นอกจากสถานการณ์โรคระบาดแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ ที่ต้องติดตามกันก็คือ การประกาศลดที่ดินของเขตโบราณสถาน เขายะลา ซึ่งมีภาพเขียนโบราณ และโบราณวัตถุเก่าแก่หลายพันปีอยู่มากมาย จนทำให้ผู้คนไม่พอใจอย่างมาก The MATTER จึงขอไล่เรียงเหตุการณ์มาให้อ่านกัน
1. เขายะลา หรือที่คนในท้องที่เรียกกันว่า เขายาลอ เป็นภูเขาหินปูน ที่มีความยาว 2.7 กิโลเมตร ติดกับแนวเขต ต.ลิดล และ ต.ยะลา ตั้งอยู่ระหว่าง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยเขายะลานั้น มีเพิงผาสูงชัน และหินธรรมชาติมากมาย จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากชนิดด้วย
2. แต่สิ่งที่ทำให้เขายะลาเป็นพื้นที่สำคัญคือ ภาพเขียนสีโบราณ ซึ่งฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีของประเทศไทยที่มีอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี จากการสำรวจศึกษาโดยเฉพาะของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา
3. ภาพเขียนสีที่ค้นพบนั้น มี 4 แห่ง ได้แก่ ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาตอแล หรือ ตอลัง ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา, ภาพเขียนสีดำบริเวณโพรงถ้ำด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา, ภาพเขียนสีแดงบริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา และภาพเขียนสีบริเวณด้านทิศใต้ของเขายะลา
4. นอกจากนี้ ยังมีที่อยู่อาศัยชั่วคราว ของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์อีก 2 แห่ง คือ บริเวณหุบเขาและโพรงถ้ำด้านตะวันตกของเขายะลา และบริเวณหน้าเพิงผาภาพเขียนสีด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา และพบข้าวของเครื่องใช้โบราณคดี เช่น เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เครื่องมือหินกะเทาะ โกลนขวานหินขัด เป็นต้น
5. การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมศิลปากร เรื่องขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณ ภาพเขียนสีเขายะลา ต.ลิดล – ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา พื้นที่โบราณสถานประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ซึ่งลงนามโดย น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ปี พ.ศ.2544
6. แต่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมศิลปากร เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ภาพเขียนสีเขายะลา จากเดิมที่มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เป็นเหลือพื้นที่ 697 ไร่ 75 หรือก็คือ พื้นที่โบราณสถาน เขายะลา ถูกปรับลดหายไปกว่า 190 ไร่
7. ประกาศกรมศิลปากร เรื่องแก้ไขที่ดินนี้ ลงนามโดย อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นวันที่ อนันต์จะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรพอดี
8. กรมศิลปากร ให้เหตุผลในการปรับลดพื้นที่โบราณสถานว่า พื้นที่ จ.ยะลา และจังหวัดใกล้เคียงกำลังประสบสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมสำหรับการก่อสร้าง เพราะแหล่งหินอุตสาหกรรมในพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงจำเป็นจะต้องใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมในเขตโบราณสถานเขายะลา ผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้
9. ประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน สร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนจำนวนมาก โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา วรา จันทร์มณี นักวิชาการอิสระ และตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร ในการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขาจะลา เพื่อคุ้มครองโบราณสถานและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและชุมชน
10. วรา กล่าวว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่โบราณสถานที่สำคัญ และอาจเป็นพื้นที่ทางโบราณคดีผืนใหญ่ผืนสุดท้ายในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเหตุผลที่กรมศิลปากรยกขึ้นมา เพื่อปรับลดพื้นที่ลงนั้น ยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะอนุญาตให้มีการระเบิดภูเขาเพื่อการอุตสาหกรรม และไม่เกี่ยวข้องกับการลดการก่อความไม่สงบอีกด้วย
11. วรา ยังกล่าวอีกว่า การระเบิดหินจะส่งผลกระทบต่อภาพเขียนสี และทำให้พื้นที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็เกิดเหตุการณ์ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็น รูปคน 3 คน ยาวเกือบ 3 เมตร ถล่มหายไปแล้ว จากการระเบิดหิน
12. นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนมีการประกาศลดเขตที่ดินโบราณสถานด้วย ซึ่ง พนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จะเร่งตรวจสอบให้ชัดเจน ส่วนเรื่องการทำประชาพิจารณ์เพื่อทำสัมปทานนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม
13. มีกระแสคาดการณ์ว่า บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) น่าจะเป็นผู้ได้สัมปทานในครั้งนี้ แต่เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา SCG แถลงคำชี้แจง ‘กรณีความเข้าใจผิดเรื่องการทำเหมืองหินปูน ในเขตโบราณสถานเขายะลา’ ว่า บริษัทไม่ได้เข้าไปขอสัมปทานทำเหมืองในพื้นที่เขายะลา และไม่ได้รับซื้อ หรือใช้ประโยชน์จากหินปูน จากพื้นที่ดังกล่าว และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่อย่างใด
14. ตอนนี้ มีการรณรงค์ร่วมลงชื่อ ในแคมเปญ ‘ยกเลิกประกาศสั่งถอนพื้นที่โบราณคดีภาพเขียนสีเขายะลา’ ของเว็บไซต์ change.org แล้ว
15. สำนักข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า ปัจจุบัน จ.ยะลา มีแหล่งโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ 3 แห่ง คือ ภาพเขียนสีโบราณเขายะลา ภาพเขียนสีโบราณถ้ำศิลป์ และภูเขาวัดถ้ำคูหาภิมุข โดยทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ใน อ.เมืองยะลา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในพื้นที่รอบแนวเขตโบราณสถาน มีบริษัทและโรงโม่หินขนาดใหญ่รายล้อมไม่ต่ำกว่า 6 บริษัท โดยได้รับสัมปทานระเบิดหินแบบผูกขาดมานานหลายปีแล้ว
อ้างอิงจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/E/127/6.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/E/127/6.PDF
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/869338
https://prachatai.com/journal/2020/03/86652
https://twitter.com/Scgnewschannel/status/1235479479989886976?s=20
https://news.thaipbs.or.th/content/289561
#ถ้ำยะลา #recap #TheMATTER