“ผมไม่ต้องการ พล.อ.ประยุทธ์คนเก่า และ พล.อ.ประยุทธ์ คนใหม่ ผมไม่ต้องการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไป” ปิยบุตร แสงกนกกุล
หนังแอคชั่นที่ยิงกันเดือดๆ น่าอาจจะต้องหลบทางให้กับการอภิปรายกันในรัฐสภาไทยวันนี้ เมื่อทีม ส.ส. ฝ่ายค้าน เปิดศึกตั้งคำถามและข้อเรียกร้องให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบกับการถวายสัตย์ไม่ครบ
ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงบ่ายวันนี้ มีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง แล้วมีการเชือดเชือนกันด้วยถ้อยคำ กลยุทธ์การอภิปรายยังไง The MATTER สรุปรวบตึงประเด็นที่น่าสนใจมาให้แล้วดังนี้
(update ถึง 15.00 น.)
1.) วาระการประชุมวันนี้ คือการอภิปรายเพื่อตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต่อกรณีที่นายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ซึ่งทางฝ่ายค้านก็เดินเกมเคลื่อนไหวให้มีการหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยกันในสภามาสักพักใหญ่ๆ แล้ว
2.) เปิดเกมด้วย First Blood จากผู้นำฝ่ายค้าน สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ลุกขึ้นมาเปิดประเด็นนายกฯ นำ ครม. ถวายสัตย์ไม่ครบ โดยเห็นว่ากรณีนี้ส่งผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะอาจเข้าข่ายไม่ได้ทำตามข้อกำหนดที่รัฐธรรมนูญระบุเอาไว้
“ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำของประเทศ ได้แสดงถึงความไม่มีวุฒิภาวะ ไม่ยินยอมรับฟังข้อท้วงติงจากผู้หวังดีทุกฝ่าย ไม่ยอมรับรู้ว่า ตนเองทำสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก และสมควรจะแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร” ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุ
3.) ส่วนฝั่งทีมรัฐบาลก็มากันค่อนข้างจัดเต็ม นำโดยนายกฯ ลุงตู่ ที่มาพร้อมกับคณะรัฐมนตรี โดยคีย์แมนคนสำคัญที่หลายฝ่ายจับจ้องกันมากๆ คือ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อกฎหมาย ซึ่งทางฝ่ายค้านก็ตั้งข้อสังเกตว่ารองนายกฯ วิษณุ มักกดสูตรลับต่างๆ เพื่อปกป้องคนสำคัญรัฐบาลได้เสมอๆ
4.) ความเดือดเริ่มขึ้น จากกลยุทธ์ลูบคม อ.วิษณุ จาก เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งถือเป็นการปะทะกันของนักกฏหมายสองคนที่น่าจับตามากๆ
อ.ปิยบุตร บอกว่า การที่นายกฯ นำคณะรัฐมนตรี ครม.กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนเป็นอาการของโรค “ไม่แยแสรัฐธรรมนูญ” ทั้งที่เป็นแบบพิธีที่สำคัญที่สุดใน รธน. ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2492
ความพีคยังไม่หมดแค่นั้น อ.ปิยบุตร ยังได้หยิบหนังสือชื่อ ‘หลังม่านการเมือง’ ของรองนายกฯ วิษณุ ขึ้นมาอภิปราย โดยหยิบข้อความช่วงหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มายืนยันว่า การถวายสัตย์ต้องทำให้ครบถ้วน เรียกได้ว่าเป็นการหยิบประโยคของ อ.วิษณุ มาทิ่มแทงรัฐบาลเสียเอง
“เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ต่อการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนผมขอให้ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งครับ” อ.ปิยบุตร อภิปราย และยังได้พูดด้วยว่า ไม่ต้องการทั้ง พล.อ.ประยุทธ์คนเก่าและคนใหม่ แต่แค่ตอนนี้ไม่ต้องการให้ พล.อ ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไปมากกว่า
