หลังจากถูกตัดสินยุบพรรคการเมืองไป พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ก็ออกมาประกาศว่า จะเดินหน้าอภิปรายนอกสภา โดยระบุว่า ‘เป็นเรื่องอื้อฉาวระดับ international’ ซึ่ง The MATTER ก็ขอสรุปรายละเอียดการอภิปรายนอกสภามาให้ฟังกัน
1. พรรณิการ์ อภิปรายนอกสภาเรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐไทยอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง คดีฟอกเงิน 1MDB โดยแบ่งออกเป็น 4 ข้อ ดังนี้ ปกปิดข้อเท็จจริง, บิดผันกระบวนการยุติธรรม, ให้ที่พักพิงแก่อาชญากรในคดีการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และบ่อนทำลายความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรของไทย
2. พรรณิการ์ย้อนความเล่าเรื่องคดี อื้อฉาว 1MDB (1Malaysia Development Berhad) ซึ่งเป็นกองทุนและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2009 โดยมี นาจิบ ราซัค (Najib Razak) เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งในตอนนั้น ราซัค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียอยู่ แต่หลังจากกองทุนเปิดตัวได้ 6 ปี ก็ขาดทุนไป 3.7 แสนล้านบาท
3. พอขาดทุนหนักขนาดนี้ ก็ทำให้เกิดความสงสัย และนำไปสู่การตรวจสอบในมาเลเซีย โดยพบว่า เงินมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ไหลออกจากกองทุนเพื่อเข้ากระเป๋าผู้ทรงอิทธิพลเพียงไม่กี่คน โดยพวกเขานำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ เครื่องบินส่วนตัว เรือยอร์ช เปียโนแก้ว งานศิลปะของจิตรกรเอกของโลก รวมทั้งนำไปลงทุนสร้างหนังดังของฮอลลีวูด
4. ขณะเดียวกัน สำนักข่าว The Wall Street Journal ก็เผยแพร่รายงานที่อ้างว่า เงินฝาก 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ได้ไหลเข้าสู่บัญชีธนาคารส่วนตัวของคนหนึ่ง โดยตอนแรก กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ใส่ไว้ในรายงานแค่ว่า เงินไหลเข้าสู่กระเป๋า ‘เจ้าหน้าที่รัฐมาเลเซียหมายเลข 1 (Malaysian Official 1 – MO1)’ แต่ต่อมา รัฐบาลมาเลเซียชุดปัจจุบัน ก็ออกมายืนยันว่า ราซัค คือผู้ที่ถูกอัยการสหรัฐฯ ระบุว่าเป็น ‘เจ้าหน้าที่รัฐมาเลเซียหมายเลข 1’ นั่นเอง
5. คดี 1MDB นั้น ถือเป็นคดีฟอกเงินครั้งใหญ่ระดับโลก เพราะนอกจากจะเป็นโกงเงินภาษีของคนมาเลเซียไปใช้แล้ว ยังมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องซับซ้อนกับประเทศอื่นๆ อย่างน้อย 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ลักเซมเบิร์ก เซเชลล์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และในมาเลเซียเอง โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ต่างก็ถูกออกหมายแดงจากตำรวจสากล
6. พรรณิการ์ อ้างถึงความเกี่ยวข้องระหว่างคดีนี้กับประเทศไทยว่า การเกิดรัฐประหาร เมื่อปี ค.ศ.2014 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ ราซัคกำลังต้องการแรงสนับสนุน จากการขาดทุนอย่างหนักของ 1MDB ทำให้นักข่าวและฝ่ายค้านเริ่มขุดคุ้ยคดีดังกล่าว ผู้นำทั้งสองจึงต้องร่วมมือ เป็นพันธมิตรกัน เพื่อรักษาความชอบธรรมของตัวเอง
7. พรรณิการ์หยิบยกหลักฐานความเป็นพันธมิตรกันของทั้งสอง ด้วยภาพถ่ายเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ปี ค.ศ.2014 ซึ่งเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังจากการรัฐประหาร โดยเป็นภาพของ ผบ.ส.ส.มาเลเซีย เดินทางมาแสดงความยินดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยสื่อมวลชนไทย เผยแพร่ภาพดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เพราะถือเป็นการมาเยือนของผู้นำระดับสูงของต่างชาติครั้งแรก หลังจากการรัฐประหาร
