ช่วงนี้หลายคนคงกำลังสนใจเการเมือง และกำลังตามข่าวเรื่อง ‘การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่วันจันทร์ และคาดว่าจะจบในวันศุกร์ ที่ถูกกำหนดไว้ว่าจะเป็นวันที่ สภาฯ ออกเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาล
The MATTER ได้สรุปเหตุการณ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 เพื่อให้ทุกคนตามข่าวทัน
1.) เหตุการณ์นี้มีที่มาจาก เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2563 สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน ได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่มีรายชื่อดังนี้
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
– พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
– วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
– พล.อ อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
– ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
– ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.) ในญัตติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการไม่ยึดมั่น และศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, การล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ, การบริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ความสามารถ, การแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจําและองค์กร และอื่นๆ
(สามารถอ่านญัตติฉบับเต็มได้ที่ลิงก์: http://edoc.parliament.go.th/getfile.aspx?id=717497&file=%E0%B8%8D%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88.pdf&download=1)
3.) สำหรับลำดับในการอภิปรายรัฐมนตรี ด้าน สุทิน คลังแสง ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า ฝ่ายค้านจะใช้เวลา 2 วันเต็ม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. จนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น. ก่อนจะเริ่มการอภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นๆ
4.) ในวันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (24 ก.พ.) สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดการอภิปราย โดยได้กล่าวถึงความล้มของรัฐบาล 5 ด้าน ซึ่งทำให้ไม่อาจไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศต่อไปได้ ได้แก่ ความล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย, ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ, ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ, ความล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น, และความล้มเหลวในภาวะผู้นำ
5.) ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ได้อภิปรายตอบโต้ว่า ข้อกล่าวหาบางข้อไม่ใช่ข้อเท็จจริง ข้อกล่าวที่ว่าตนไม่ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ความจริง ถามกลับว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เกิดอะไรขึ้นบ้าง ประชาชนเห็นทางทีวี ทั้งในปี พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2557 จะด้วยวิธีทางใดก็ตาม ตนมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาประเทศชาติ ให้เกิดความสงบความเรียบร้อย ไปสู่การเลือกตั้งและการมีรัฐธรรมนูญ
6.) ต่อมาเป็นคิวของ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป ในประเด็นต่างๆ เช่น การกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ และร่ำรวยผิดปกติ, กระทำการละเมิดหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐเสียหายอย่างต่อเนื่อง, ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย และการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ
7.) สำหรับเรื่องการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ และร่ำรวยผิดปกติ ยุทธพงศ์ ได้กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จากประเด็นเรื่องของการขายที่ดินในย่านบางบอน จำนวน 9 แปลง 50 ไร่ ที่ถือครองโดย พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา บิดาของนายกรัฐมนตรี ให้กับ บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ ในราคา 600 ล้านบาท
