ข่าวที่เราหยิบมาสรุปในวันนี้ เกี่ยวข้องกับคำถามเรื่อง ‘เวลา’ ในการประมูลงานของภาครัฐ ว่ามีนัยสำคัญแค่ไหน และต้องยึดเวลาไหนเป็นหลัก
กรณีที่เราจะพูดถึงก็คือ ‘โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก’ มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ที่มีกลุ่มบริษัทเอกชนหนึ่งยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประมูลบางส่วนล่าช้าไป 9 นาที จนผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจไม่รับไว้พิจารณา นำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีในศาล ที่มีคำพิพากษา คำสั่ง และความเห็นหลากหลาย คดีดูพลิกไป-พลิกมาอยู่หลายรอบ จนมาถึงรอบสุดท้าย การตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุด ที่ผลออกมาในวันนี้
คดีนี้สำคัญอย่างไร? ทำไมเราต้องสนใจ? ลองอ่านและพิจารณากันดู
1.) เท้าความก่อนว่า ที่มาของคดี เกิดจากบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพันธมิตร ไปยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาบ่ายสามโมงไป 9 นาที จึงถูกคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการฯ ที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.เป็นประธาน ตัดเอกสารบางส่วนที่ยื่นล่าช้าออกจากการพิจารณา
2.) เอ่ยชื่อ บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นบริษัทในเครือซีพี ก็น่าจะพอร้องอ๋อขึ้นมาบ้าง โดยพันธมิตรอีก 4 บริษัท ได้แก่
– บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
– บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
– บริษัท บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด
– บริษัท โอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
3.) สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สาระสำคัญก็คือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ให้เป็น ‘เมืองการบิน’ เป็น Aviation Hub เพื่อรองรับการขยายตัวของ EEC ในอนาคต และเชื่อมโยงกับอีก 2 สนามบินนานาชาติที่สำคัญของไทย ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง
ซึ่งอย่างที่รู้กันว่า ก่อนหน้านี้ เครือซีพีได้ลงนามเป็นผู้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา) ไปแล้ว หากได้รับโครงการนี้อีก ก็จะเป็นการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น
4.) สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยภาครัฐจะร่วมลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท และเอกชนจะลงทุนอีก 2.72 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง
ด้วยการก่อสร้าง
– อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Terminal 3) และศูนย์ธุรกิจการค้า
– ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Air Cargo) ระยะที่ 2
– ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (Maintenance Repair and Overhaul, MRO) ระยะที่ 2
– ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน ระยะที่ 2
– Free Trade Zone
5.) วันเกิดเหตุ คือวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2562 คณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นซองประมูลโครงการ ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพฯ มีเอกชน 3 รายเข้ายื่นเอกสารร่วมประมูลด้วย ได้แก่ ‘กลุ่มธนโฮลดิ้ง’ ‘กลุ่มบีบีเอส’ และ ‘กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียม’
กลุ่มธนโฮลดิ้งไปถึงก่อน เวลา 12.20 น. แต่เอกสารยังไม่ครบ นำมาเพียง 9 กล่องจากทั้งหมด 11 กล่อง จึงยังไม่ได้ยื่น ต่อมากลุ่มบีบีเอสมาถึงเวลา 12.59 น.และยื่นเอกสารเวลา 14.21 น. และกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียม มาถึงเวลา 13.19 น. และยื่นเอกสารเวลา 14.10 น.
จากนั้นกลุ่มธนโฮลดิ้งได้ยื่นเอกสาร แต่ภายหลังมีการตรวจสอบพบว่า เอกสารบางส่วนได้ยื่น ณ เวลา 15.09 น. ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาบ่ายสามโมง คณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ จึงไม่รับพิจารณาเอกสารบางส่วนที่มายื่นล่าช้า นำไปสู่การฟ้องศาลปกครองโดยกลุ่มธนโฮลดิ้ง ‘ให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการโครงการฯ ที่ไม่รับพิจารณาเอกสารดังกล่าว’
อ้างเหตุผลว่าในวันนั้นได้มาลงทะเบียนเป็นรายแรก ไม่มีการชี้แจงขั้นตอนเรื่องการยื่นซองประมูลที่ชัดเจน แถมตอนรับซองทางเจ้าหน้าที่ก็ “โดยไม่ได้อิดเอื้อน หรือมีท่าทีปฏิเสธ” แถมยังให้ชำระเงินค่าประกันซอง 1,000 ล้านบาทและค่าธรรมเนียมอีก 1 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ถือเอาเวลาในการยื่นและรับซองในการคัดเลือก ‘เป็นสาระสำคัญ’ และถือว่าได้มีการขยายระยะเวลาโดยปริยายแล้ว
6.) วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2562 ศาลปกครองกลางพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ คำฟ้องของกลุ่มธนโฮลดิ้ง ต่อมากลุ่มธนโฮลดิ้งยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
