ไต้หวันเพิ่งประกาศข่าวดีว่า สามารถผลิตหน้ากากได้ 10 ล้านชิ้นต่อวัน ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างภาครัฐและเอกชน ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง
ไม่เพียงแค่นั้น มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐไต้หวันออกมาก็ได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในแง่ที่สามารถทำให้คนในสังคมเดินหน้าต่อสู้กับวิกฤตนี้ได้อย่างร่วมมือร่วมใจ
ไต้หวันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? เราสามารถเรียนรู้อะไรได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในไต้หวันบ้าง? The MATTER สรุปบทเรียนที่สำคัญมาไว้ในโพสต์นี้นะ
1) ไต้หวันเป็นพื้นที่แรกๆ ที่มีค้นพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่ตั้งห่างกับจีนแผ่นดินใหญ่เพียงแค่ 130 กิโลเมตร แต่ยอดผู้ที่ติดเชื้อจนถึงตอนนี้ มีเพียงแค่ 45 ราย (อัพเดต 11 มีนาคม 2563)
2) ไต้หวันเริ่มต้นมาตรการอย่างจริงจังในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สิ่งที่ทำคือประเมินผู้โดยสารที่เดินทางแบบ direct flight มาจากเมืองอู่ฮั่น เพื่อสำรวจว่ามีใครมีไข้เกินเกณฑ์หรือมีอาการป่วยที่เข้าข่ายหรือไม่
3) ถัดมาในต้นเดือนมกราคมปีนี้ รัฐบาลไต้หวันก็เพิ่มมาตรการการควบคุมผู้โดยสารจากจีนขึ้นไปอีกระดับ โดยคราวนี้ได้ขยายการตรวจตราไปยังกลุ่มคนที่มีอาการป่วยซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมาจากอู่ฮั่นใน 14 วันที่ผ่านมา
4) โดยผู้โดยสารในสนามบินที่ถูกตรวจพบว่ามีอาการเสี่ยง ก็จะต้องถูกควบคุมพื้นที่ทั้งจากในบ้านพักของตัวเอง รวมถึงบางกรณีก็จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างจริงจัง
5) ในวันที่ 20 มกราคม เมื่อสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสในจีนยังคงดำเนินไปอย่างรุนแรง ภาครัฐไต้หวันได้ออกนโยบายตั้งหน่วยงานกลางด้านการสั่งการและควบคุมโรคระบาด ซึ่งมีชื่อว่า Central Epidemic Command Center (CECC) ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ศูนย์นี้เคยรับบทบาทสำคัญเมื่อครั้งที่ไต้หวันต้องต่อสู้กับไวรัส SARS ในอดีต
ทั้งนี้ CECC ได้อยู่ภายใต้การสั่งการของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ ขณะเดียวกัน ก็ได้แต่งตั้งให้รัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาอยู่ในหน่วยงานพิเศษนี้ด้วย เช่น กระทรวงแรงงาน, การคลัง, การศึกษา
6) มีรายงานว่าในช่วงระหว่างวันที่ 20 มกราคม ถึง 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา CECC ได้ออกมาตรการเพื่อควบคุม-จัดการสถานการณ์ไวรัสราวๆ 124 มาตรการ ซึ่งมีทั้งการควบคุมบริเวณชายแดน (ทั้งทะเลและอากาศ) การวิเคราะห์เคสผู้ป่วยต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีและ Big data ที่กระทรวงต่างๆ มีอยู่ในมือ
7) ไต้หวันเองก็เคยเจอกับปัญหาเรื่องขาดแคลนหน้ากากอนามัยเหมือนไทย สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขฯ ของไต้หวันทำคือ ได้นำหน้ากากไปจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ แม้ว่าในตอนแรกจะถูกวิจารณ์ว่าราคามันแพงเกินไป แต่รัฐบาลไต้หวันก็รีบแก้ไข ด้วยการเติมหน้ากากเข้าไป ควบคู่กับลดราคาของหน้ากากให้ถูกลงกว่าเดิม
8) นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกประกาศต่อสาธารณะด้วยว่า กระทรวงได้ตั้งเกณฑ์การแจกจ่ายอนามัยให้กับบุคลากรตามโรงพยาบาลต่างๆ ให้ได้เกิน 1 ล้านชิ้น
9) ไต้หวันเองก็เจอกับปัญหาเรื่องข่าวลือและข่าวปลอมที่ส่งผลให้ผู้คนตื่นตระหนก สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันทำคือการหันกลับมาสื่อสารกับประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาที่ประชาชนจะไปเสพข้อมูลจากข่าวปลอม มากกว่าข่าวจริงจากภาครัฐผ่านหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมา
ตัวอย่างคือ แทบทุกวันจะมีการแถลงสถานการณ์จากรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฯ โดยที่ผ่านมา มีการให้ข้อมูลทั้งเรื่องการใส่หน้ากากที่ถูกต้อง สถานที่ที่ต้องใส่หน้ากาก ข้อห้ามในระหว่างใส่หน้ากาก ตลอดจน ตอกย้ำความสำคัญของการล้างมือที่ถูกต้อง
หนึ่งในประเด็นที่ถูกสื่อสารอย่างจริงจัง คือการย้ำถึงอันตรายจากการกักตุนหน้ากากที่อาจทำให้บุคลากรที่ทำงานในแนวหน้าไม่มีหน้ากากใช้