8.) ยุทธพงศ์ ระบุว่า ในวันซื้อขายที่ดิน พ.อ.ประพัฒน์ ได้มอบเงินจำนวน 540 ล้านบาทให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปบริหารจัดการเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พี่น้อง แต่ข้อมูลจากบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนที่เข้ารับตำแหน่งครั้งแรก แจ้งว่า มีรายได้ 128.6 ล้านบาท แต่มีรายจ่าย 466.4 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้มีการมอบให้ลูกสาว 198 ล้านบาท ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเงินที่ได้รับจากการซื้อขายที่ดินหรือไม่
9.) นอกจากนี้ ยุทธพงศ์ ยังชี้ให้เห็นถึงการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยในหลายประการ อาทิ บริษัทผู้ซื้อที่ดินก่อตั้งก่อนวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินเพียง 7 วัน ซึ่งทำให้เขาตั้งข้อสังเกตว่าการขายที่ดินแปลงนี้ เอื้อผลประโยชน์ทางธุรกิจให้ ‘เจ้าสัว’ ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่
10.) ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจ้งเรื่องของการเอื้อประโยชน์ให้เจ้าสัวว่า การซื้อขายเป็นข้อตกลงระหว่างคนขายกับคนซื้อ และไม่ทราบว่า บริษัทที่มาซื้อที่ดินจะนำที่ดินไปพัฒนาทำอะไร นอกจากนี้ยังตั้งคำถามว่า วันนั้นตนเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไม่รู้จักใคร และไม่รู้ด้วยว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ใคร จะไปสัญญากับเขาได้ไหมว่าจะเป็นนายกฯ ในวันนี้
11.) นอกจากนี้ นายกฯ ยังระบุว่าสิ่งที่ผู้อภิปรายเรียกว่า ‘บ่อเลี้ยงปลา’ คือ ‘คลองหนามแดง’ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพืช และได้เปิดเผยราคาประเมินที่ดินดังกล่าว ในช่วงปี พ.ศ.2556 อยู่ที่ 609 ล้านบาท ส่วนราคาในปัจจุบันอยู่ที่ 819 ล้านบาท ซึ่งไม่ขัดแย้งกับข้อมูลที่ผู้อภิปรายนำเสนอ
12.) ในระหว่างที่ ยุทธพงศ์ กำลังอภิปรายอยู่ ได้มี ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ประท้วงเป็นระยะๆ ในเรื่องที่ผู้อภิปรายเรียก พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ‘คุณ ประยุทธ’ รวมไปถึงเรื่องของการที่เขาเรียกที่ดินของ พ.อ.ประพัฒน์ ว่า ‘บ่อตกปลา’ ซึ่งก็มี ส.ส.ประท้วง เช่นกัน
13.) ผู้อภิปรายในลำดับถัดมาจะเน้นอภิปรายในเรื่องปัญหาการบริหารเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี อย่าง ทิม พิธา อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวมไปถึง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่มีการพูดถึง นโยบายเศรษฐกิจของนายกฯ เป็นระบบ ‘ของนายทุน โดยนายทุน เพื่อนายทุน’ ,ทำให้เกิดสภาวะรวยกระจุก จนกระจาย, ทำอาการป่วยทางเศรษฐกิจของประเทศเลวร้ายลงจาก ‘ไข้หวัดใหญ่เป็นมะเร็ง’, หนี้ครัวเรือนปี พ.ศ. 2562 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.4 แสนบาทต่อครัวเรือน และอื่นๆ
14.) ด้าน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ พูดถึงรากเหง้าของความเหลื่อมล้ำว่า มาจากความไม่จริงจังในการปฏิรูปเกษตรกรรมของรัฐบาลในอดีต โครงการรับจำนำข้าว – ประกันราคา ไม่สามารถขจัดความยากจนได้ และยังกล่าวว่า “เจ้าสัวเหรอไม่ต้องเอื้อเขาหรอก แค่หุ้นขึ้นเขาก็สบายแล้ว”
15.) การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลวันที่ 2 (25 ก.พ.) เริ่มต้นด้วยการชี้แจงต่อที่ประชุม ของ 5 รัฐมนตรี เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์, อุตตม เสาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
16.) ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเจ้าสัว โดยการอนุมัติการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง และกล่าวว่า อยากให้สภาช่วยพิจารณาเรื่องคำว่าเอื้อ ตอนนี้สังคมกำลังคิดว่าเอกชนรวยมากและได้เปรียบ และขอให้ลองพิจารณาดูว่า จะให้คนรวยลงทุนในแผ่นดินภายใต้กฎหมาย ถ้าไม่ให้ลงทุนแล้วอยู่เฉยๆ แต่เมื่อเรามีความสามารถจะทำได้ ก็ควรดำเนินการ
17.) สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องของการบริหารเศรษฐกิจ โดยกล่าวถึงนายกฯ ว่า ไร้น้ำยา ไร้ประสิทธิภาพ และไร้วิสัยทัศน์ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าไทยกำลังประสบปัญหา รัฐบาลก็รับทุนใหญ่ เช่น อาลีบาบา เข้ามาหากำไรในประเทศ และทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยต้องสู้กับกลุ่มทุนรายใหญ่