8. หลังจากการเข้าพบกัน ชาเบียร์ ฆุสโต อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เปโตร ซาอุดี หุ้นส่วนทางธุรกิจของ 1MDB โดยนำเงินจาก 1MDB มาลงทุน (ภายหลัง กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ พบว่า เป็นการฟอกเงิน) ซึ่ง ฆุสโต ลาออกจากบริษัท แล้วนำเอาข้อมูลอีเมลกว่า 230,000 ฉบับ มาเปิดเผยกับ แคลร์ ริวคาสเซิล-บราวน์ นักข่าวจาก ซาราวัก รีพอร์ต (Sarawak Report) และนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก
9. พรรณิการ์อ้างว่า ในตอนนั้น ราซัคต้องการปิดปากฆุสโตและบราวน์ พร้อมกับ ข้อมูลการเงินที่รั่วไหลไป กลับคืนมา รวมถึง ให้ทั้งฆุสโตและบราวน์ออกมายอมรับว่า ทั้งหมดที่ทำไปนั้น เป็นการใส่ร้ายเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของราซัค
10. สำหรับบราวน์ เธอเป็นน้องสะใภ้ของ กอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ จึงกลับไปยังสหราชอาณาจักร เพราะรู้ดีว่าไม่มีประเทศไหนในอาเซียนปลอดภัย แต่เธอก็ยังถูกคุมคาม สะกดรอยตาม และโดนแฮกอีเมล์ ตรงกันข้าม ฆุสโต เลือกจะอยู่ที่ เกาะสมุย ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ที่เขาพบรักกับภรรยา และในวันที่ 23 มิถุนายน ปี ค.ศ.2015 เขาก็ถูกจับที่บ้านของตัวเอง ด้วยข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์
11. จากคำฟ้องของตำรวจไทย ระบุว่า บริษัท เปโตร ซาอุดี ประสานกับตำรวจไทย ขอให้ดำเนินการจับกุมฆุสโต ซึ่งขู่ แพทริก มาฮอนี ผู้จัดการของบริษัทฯ ว่าจะเปิดเผยข้อมูลการทำงานของบริษัท หากไม่มอบเงิน 83 ล้านบาทมาให้ฆุสโต โดยการกรรโชกทรัพย์ที่บริษัทอ้างถึงนี้ เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2013 เป็นเวลา 2 ปีก่อนที่ตำรวจจะเข้าจับกุมในครั้งนี้
12. พรรณิการ์ กล่าวว่า ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข่าวเกี่ยวกับการจับกุม ฆุสโต นอกจาก พล .ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในตอนนั้น และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหลังจากการแถลงข่าวจับกุม 1 สัปดาห์ พล.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี ออกมาแถลงว่า ทางการอังกฤษได้ส่งตำรวจมาร่วมสอบสวนฆุสโต ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับนานาชาติในการสอบสวนคดี
13. ประมาณ 1 เดือนหลังจากนั้น พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติในตอนนั้น กล่าวว่า ฆุสโตเป็นผู้ต้องหาในคดีสำคัญ ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และไม่อนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยมฆุสโตโดยไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย
14. พรรณิการ์ ยกเอาอีเมลที่ Atkins Thomas สำนักงานทนายความของ เปโตร ซาอุดี เขียนถึง The Guardian สื่ออังกฤษชื่อดัง โดยมีท่อนหนึ่งที่ระบุว่า เปโตร ซาอุดี ว่าจ้างที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยความมั่นคง ที่เป็นอดีตตำรวจ เพื่อให้มาช่วยประสานงานกับตำรวจไทย ในการสอบสวนคดี และตำรวจอังกฤษคนนั้นก็คือ พอล ฟินนิแกน ซึ่งตอนนั้นเขาไม่ได้เป็นตำรวจแล้ว
