ตอนนี้รัฐบาลได้ผ่านงบประมาณประจำปีล่าช้ามา 4 เดือนแล้ว และมีแววจะล่าช้าออกไปอีก ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเพิ่ม รวมไปถึงการต่อรองกันของพรรคร่วมรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ก็ใช้เวลาถึงปลายปีที่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ ส.ส.ทำการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วาระ 2 – 3 นำไปสู่การส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าร่าง พ.ร.บ.เป็นโมฆะหรือไม่ และให้สภาลงมติใหม่ในวาระ 2 – 3
ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดสองคำถามที่ว่า รัฐบาลควรรีบผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพื่อให้มีงบประมาณไปพัฒนาประเทศหรือไม่? หรือ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ควรถูกตราขึ้นอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมากที่สุด?
The MATTER อยากสรุปที่มาที่ไปของปัญหา สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ รวมไปถึงกระบวนการตราพระราชบัญญัติ และอยากชวนทุกคนคิดต่อว่าอะไร คือ คำตอบของสองคำถามที่ถูกกล่าวถึง
1.) คดี ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันมีที่มาจากการที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเผยว่า เมื่อวันที่ 10 – 11 มกราคม พ.ศ.2563 ที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้มีชื่อของ ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ร่วมลงมติวาระ 2 ตั้งแต่มาตรา 39 และในมาตรา 40 รวมถึงวาระ 3 ทั้งๆ ที่ เจ้าตัวไม่ได้อยู่ในที่ประชุมเลยในช่วงที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 วัน
2.) นิพิฏฐ์ยังออกมาเผยอีกว่า มี ส.ส.อีกคนที่กดบัตรแทนกัน คือ นาที รัชกิจประการ ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย ที่ได้เดินทางไปจีน ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2563 เวลาเดียวกับที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แต่กลับมีชื่อของนาทีในการลงคะแนนโหวตร่างกฏหมายดังกล่าว
3.) ต่อมาได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอของภริม พูลเจริญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ขณะอยู่ในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งทั้งสองคนได้ทำการเสียบบัตรลงคะแนน 2 ใบเข้าไปในเครื่องนับคะแนน ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเสียบบัตรแทนคนอื่น
4.) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด นำไปสู่การรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 90 คน เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ใน 3 ประเด็น ได้แก่
– กระบวนการร่างขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนน ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 มาตรา 12 หรือไม่?
– หากมีปัญหา จะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา?
– จะดำเนินการในแต่ละกรณีอย่างไร?
5.) นอกจากนี้ยังเกิดการระดมชื่อของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าร่วม 84 คน เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่?
6.) เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับวินิจฉัยทั้ง 2 คำร้อง ในประเด็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่?
แต่ได้ปัดตกคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย ที่มีการลงชื่อโดย ส.ส.จำนวน 77 คน ขอให้วินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน เพราะศาลพบว่าคำร้องนี้มีรายชื่อผู้ร่วมเสนอความเห็นซ้ำกับรายชื่อของผู้นำฝ่ายค้านจำนวน 30 คน ทำให้คำร้องนี้มีจำนวนผู้ลงชื่อไม่ถึง 1 ใน 10 ของสมาชิกสภาทั้งหมด (75 คน) ศาลจึงไม่รับไว้วินิจฉัย
7.) ศาลได้อ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา โดยมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่เป็นโมฆะทั้งฉบับ และให้มีการลงมติใหม่ในวาระ 2 – 3 (ซึ่งเป็นวาระที่ได้พิจารณากันตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม ประมาณ 19.30 น. ถึงวันที่ 11 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงเกิดเหตุลงคะแนนแทนกัน) เนื่องจากศาลเห็นว่าการลงคะแนนในวาระ 1 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และประเทศมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้กฎหมายนี้เพื่อแก้ไขความล่าช้าและอุปสรรค์ในงานเบิกงบประมาณแผ่นดิน
8.) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเรื่อง ‘ความแตกต่าง’ ระหว่างกระบวนการตัดสินคดีในครั้งนี้ กับกระบวนการตัดสินคดี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า
9.) การวินิจฉัยคดีที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2557 ศาลได้วินิจฉัยกรณีเสียบบัตรแทนกันของนริศร ทองธิราช ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในช่วงที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การลงคะแนนเสียงแทนกันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีมติ 6 ต่อ 2 งดออกเสียง 1 ให้ร่าง พ.ร.บ.ตราขึ้นไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และปัดตกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะว่าเนื้อหาและกระบวนการ ไม่ชอบด้วย รธน.มาตรา 122 และ 126 (3)
ซึ่งมาตรา 122 ระบุว่า ส.ส.และ ส.ว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ส่วนมาตรา 126 (3) ระบุว่า สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน
การวินิจฉัยของศาลเมื่อปี พ.ศ.2557 ได้แสดงให้เห็นว่า การลงคะแนนเสียบบัตรแทนกันเป็นความผิดที่ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ถูกปัดตกอย่างชัดเจน
10.) สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท และมีทั้งหมด 55 มาตรา ใช้เวลาในการพิจารณาวาระ 2 – 3 ทั้งหมด 4 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ถึงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2563
11.) สิ่งที่รัฐบาลกังวลจากเรื่องการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ล่าช้า คือการเบิกงบลงทุน ที่มีจำนวนหลายแสนล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลอ้างว่าหากไม่สามารถเบิกงบตัวนี้ได้ เศรษฐกิจก็จะไม่ดีขึ้น
12.) ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการรับมือกับปัญหาการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ล่าช้า โดย ครม.ได้มีมติขยายวงเงินเบิกงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ จากเดิมให้หน่วยงานเบิกงบได้ไม่เกิน 50% ของวงเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ.2562 เป็น 75% ของวงเงินงบประมาณ
13.) สำหรับกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แบ่งออกเป็น 3 วาระ ได้แก่
– วาระแรก จะเป็นช่วงที่สมาชิกสภาจะลงมติกันว่ารับหลักการของร่าง พ.ร.บ. หรือไม่
– วาระสอง จะเป็นช่วงของการพิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ทีละมาตรา ซึ่งทำได้ 2 แบบ คือ แบบที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง และแบบที่สภาทำการแต่งตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่าง
– วาระสาม จะเป็นช่วงที่มีการลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ซึ่งหากสภาไม่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ก็จะถูกปัดตก แต่ถ้าเห็นชอบ ก็จะมีการเสนอร่างแก่วุฒิสภา
14.) คนในรัฐบาลคาดหวังว่า หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประกาศใช้ จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่หลายๆ ฝ่ายมองว่าซบเซา ที่ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นเช่นนั้นได้จริงหรือไม่
อ้างอิงจาก
https://www.komchadluek.net/news/scoop/413149
https://www.prachachat.net/politics/news-413374
https://mgronline.com/politics/detail/9630000009645
https://www.thairath.co.th/news/politic/1766410
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ร่างพระราชบัญญัติ
https://www.bbc.com/thai/thailand-51076368
https://www.posttoday.com/politic/analysis/613521
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/864990
https://www.komchadluek.net/news/politic/413409
https://www.thansettakij.com/content/421013
#Recap #TheMATTER