ประกาศเคอร์ฟิวแล้วไหม? ออกจากบ้านได้รึเปล่า? แล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี่มันคืออะไรกันนะ? คำถามมากมายเกิดขึ้นหลังจากนายกฯ แถลงในวันนี้ว่า จะเริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563
มันจึงกลายเป็นคำถามว่า แล้วสิ่งเหล่านี้คืออะไร จะมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง?
The MATTER สรุปมาให้ฟังแบบเข้าใจกันง่ายๆ ดังนี้นะ
1) พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน’ ซึ่งหลักการคือ ถ้าประเทศของเราต้องเจอกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐขึ้นมาแล้ว กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นเหมือนกับตัวปลดล็อค ให้นายกฯ สามารถออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ว่านี้ได้มากขึ้น
อธิบายแบบย่อๆ ได้ว่า สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามนิยามของกฎหมายฉบับนี้ หมายถึง สถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์นี้โดยเร็ว
โดยสถานการณ์ฉุกเฉินที่ว่านี้ มันจะมีอายุเต็มที่ได้รอบละ 3 เดือน คือถ้าครบ 3 เดือนเมื่อไหร่ นายกฯ ก็จะต้องพิจารณากันอีกทีว่าจะต่ออายุไปอีก 3 เดือนไหม หรือจะให้ยกเลิกไปเลยก็ได้
2) กฎหมายนี้จะทำให้ นายกฯ มีอำนาจสั่งการเยอะขึ้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ อำนาจที่นายกฯ มีเพิ่มขึ้น คือการออกข้อกำหนดแก่ประชาชน ดังนี้
-ห้ามไม่ให้ออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด
-ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ
-ห้ามเสนอข่าว การจำหน่าย ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือหรือสื่ออื่นใด ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเกิดความไม่สงบ
-ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะที่กำหนด
-ห้ามใช้อาคารหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรืออพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด
แต่ว่าข้อกำหนดพวกนี้ ยังไม่ได้ออกมาในวันนี้ (24 มีนาคม) นะ เพราะเราต้องมารอลุ้นกันอีกทีว่าเมื่อถึงวันที่ 26 มีนาคมแล้ว นายกฯ จะหยิบแต่ละข้อมาใช้อย่างไรบ้าง?
3.) คำถามที่หลายคนสงสัยคือ แล้วการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันหมายถึงการประกาศเคอร์ฟิวรึเปล่า?
คำตอบคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้แปลว่าเคอร์ฟิวนะ แต่ว่าเคอร์ฟิวเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่นายกฯ สามารถสั่งให้มีได้ตามอำนาจที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มอบให้ (ตามข้อกำหนดในข้อ 2)
และที่สำคัญก็คือ นายกฯ ต้องมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อน ถึงจะมีอำนาจกำหนดเคอร์ฟิวได้ คือทุกอย่างมันจะค่อยๆ เป็นไปตามสเตปแหละ เพราะฉะนั้น ตอนนี้-วันนี้ ยังไม่เคอร์ฟิวนะ!
4.) นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีข้อความที่บอกด้วยว่า ถ้าหากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังมีคนที่ฝ่าฝืนกฎ เจ้าหน้าที่ก็จะมีอำนาจหลายอย่าง เช่น อำนาจที่จะเข้าควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัย, ออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมาให้ข้อมูล, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร, ออกคำสั่งยึดสินค้า, ออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ทำลายอาคาร รวมถึง การตรวจสอบจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ ยับยั้งการสื่อสารใดๆ
5) อีกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน คือการจัดตั้งทีมงานชุดพิเศษขึ้นมาด้วยนะ โดยทีมงานนี้ก็คือ ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ บางทีก็เรียกว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่หลักๆ ก็จะเรียกชื่อย่อกันว่า ‘ศอฉ.’ นั่นเอง
6) ศูนย์นี้จะทำหน้าที่คล้ายกับเป็นกลไกสำคัญ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และสั่งการให้แก้ไขเรื่องราวต่างๆ ได้โดยเร็ว เนื่องจากจะมีรัฐมนตรีคอยสั่งการโดยตรง
7) ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกันมาแล้ว 6 ครั้ง โดยทุกครั้งเกิดขึ้นในเหตุผลเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เช่น ในปี 2548 อดีตนายกฯ ทักษิณ เคยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนครั้งต่อจากนั้น จะเป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ทั้งในสมัยอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่อยมาจนถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
8) แต่กับครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลชี้แจงว่า เป็นเรื่องการจัดการวิกฤติโรคระบาด
9) สิ่งที่คนไทยต้องรอความชัดเจนหลังจากนี้ คือรายละเอียดจากรัฐบาลอีกทีหนึ่งว่า ตกลงแล้ว รัฐบาลจะออกกำหนดเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องเวลาเข้าออกที่พัก รวมถึง การเดินทางออกนอกพื้นที่ รวมถึงคำถามว่า แล้วจะประกาศใช้ในพื้นที่ไหนบ้าง?
อ้างอิงจาก
https://ilaw.or.th/node/273?fbclid=IwAR2-paoNDaf2_q4xgUP2gOnz7a-HFs2NYuT3zsdREwDYu8jDRg9TMVqfa1c
https://www.posttoday.com/politic/news/618615
https://www.bbc.com/thai/thailand-52014435
#recap #โควิด19 #TheMATTER