18.) ด้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ที่ต้องไปร่วมมือกับแพลทฟอร์มต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายสินค้าไทย การเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับอาลีบาบา ก็เพื่อให้ลูกค้าของอาลีบาบาทั่วโลกเห็นสินค้าไทย และเผยว่า หลังจากนี้จะทำกับอเมซอน และ JP ของญี่ปุ่น และมาเลเซียด้วย เพื่อประโยชน์ของสินค้าคนไทยและเกษตร รวมทั้ง SME และคนที่อยู่ในเศรษฐกิจฐานราก
19.) สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตั้งคำถามถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และกรณีที่มีตระกูลที่ร่ำรวยมากขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเห็นว่าการแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้คนไม่รีบหางาน และชี้ว่า การยุบสภาไม่ใช่ทางออก แต่นายกรัฐมนตรีต้องลาออกเท่านั้น
20.) ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ ประธานวิปฝ่ายค้านถามว่า คนรวยที่เขารวยมากขึ้นได้อย่างไร โดยชี้ว่า ต้องไปดูว่ารวยมากขึ้นจากอะไร จากการลงทุนที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ถ้าทำผิดกฎหมายนิดเดียวตนก็ไม่ยอม
21.) ในช่วงบ่ายของการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชี้แจงเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประชาชน ยืนยันว่า แนวโน้มการว่างงานในปี พ.ศ.2563 ยังไม่น่ากังวลมาก หากเทียบอัตราการว่างงานในปี พ.ศ. 2562 และกล่าวด้วยว่า ต้องไปดูว่า คนที่ตกงานมีความต้องการตรงกับตำแหน่งงานที่ว่างอยู่หรือไม่ หากไม่ตรงก็ให้ไปฝึกงานหรือเรียนเพิ่มหลักสูตรระยะสั้นเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังย้ำให้ หากเด็กเรียนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เพื่อให้จบแล้วมีงานทำ
22.) ด้าน จิราพร สินธุไพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า นายกฯ ไร้วุฒิภาวะ และไร้วิสัยทัศในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง อาทิ การเเนะนำประชาชนให้ไปปลูกหมามุ่ยเป็นพืชเศรษฐกิจ รัฐบาลมาจากการต่อรองของหลายกลุ่ม หลายฝ่าย ทำให้การค้าระหว่างประเทศล้มเหลวและไร้ทิศทาง นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ใช้งบหลายร้อยล้านบาท แต่ไม่รู้จักวิธีหารายได้เข้าประเทศ ล้มเหลวด้านเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ถูกตัดจีเอสพี
23.) ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้พูดถึงการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าละเมิดสิทธิในการแสดงออก พร้อมยกตัวอย่าง แฮชแท็กของมหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากนี้ยังได้พูดถึงเรื่องการใช้มาตรา 44 ในการปิดเหมืองทองอัครา
24.) ชลน่าน ยังได้พูดถึง ดวงของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นดวงกาลีบ้าน กาลีเมือง ไม่เหมาะที่จะเป็นนายกฯ หากบริหารประเทศต่อไป จะเกิดความวิบัติในราชอาณาจักรไทย
ซึ่งทางที่ดีที่สุด คือ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก
25.) ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ได้อภิปรายเรื่องเหมืองอัคราว่า รัฐบาลได้เปิดสัมปทานเหมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ต่อมาในปี พ.ศ.2550 – 2559 ตนได้ให้ยุติเหมืองชั่วคราว เรื่องอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ การใช้มาตรา 44 ต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ตอนนี้คู่พิพาทกำลังหาช่องทางในการเจรจา ต้องให้ความเป็นธรรรมทั้งสองฝ่าย
26.) การอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนี้และเมื่อวาน ฝ่ายค้านได้เน้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ ในเรื่องของการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ
(อัพเดทข้อมูลเมื่อวันที่ 25/2/2020 ณ เวลา 21:00 น.)
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/thai/thailand-51610187
https://www.thairath.co.th/news/politic/1779100
https://www.posttoday.com/politic/news/615829
https://www.thebangkokinsight.com/297224/
https://www.facebook.com/WorkpointNews/photos/a.153956988306921/1211893845846558
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/26735
https://www.dailynews.co.th/politics/759534
https://www.thairath.co.th/news/politic/1780238
#Recap #TheMATTER