7.) วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2562 คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้ ‘กลุ่มบีบีเอส’ ซึ่งประกอบด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ บีทีเอส และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล เพราะเสนอผลตอบแทนกับรัฐสูงสุด เหนือ ‘กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียม’ ขั้นต่อตอนไปคือเรียกเอกชนที่เสนอราคาสูงสุดมาเจรจาต่อรอง ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี จึงจะประกาศชื่อผู้ชนะได้ คาดว่าจะเซ็นสัญญาเริ่มต้นโครงการได้ต้นปี พ.ศ.2563
ในการพิจารณาดังกล่าว ไม่รวมถึงข้อเสนอของ ‘กลุ่มธนโฮลดิ้ง’ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องมองว่า ยื่นเอกสารไม่ครบตั้งแต่แรก
8.) อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2562 ศาลปกครองสูงสุดออกคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ ที่ไม่รับเอกสารของกลุ่มธนโฮลดิ้งที่ยื่นเกินเวลาไว้พิจารณา
9.) ตามขั้นตอนการพิจารณาคดีปกติของศาลปกครอง จะมีการให้ผู้พิพากษาที่ไม่ได้อยู่ในองค์คณะมาเป็น ‘ตุลาการผู้แถลงคดี’ เพื่อให้ความเห็นจากมุมมองคนภายนอก
โดยตุลาการผู้แถลงคดีนี้ ได้ให้ความเห็นว่า ควรจะกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้กลุ่มธนโฮลดิ้ง ‘กลับเข้าสู่การประมูลได้ง เพราะมองว่า ขั้นตอนการยื่นซองประมูลในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2562 ไม่มีความชัดเจน และไม่ได้ยึดว่าจะต้องลำเลียงเอกสารผ่านจุดลงทะเบียนภายในเวลา 15.00 น.ของวันเดียวกัน แถมยังมีการตรวจรับเอกสารโดยไม่ทักท้วง
8.) ในการไต่สวนคดีของศาลปกครองสูงสุด พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ ระบุว่า หากศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิให้กลุ่มธนโฮลดิ้ง เพราะเห็นว่าการยื่นซองเกินเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ จะเท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ!
“อาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้ แม้จะทำผิดกฎก็ไม่เป็นไร หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง
“อีกทั้งยังขัดกับบรรทัดฐานที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวางหลักไว้ในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท ที่ศาลวินิจฉัยตคัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูลยื่นซองที่มาช้าเพียง 39 วินาที และหน่วยงานภาครัฐ ได้ยึดถือปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างในเวลาต่อมา”
9.) คดีตัดสิทธิ์เอกชนยื่นซองประมูล ‘ช้า 39 วินาที’ ที่ พล.ร.ต.เกริกไชยอ้างถึง เป็นกรณีเอกชนจาก จ.สุพรรณบุรี มายื่นซองประมูลกับกรมทวงหลวงไม่ทัน ช้าไปเพียง 39 วินาที คดีนี้มีการสู้จนถึงศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน และศาลก็ตัดสินให้ภาครัฐชนะคดีเอกชน โดยระบุว่า “ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เป็นความประมาทเลินเล่อของเอกชนเอง” ให้ยกฟ้อง
(คดีศาลปกครองสุงสุด หมายเลขดำที่ อ.137/2556 หมายเลขแดงที่ อ.1205/2560)
– อ่านเพิ่มเติม: http://www.admincourt.go.th/admincourt/upload/admcase/Document/judgement/PDF/2556/01012-560137-1F-601207-0000611296.pdf
10.) ในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำตัดสินคดีกลุ่มธนโฮลดิ้งฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกโครงการฯ ผลปรากฎว่า ศาลให้เอกชนชนะภาครัฐ!
11.) ข้อแตกต่างสำคัญก็คือ ในขณะที่คดีช้า 39 วินาที มาลงทะเบียนไม่ทัน แต่คดีนี้ กลุ่มธนโฮลดิ้งมาลงทะเบียนก่อนเวลาเส้นตายอยู่หลายชั่วโมง “สาระสำคัญของคดีนี้อยู่ที่การแสดงตนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ” การที่นำเอกสารบางส่วนมาผ่านจุดทะเบียนช้า 9 นาที จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อบกพร่องที่จะกระทบกับการดำเนินโครงการนี้ ในทางที่จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อหลักการดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
(คดีศาลปกครองสูงสุด หมายเลขดำที่ อ.381/2562 หมายเลขแดงที่ อ.1/2563)
– อ่านเพิ่มเติม: https://drive.google.com/file/d/1pVAsA8wlB7uHkDhUun1p5LBzNeikrQ0C/view?fbclid=IwAR39b2dKx0GVyOrNGHwFJB6AZozG3zQeROp8AOahlFHG08kZa3PW3Cenvnw
12.) ผลจากการตัดสินคดีนี้ของศาลปกครองสูงสุด ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องนำข้อเสนอจากกลุ่มธนโฮลดิ้งไปพิจารณาอีกครั้ง หลังจากเคยให้กลุ่มบีบีเอสชนะประมูลไปแล้ว
13.) หลังทราบคำพิพากษา กลุ่มธนโฮลดิ้งออกเอกสารข่าว ขอบคุณศาลที่ให้กลับเข้าสู่กระบวนการประมูลอีกครั้ง
“ไม่ว่าผลการคัดเลือกจะออกมาเป็นเช่นไร เรายินดีที่จะให้การสนับสนุนในทุกมิติเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง เนื่องจากตระหนักดีว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ EEC ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศไทย”
14.) กลุ่มธนโฮลดิ้ง ชนะในยกแรกแล้ว ยกต่อไปคือผลของการประมูล โปรดติดตามตอนต่อไป!
#Recap #TheMATTER