ป่าแอมะซอนในฐานะ ‘ปอดของโลก’ ที่ผลิตออกซิเจนให้กับสิ่งมีชีวิตกำลังอยู่สถานการณ์วิกฤติ ตลอดปีที่ผ่านมานี้มีไฟไหม้ป่าไปแล้วอย่างน้อย 72,000 จุด กลายเป็นความวิตกกังวลจากคนทั่วโลกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
ไฟป่าในแอมะซอน เกิดจากอะไร? แล้วพวกเราที่แม้จะอยู่ห่างไกลสามารถช่วยเหลือหรือเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ้าง? The MATTER สรุปเรื่องราวต่างๆ ไว้ตามนี้นะ
1.) เริ่มกันที่สถานการณ์กันก่อน ข้อมูลจากสถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติบราซิล (INPE) ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคมนี้ มีการพบไฟป่าในแอมะซอนไปแล้วมากถึง 72,000 จุด ส่วนในช่วงวันที่ 15-21 สิงหาคมที่ผ่านมาก็มีไฟไปแล้วถึง 9,500 ครั้ง
2.) สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากๆ อยู่ตรงที่การเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในระลอกนี้ มันมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้วถึง 83 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการเกิดไฟป่ามันก็รุนแรงในระดับที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมสามารถจับภาพได้ นอกจากนั้น ควันจากไฟป่ายังลอยตัวเข้าไปถึงในเมืองใหญ่อย่าง เซา เปาโล
3.) ด้านองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) วิเคราะห์ว่า ถ้าหากสถานการณ์การหายไปของพื้นที่ป่าในแอมะซอนยังเป็นอย่างนี้ต่อไป พื้นที่ป่าแอมะซอนราวๆ 1 ใน 4 ก็จะกลายเป็นที่ว่างเปล่าในอีก 10 ปีข้างหน้า
4.) ส่วนในแง่สภาพแวดล้อมนั้น ด้วยความที่แอมะซอนเป็นเหมือนกับปอดของโลกที่ช่วยผลิตออกซิเจนให้โลกถึง 20 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ดังนั้น ถ้าหากพื้นที่ป่ายังคงหายไปอย่างนี้ ผลกระทบมันก็ต้องเกิดขึ้นกับโลกแน่ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย โดยเฉพาะกับการช่วยแก้ไขภาวะโลกร้อน
5.) คำถามคือ แล้วไฟป่าครั้งนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง? ทำไมมันถึงรุนแรงมากกว่าเดิมจนทั่วโลกต้องจับตา?
อันที่จริงแล้ว ในหลายปีที่ผ่านมาก็มีไฟป่าเกิดในแอมะซอนอยู่แล้วแหละ แต่ที่น่าเป็นกังวลกันคือในช่วงนี้มันรุนแรงขึ้นจากเดิมมาก
สำนักข่าว VOX ออกรายงานวิเคราะห์ว่า ในกรณีของแอมะซอนนั้น ไฟป่าถูกใช้เป็นวิธีการของผู้คนเพื่อขยายพื้นที่การทำเศรษฐกิจขนาดย่อมๆ ในป่า เช่นปศุสัตว์หรือทำเพาะปลูกต่างๆ ขณะเดียวกัน ขบวนการบุกรุกป่าแบบที่ผิดกฎหมาย ก็มักจะเผาป่าเพื่อ ‘ขับไล่’ คนพื้นเมืองในป่า (indigenous people) ออกไปด้วยเช่นกัน
6.) หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงนโยบายของประธานาธิบดีบราซิล ชาอีร์ โบลโซนาโร ที่เขาเคยมีจุดยืนว่าจะส่งเสริมการสร้างเงินและกำไรจากป่าแอมะซอนในพื้นที่ที่อยู่กับบราซิลมากกว่าเดิม พูดให้ชัดคือ โบลโซนาโร ค่อนข้างถูกตั้งคำถามว่ามีนโยบายเน้นไปที่การพัฒนาและกำไรทางเศรษฐกิจ มากกว่าเรื่องอนุรักษ์
7.) นับตั้งแต่โบลโซนาโรขึ้นสู่ตำแหน่ง กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมก็วิจารณ์นโยบายของเขามาโดยตลอดว่า เขาค่อนข้างปล่อยปละละเลยปัญหาการเผาป่าและทำลายป่าแอมะซอนที่เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
8.) สื่อต่างชาติอีกหลายสำนัก วิเคราะห์กันว่า ไฟป่าในบราซิลมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง และภาวะโลกร้อนก็คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่มันแห้งแล้งได้มากขึ้นกว่าเดิม จนก่อให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น
.
ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้มันบานปลายมากๆ ก็อาจจะมีส่วนมาจากฝีมือของมนุษย์เองด้วย ที่มักจะจุดไฟเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำปศุสัตว์ รวมถึงการเตรียมที่ดินเพื่อการเพาะปลูกในป่า และนโยบายของโบลโซนาโรที่ปล่อยปละละเลย จนเอื้อต่อการทำลายป่ามากเกินไป
“จริงอยู่ที่สภาพอากาศในฤดูแล้ง มันเอื้อต่อการเกิดและลุกลามของไฟป่า แต่จุดเริ่มต้นของไฟป่า มาจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ” อัลเบอร์โต เซตเซอร์ นักวิจัยประจำ INEP ระบุ
ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ มันก็จะหมายความได้ว่า ต้นเหตุของภาวะโลกร้อน (มนุษย์ทำลายป่า-เผาป่า) และผลลัพธ์ของภาวะโลกร้อน (พื้นที่แห้งแล้ง) มันก็มารวมตัวกันอยู่ในกรณีของไฟป่าแอมะซอนนี่เอง
9.) อย่างไรก็ดี โบลโซนาโร ยืนยันเสียงแข็งว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับกรณีนี้คือ ‘การโกหก’ และพร้อมกับกล่าวหาว่าจริงๆ แล้วน่ะ กลุ่ม NGO คือตัวการที่ไปเผาป่าเองเพื่อหาเงินมาสนับสนุนต่างหาก แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นการกล่าวหาของโบลโซนาโรแบบลอยๆ เพราะตัวเขาเองก็ยอมรับในเวลาต่อมาว่า พูดจากความรู้สึกและไม่มีหลักฐานมายืนยัน
ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศบราซิล ก็วิจารณ์ผู้นำต่างชาติ เช่น ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอง มาครง ที่ประกาศตัวว่าจะขอหยิบประเด็นไฟป่านี้ไปพูดคุยกันบนเวที G7 โดยทางการบราซิลมองว่าที่คือการแทรกแซงกิจการภายใน
10.) ตอนนี้เลยกลายเป็นการเถียงกันใน 2 ฝั่ง ฝั่งแรกเชื่อว่านโยบายของรัฐบาลบราซิลที่ค่อนข้างหละหลวม และเน้นการพัฒนามากกว่าอนุรักษ์ คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ไฟป่าเกิดขึ้นอย่างรุนแรง
ส่วนอีกฝั่ง (ก็คือฝั่งประธานาธิบดีบราซิล) ยืนยันว่า พวกเขาทำงานอย่างเต็มที่เพื่อดูแลปัญหานี้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหยิบยกหลักฐานหรือข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอที่จะระบุว่า NGO เป็นคนเผาเองจริงๆ
11.) ประเด็นที่น่าสนใจต่อไปก็คือ แล้วพวกเราจะช่วยเหลืออะไรในสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ้าง? อันดับแรกคือ mindset ที่อาจจะต้องตระหนักกันจริงๆ ว่าสาเหตุของไฟป่ามันก็เกิดขึ้นได้จากฝีมือของมนุษย์เราเองด้วยเหมือนกันเนอะ รวมถึงการร่วมกันตระหนักถึงการลดภาวะโลกร้อนมันก็ควรเริ่มต้นกันอย่างจริงจังด้วย
หนึ่งในตัวอย่างคือ ในสหรัฐฯ นั้นถ้าต้องซื้อสินค้าที่ทำจากไม้ ถ้าสินค้าเหล่านั้นมีป้ายแปะ ‘Rainforest Alliance Certified’ ก็จะช่วยการันตีว่า มันไม่ใช่ไม้ที่มาจากป่าดิบชื้นอย่างแน่นอน (แต่ทางที่ดีก็เลี่ยงๆ สินค้าทำนองนี้เท่าที่จะเป็นไปได้ก็ช่วยได้เหมือนกัน)
เท่าที่ The MATTER รวบรวมวิธีการช่วยเหลือมาจากเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ ก็พอจะรวมๆ ได้ดังนี้นะ
-บริจาคเงินช่วยสนับสนุนกลุ่ม Rainforest Action Network เพื่อร่วมปกป้องพื้นที่ป่าในแอมะซอน
-สนับสนุน Rainforest Trust ซึ่งเป็นกองทุนซื้อที่ดินคืนจากพื้นที่มนุษย์เพื่อทำมาปลูกป่าอีกครั้ง
-รวมถึงช่วยสนับสนุนเงินกับกลุ่ม NGO ที่เคลื่อนไหวและมีชื่อเสียงในระดับโลกซึ่งเราสามารถไว้วางใจได้
-ลดการใช้กระดาษและสินค้าที่ทำจากไม้เท่าที่เราพอจะลดได้ และใช้ในระดับที่พอจำเป็นเท่านั้น
-ร่วมลงชื่อกับกลุ่ม Greenpeace เพื่อช่วยกันส่งเสียงจากทั่วโลกไปยังรัฐบาลบราซิลให้พวกเขาต้องปกป้องผืนป่าแอมะซอนอย่างจริงจัง
ดูช่องทางการช่วยเหลืออื่นๆ ได้ที่ : https://www.cnet.com/how-to/the-amazon-rainforest-is-on-fire-what-we-know-so-far-and-how-you-can-help/
เหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในแอมะซอน น่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่ชวนให้พวกเรากลับมามองถึงปัญหาทั้งเรื่องนโยบายจัดการโลกร้อน รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจังอีกครั้ง
**หมายเหตุ การร่วมลงชื่อหรือบริจาคเพื่อสนับสนุน เป็นวิจารณญาณและขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคนนะ ถ้าไม่มั่นใจในความน่าเชื่อถือหรือมีข้อข้องใจ แนะนำให้ติดต่อสอบถามตามองค์กรเหล่านั้นโดยตรงนะ**
อ้างอิงจาก
https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/08/wildfires-in-amazon-caused-by-deforestation/
https://www.bbc.com/news/world-latin-america-49433767
https://www.bbc.com/news/world-latin-america-49433767
https://i-d.vice.com/en_uk/article/ne8bkx/amazon-rainforest-fires-action
https://www.vox.com/world/2019/8/20/20813786/wildfire-amazon-rainforest-brazil-siberia
https://edition.cnn.com/2019/08/22/americas/amazon-fires-humans-intl-hnk-trnd/index.html
https://edition.cnn.com/2019/08/22/us/iyw-how-to-help-amazon-forest-fires-trnd/index.html
#Recap #PrayforAmazonia #แอมะซอน #TheMATTER