ด้วยความที่ CECC เป็นหน่วยงานที่รวมหลายกระทรวงเข้าไว้ด้วยกัน การสั่งงานจากห้องประชุมร่วมกันของเหล่ารัฐมนตรี จึงค่อนข้างเป็นเอกภาพ มาตรการจาก CECC จึงถูกส่งตรงลงไปได้ถึงหน่วยงานระดับท้องถิ่น ที่แต่ละกระทรวงดูแลอยู่ด้วย
10) กรณีที่ถูกพูดถึงกันค่อนข้างเยอะมาก คือการทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ที่ชื่อ ‘ออเดรย์ ถัง’
เธอได้เข้าไปเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี มาช่วยกันสร้างเว็บไซต์และแอปฯ ขึ้นมา เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่
ผลงานที่สำคัญมากๆ คือการที่ ออเดรย์ ถัง เข้าไปช่วยขับเคลื่อนให้เกิดโปรเจ็กต์ Open Data ที่ให้ประชาชนสามารถค้นหาพิกัดของหน้ากากอนามัยตามร้านค้า หรือสถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงบอกด้วยว่า แต่ละที่มีหน้ากากในสต๊อกของตัวเองแค่ไหนบ้าง
ในกรณีนี้ Open Data และการเปิดเผยข้อมูลอย่างจริงใจในสังคม ก็ช่วยให้ความตื่นตระหนกทุเลาลงได้อีกทางหนึ่ง
ด้วยความพยายามเช่นนี้ จึงทำให้ ออเดรย์ ถัง ได้รับคำชื่นชมจากรองประธานาธิบดีไต้หวัน ‘เฉิง เชียงเจิน’ ว่าเธอคือบุคคลสำคัญมากที่ช่วยประเทศต่อสู้กับไวรัสนี้ได้เป็นอย่างดี และใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
11) Jason Wang ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย ผลลัพธ์ และการป้องกัน จาก Stanfford University บอกว่า ปฏิกิริยาต่างๆ ที่รัฐบาลไต้หวันทำออกมานั้น มันสื่อได้ถึงภาวะที่รัฐบาล ‘ตื่นตัวมากๆ’ (Super-alert) ในการจัดการกับปัญหานี้
“เมื่อมันชัดเจนมากๆ ว่าเรื่องนี้จะต้องกลายเป็นประเด็นใหญ่ พวกเขา (รัฐบาลไต้หวัน) ก็เริ่มที่จะทำงานมากขึ้น เรียกได้ว่าเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี” Wang กล่าวกับสำนักข่าว VOX
12) ตัดภาพมาที่ทางรัฐบาลไต้หวันอีกทีหนึ่ง ในสถานการณ์ที่หน้ากากยังคงเป็นที่ต้องการอยู่เรื่อยๆ รัฐบาลเองก็เข้าไปพูดคุยกับเอกชนและเอสเอ็มอีต่างๆ ที่จะร่วมกัน ‘เพิ่ม’ ปริมาณการผลิตหน้ากากให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม จนมาถึงในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน ก็ทวีตข้อความถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า
“พลังของเอสเอ็มอีในไต้หวันไม่เคยทำให้ฉันแปลกใจน้อยลงเลย ฉันภูมิใจที่จะประกาสว่า ทีมงานด้านหน้ากากของไต้หวัน สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตจากเฉลี่ยที่ 9.2 ล้านชิ้นต่อวัน และ 10 ล้านชิ้นต่อวันในวันธรรมดา” ผู้นำไต้หวันระบุในทวิตเตอร์
ไม่เพียงแค่นั้น กระทรวงการเศรษฐกิจยังออกมาตรการใหม่มาเพิ่มด้วยว่า ไต้หวันจะใช้งบประมาณกว่า 90 ล้านดอลลาร์ เพื่อตั้งสายการผลิตหน้ากากเพิ่มอีก 32 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้รับมือกับความต้องการหน้ากากของประชาชนได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
13) นอกจากมาตรการช่วยเหลือแล้ว นโยบายเรื่องการควบคุมคนที่สุ่มเสี่ยงติดเชื้อก็ถูกพูดถึงด้วย โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ติดตามตัวผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิดมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามตัวผ่านอุปกรณ์ GPS หรือพูดอีกแบบหนึ่งได้ว่า รัฐจะมีข้อมูลการเดินทางของกลุ่มที่ต้องถูกเฝ้าระวังอยู่ในมือ และมีการมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา
14) มีบทวิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้ไต้หวันสามารถรับมือกับปัญหาไวรัสนี้ได้เป็นอย่างดี เกิดขึ้นจากการถอดบทเรียนการรับมือไวรัส SARS เมื่อปี 2003 มาปรับใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน และช่วยให้พวกเค้าต้อง ‘ตื่นตัวแบบสุดๆ’ ต่อการจัดการปัญหา
ขณะเดียวกัน การวางแผนการสื่อสารที่จริงใจจากรัฐบาล และการที่คนในคณะรัฐมนตรีได้ลงมือสร้างผลงานตามที่สัญญาไว้ และทำงานในหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดีให้ประชาชนเห็นจริงๆ ก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไว้วางใจรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
อ้างอิงจาก
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3867750
https://twitter.com/iingwen/status/1237310911376846849
#Recap #ไต้หวัน #ไวรัสโควิด #TheMATTER