5.) ต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส จากพรรคเสรีรวมไทย ได้อภิปรายย้ำที่รอยแผลเดิมว่า นายกฯ เองก็เคยยอมรับถึงการถวายสัตย์ไม่ครบไปแล้ว และชัดเจนว่า การถวายสัตย์ไม่ครบนั้น ถือว่าเป็นการที่นายกฯ และคณะรัฐมนตรีไม่ได้ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ และต้องมีการรับผิดชอบในเรื่องนี้
“ถ้าใครมีจิตสำนึกรับผิดชอบ เมื่อทำไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้รับผิดชอบด้วย” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว “เราไม่มีวาสนาเป็นรัฐมนตรี เรายังต้องปฏิญาณตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเลย ทำไมนายกฯ ทำไม่ถูกต้อง”
6.) อีกคนสายโหดมากๆ คือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคประชาชาติ ที่บอกว่า การที่นายกฯ ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ ก็อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่ถูกต้องให้กับการเมืองไทยได้ แถมยังยกข้อกำหนดทางจริยธรรมของนักการเมืองขึ้นมาวิจารณ์ด้วยว่า
“ท่านบอกนักการเมืองนั้นไม่มีจริยธรรม ไม่มีคุณภาพ ท่านต้องการให้ประมวลจริยธรรมนี้ ประกาศของศาลฎีกานี้ทิ่มแทงพวกผม รวมทั้งท่านประธานด้วย แต่ไม่รู้เป็นกรรมอะไรนะครับว่า ไอ้ดาบที่ท่านยื่นมานั้นมันจะกลับไปสนองท่าน”
7.) มาถึงในตอนนี้ ทีมฝ่ายค้านมีข้อเรียกร้องหลักๆ คือ นายกฯ และคณะรัฐมนตรีควรจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีข้อเสนออีกทางหนึ่งว่า ควรถวายสัตย์ให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนทางการเมือง
“คำแนะนำสั้นๆ ง่ายๆ ถ้าท่านอยู่ ท่านก็บอกว่า ผมของลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เหมือบกับที่ท่านประกาศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ว่าผมขอยึดอำนาจประเทศไทย” กล่าวโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ
8.) ส่วนทางฝั่งพรรครัฐบาลนั้น ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน ลุกขึ้นมาอภิปรายด้วยเหมือนกัน โดยยอมรับว่า เป็นกังวลมากๆ กับเพื่อนสมาชิกสภาที่ยังคงเดินหน้าถกเถียงกันในเรื่องถวายสัตย์ต่อไป เพราะเรื่องนี้ควรจบไปนานแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีข้อสรุปมาแล้ว ดังนั้นอาจจะมีคนไปฟ้อง ป.ป.ช. ก็ได้นะ ว่ากำลังตรวจสอบในสิ่งที่ตัวเองไม่มีอำนาจ
“จะทำอะไรก็อย่าไปละเลยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ” ไพบูลย์ นิติตะวัน ย้ำหลายครั้งในเรื่องนี้
9.) นอกจากประเด็นการถวายสัตย์แล้ว วาระการอภิปรายในวันนี้ ยังจะมีการซักถามในเรื่องการไม่ชี้แจงงบประมาณในนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งฝ่ายค้านก็ได้ยกตัวอย่างประเทศอื่นๆ และพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีนโยบายออกมา พร้อมกับที่มาของวงเงินงบประมาณ
10.) อย่างไรก็ดี การประชุมในวันนี้เป็นเพียงแค่การอภิปรายเพื่อถามและตอบกันเท่านั้น ยังไม่ใช่การลงมติไม่ไว้วางใจแต่อย่างใดนะ ถึงอย่างนั้น มันก็จะเป็นการประชุมที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการตรวจสอบ และประชาชนอย่างเราๆ ก็จะได้ฟังคำชี้แจงของรัฐบาลว่า มีน้ำหนักแค่ไหนบ้าง?
หลังจากนี้เราคงต้องติดตามคำชี้แจงของทางฝั่งรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร และจุดยืนของนายกรัฐมนตรีต่อเรื่องนี้จะออกมาในทางไหนบ้าง?
อ้างอิงจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/284334
https://www.posttoday.com/politic/news/601032
https://www.dailynews.co.th/politics/732155
https://www.thairath.co.th/news/politic/1663386
#Recap #ประชุมสภา #ถวายสัตย์ #TheMATTER