด้านที่ลดความแออัดและลดภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาล ดังนั้นการออกมาฟ้องร้องครั้งนี้ เป็นเพราะแพทยสภาหรือแพทย์บางส่วนเสียประโยชน์อะไรหรือเปล่า เช่น คนไข้ไม่ไปคลินิก ทำให้เสียรายได้ในค่ายา
- หลังจากนี้จึงต้องติดตามต่อไปว่า ทิศทางความเห็นจากฝ่ายสปสช. แพทยสภา สภาเภสัชกรรม และประชาชน จะเป็นอย่างไร จะหาข้อสรุปได้หรือไม่ และศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งในทิศทางใดต่อไป
อ้างอิงจาก
#บัตรทอง #สปสช #แพทยสภา #สภาเภสัชกรรม #TheMATTER