15. พรรณิการ์อ้างถึงสิ่งที่ฆุสโตเล่าให้เธอฟังว่า ฟินนิแกน คือตำรวจที่เข้าไปพูดคุยกับเขาตลอดช่วงที่ถูกคุมขังอยู่ แต่ในบันทึกรายชื่อผู้เข้าเยี่ยมฆุสโตในเรือนจำกลางคลองเปรม โดยมีชื่อของ มาฮอนี ผู้ฟ้องร้องฆุสโต เป็นผู้ที่เข้าเยี่ยมบ่อยเป็นอันดับ 2 และไม่มีชื่อของ ฟินนิแกน อยู่ในรายชื่อของผู้เข้าเยี่ยมเลย
16. นอกจากนี้ พรรณิการ์ยังยกเอาบันทึกการสนทนาทาง Whatsapp ระหว่าง ลอรา ฆุสโต ภรรยาของฆุสโต และ แพทริก มาฮอนี ซึ่งได้รับการรับรองจากศาลสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ที่มีการสนทนาเรื่องการเข้าเยี่ยมฆุสโตในเรือนจำ โดยมาฮอนีกล่าวว่า เขาสามารถควบคุมรายชื่อผู้เข้าเยี่ยมได้ทั้งหมด เว้นแต่ทนายความเท่านั้น
17. อีกทั้ง ยังเปิดเผยบทสนทนาระหว่าง ภรรยาของฆุสโต กับ พ.ต.อ.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก เจ้าของคดีของฆุสโต โดยพรรณิการ์ระบุว่า พ.ต.อ.พงษ์ไสว ยืนยันว่า รู้จักกับ ฟินนิแกน (อดีต)ตำรวจอังกฤษที่เข้ามาทำคดีนี้ เพราะเขาเคยมา และเคยไปเยี่ยมฆุสโต
18. พรรณิการ์ตั้งข้อสังเกตว่า ตำรวจขึ้นกับสำนักงานนายกรัฐมนตรี และเรือนจำ ก็ขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม การที่สองหน่วยงานให้ความร่วมมือกับหน่วยงานนี้ได้ จำเป็นต้องมีบุคคลที่สามารถสั่งการได้ทั้งสองกระทรวงเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?
19. พรรณิการ์เล่าถึงสิ่งที่ได้พูดคุยกับภรรยาของฆุสโต ซึ่งเธอเล่าว่า FBI ติดต่อขอพบฆุสโตมาที่เรือนจำกลางคลองเปรมถึง 3 ครั้ง และถูกปฏิเสธทั้งหมด จึงต้องให้ภรรยาของฆุสโตเขียนจดหมายตอบโต้กับฆุสโต เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อแอบนำข้อมูลเรื่อง 1MDB ออกมาจากเรือนจำของไทย
20. นอกจากนี้ ในบันทึกบทสนทนาทาง Whatsapp ของภรรยาฆุสโต และฟินนิแกน ซึ่งฟินนิแกนกล่าวว่า ให้ลอรา ติดต่อเลขานุการของผู้บังคับการเรือนจำ และย้ำว่า เธอจะได้เข้าเยี่ยมคนเดียว อีกทั้ง ยังมีอีเมลที่ลอราเขียนถึงทนาย ในช่วงเตรียมการฟ้องร้อง เปโตร ซาอุดี โดยระบุว่า เธอเคยถาม ฟินนิแกนและมาฮอนีว่า ‘Ping Pong’ บุคคลในแชท ที่คอยอำนวยสิทธิพิเศษให้ฆุสโตและพูดคุยกับเธอเสมอคือใคร โดยทั้งสองก็ส่งรูป พล.ต.อ.ประวุฒิ ถาวรศิริ ตอบกลับมา
21. หลังจากถูกจับกุมได้ 1 เดือน ฆุสโตก็สารภาพว่า เขาทำไปเพื่อใส่ร้าย ราซัค และร่วมมือกับพรรคฝ่านค้านของมาเลเซีย ทั้งถูกตัดสินจำคุก 3 ปี และในเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2016 ทางการสวิตเซอร์แลนด์ ก็ทำเรื่องขอโอนตัวฆุสโตไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ตามสัญญาส่งตัวนักโทษข้ามแดน แต่สุดท้าย ฆุสโตก็ไม่ได้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์อยู่ดี
22. เดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น มีแถลงการณ์จากสวิตเซอร์แลนด์ที่ระบุถึงความเสียใจที่ไทยไม่ยอมส่งตัวฆุสโตไปสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมของไทย ระบุว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งนักโทษที่เหลือโทษน้อยกว่า 1 ปี จะไม่สามารถส่งตัวกลับไปได้ (ตอนนั้น เวลาผ่านไปจนฆุสโตเหลือโทษน้อยกว่า 1 ปีแล้ว)
23. พรรณิการ์กล่าวถึง โจโล นักธุรกิจจีนจากปีนัง ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวาง และกำลังถูกสอบสวนจากหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐฯ โดยอ้างว่า โจโลมักจะเข้าหาผู้มีอำนาจของประเทศที่เขาเดินทางไปเสมอ ซึ่งในวันที่ 7 ตุลาคม ปี ค.ศ.2016 สิงคโปร์ขอให้ตำรวจสากลออกหมายแดงติดตามโจโลมาดำเนินคดีฟอกเงินในสิงคโปร์ แต่ในบันทึกการเดินทางเข้าออกไทยของโจโล ปรากฏในระบบของ ตม.ว่า กลับเดินทางมายังประเทศไทยด้วยเครื่องบินส่วนตัวถึง 5 ครั้ง (ขณะนั้น ราซัคยังเป็นนายกฯ มาเลเซียอยู่)
24. ในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2018 เป็นวันสุดท้ายที่โจโลเดินทางออกจากประเทศไทย ซึ่งเป็นวันหลังจากที่พรรคฝ่ายค้าน เอาชนะพรรคของราซัคได้เป็นครั้งแรก จากกรณี 1MDB และผู้นำมาเลเซียที่ก้าวขึ้นมา ประกาศว่า ภารกิจแรกของรัฐบาล คือการตามหาเงินภาษีของชาวมาเลเซียที่ถูกฟอกไปกลับมานั่นเอง โดยวันที่ 12 พฤษภาคมนั้น ตำรวจเข้าค้นที่พักของราซัค และยึดเงินสดจำนวน 900 ล้านบาท พร้อมกระเป๋าแบรนด์เนมอีก 400 กว่าใบ
25. ยิ่งกว่านั้น พรรณิการ์ยังอ้างถึง ตังเคงฉี หนึ่งในเครือข่ายของโจโล ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกสอบสวนจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และถูกออกหมายแดง ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยจนวีซ่าหมดอายุ และขอต่อวีซ่าในไทยได้เป็นเวลา 14 วัน รวมถึง ลู ไอ ซวอน ทนายความของโจโล ก็เดินทางออกจากไทย แม้จะมีชื่ออยู่ใน Watch list แล้วก็ตาม ทั้งยังพบว่า ฐานข้อมูลเดินทางของซวอนนั้น หายไปถึง 22 รายการเลยทีเดียว
26. พรรณิการ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า จากพยานหลักฐาน ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ทำให้เชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งมีอำนาจสั่งการข้ามกระทรวงทุกกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ให้ร่วมมือกันปกปิดข้อเท็จจริงของคดีฟอกเงินมาเลเซียครั้งใหญ่ ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมของต่างประเทศที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี แต่ปล่อยให้คนที่มีหมายแดงจากอินเตอร์โพล ลอยนวลใช้ไทยเป็นที่กบดาน
27. นอกจากนี้ พรรณิการ์กล่าวว่า นี่ยังเป็นการบ่อนทำลายความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ด้วยการขัดขวางการสอบสวนของ FBI บ่อนทำลายความสัมพันธ์ไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยการไม่ยอมส่งตัวฆุสโต กลับมาตุภูมิ บ่อนทำลายความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ ด้วยการเพิกเฉยต่อหมายแดงอินเตอร์โพลที่ขอโดยสิงคโปร์
28. “ณ ขณะนี้ ก็คือการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินนโยบายขายชื่อเสียงประเทศชาติ แลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว ดิฉันขอให้ทุกคนตัดสินใจว่า เราจะเอาคนที่เชื่อได้ว่า อาจเกี่ยวข้องกับการนำเอาคนบริสุทธิ์เข้าคุก ให้ที่พักพิงอาชญากรระดับโลก ขัดขวางการนำเงินภาษีของพี่น้องมาเลเซียที่ถูกปล้นไปกลับคืนเจ้าของ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อย่างไร
คดี 1MDB ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในมาเลเซียมาแล้ว เรื่องอื้อฉาวที่ใหญ่โตด้วยจำนวนเงินและความพยายามปกปิดความผิด ได้ทำให้ระบอบอัมโนของราซัคล้มลง ก่อเกิดเป็นพันธมิตรแห่งความหวัง ในยุคที่มืดที่สุดของมาเลเซีย ทำให้ประชาชนรวมตัวกันจุดแสงสว่างแห่งความจริงและความหวังขึ้นมา หวังว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นเช่นกันในประเทศไทย ในยุคที่มืดมิดที่สุดและทำให้เราเชื่อว่าอำนาจมืดกดหัวให้เราทำอะไรไม่ได้” พรรณิการ์ กล่าว
#Recap #อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา #TheMATTER