ร้านค้าก็ต้องปิด เงินเดือนก็ถูกลด ผลที่ตามมาจากการระบาดจาก COVID-19 ที่สร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างมหาศาล ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาตรการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
แต่พอเริ่มเปิดให้ลงทะเบียน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมาย จากปัญหาเว็บไซต์ล่ม ลงทะเบียนไม่ได้ ไปจนถึงเกณฑ์ในการให้สิทธิ์ต่างๆ เราจึงขอสรุปเรื่องราวของโครงการดังกล่าวมาดังนี้
1) การระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัก กระทรวงการคลังจึงออกมาตรการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยประกาศว่าจะจ่ายเงินเยียวยาประชาชนในกลุ่มลูกจ้างใช้แรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ ‘www.เราไม่ทิ้งกัน,com’ ในช่วง 18.00 น. ของเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
2) ช่วงเวลาประมาณ 3 นาทีก่อนที่ระบบจะเปิด (17.57 น.) ก็มีผู้คนเข้าไปรอลงทะเบียนมากถึง 2.2 ล้านคน ซึ่งในระหว่างการลงทะเบียน หลายคนต้องพบกับข้อความว่า ‘ดำเนินการไม่สำเร็จ กรุณาลองใหม่อีกครั้ง’ ก่อนที่หน้าเว็บไซต์จะขึ้นว่า ‘error’ และไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ ทำให้หลายคนออกมาพูดถึงความไม่เสถียรของระบบนี้
3) ก่อนหน้านี้ ก็มีคนตั้งข้อกังวลว่า เว็บไซต์ยืนยันว่า เว็บไซต์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ จะล่มไหม ส่วนทางด้าน ชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่า สามารถเข้าไปรับสิทธิ์ได้ทุกช่วงเวลา เนื่องจากเว็บฯ เปิด 24 ชม. จึงไม่จำเป็นต้องแห่เข้ามาลงทะเบียนตั้งแต่วันแรก
4) หลังจากเกิดเหตุเว็บฯ ล่มลงไปชั่วคราว ลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้อธิบายว่า มีผู้เข้ามาลงทะเบียนมากถึง 20 ล้านคน ในช่วงหัวค่ำ ซึ่งเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ และในช่วง 20.00 น.ของในวันลงทะเบียนนั้น ระบบก็กลับมาเปิดให้ใช้งานได้อีกครั้ง
5) ต่อมา เมื่อวันที่ 7 เมษายน ก็มีการขยายเวลาแจกเงินเยียวยาจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน และมียอดรวมเป็น 30,000 บาทต่อคน โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีประชาชนที่มีสิทธิ์รับเงินประมาณ 9 ล้านคน ทั้งยังระบุกลุ่มคนที่ ‘ไม่มีสิทธิ์’ รับเงินเยียวยา เช่น กลุ่มผู้ค้าขายออนไลน์ นักเรียน/นักศึกษา โปรแกรมเมอร์ คนงานก่อสร้าง ผู้รับเงินบำนาญ และคนที่ว่างงานอยู่ก่อนแล้ว เป็นต้น
6) และเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่กระทรวงการคลังตรวจสอบและคัดกรองผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา ในรอบที่ 1 จำนวน 7.99 ล้านราย จากยอดคนลงทะเบียนที่มากกว่า 27 ล้านราย ปรากฏว่า มีกลุ่มที่ผ่านเกณฑ์ 1.68 ล้านราย โดยจะมีการโอนเงินเข้าบัญชีที่ได้ลงทะเบียนไว้ ในช่วงวันที่ 8-10 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ มีกลุ่มที่ต้อง ‘ขอข้อมูลเพิ่มเติม’ 1.53 ล้านราย และมีกลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์อีก 4.78 ล้านราย
7) กลุ่มผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์หลายคน ได้ระบุว่า เมื่อเข้าไปอ่านข้อความชี้แจงจากระบบ ก็พบว่าข้อความที่ระบุว่าพวกเขาเป็น ‘เกษตรกร’ เป็น ‘นักศึกษา’ หรือ ‘ไม่มีข้อมูลในระบบ’ ทั้งที่มันไม่ใช่อาชีพที่ตรงตามชีวิตจริงของพวกเขา ทำให้หลายคนต้องออกมาเรียกร้องขอคำชี้แจงจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา แต่ได้รับคำตอบว่า ต้องยื่นอุทธรณ์
8) ผลจากการตรวจสอบคัดกรองนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงระบบคัดกรองที่กระทรวงการคลังกล่าวว่า ใช้ระบบ AI เข้ามาช่วย โดยทางเว็บไซต์ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ได้รายงานว่า ระบบ AI ที่นำมาใช้นั้น ไม่ใช่ AI ประเภท Machine learning หรือ Deep learning และยังมีมนุษย์เป็นผู้ช่วยในระบบคัดกรองด้วย
9) จนช่วงเช้าของวันนี้ (14 เมษายน) ผู้คนจำนวนมากเดินทางไปที่กระทรวงการคลัง หลังจากที่มีรายงานว่ากระทรวงการคลังติดป้าย ‘เปิดบริการจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์การขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท’ แต่ ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ก็ออกมาชี้แจงว่า ต้องรอลงยื่นอุทธรณ์ผ่านทางออนไลน์เท่านั้น เร็วสุดคือวันที่ 19 เมษายน หรือช้าสุดวันที่ 22 เมษายนนี้
10) เว็บไซต์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เป็นมาตรการเยียวยาประชาชนในช่วงวิกฤต ที่รัฐบาลรับปากว่า จะช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีอีกหลายคนที่ถูกระบุให้เป็นกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์
ที่ผ่านมาได้มีหลายๆ คนที่ทราบว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติ จึงไปถอนชื่อทางออนไลน์ตามคำแนะนำของรัฐบาล ขณะที่ทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ก็เคยออกมาให้ความเห็นว่า หากใครบิดเบือนข้อมูลส่วนตัวในการลงทะเบียนโครงการนี้ ก็อาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้
หลังจากนี้ คงต้องติดตามว่า มาตรการเพิ่มเติมที่รัฐบาลจะออกมาจะเป็นอย่างไร แล้วจะครอบคลุมและตอบโจทย์ปัญหาชีวิตของผู้คน ที่กำลังเดือดร้อนในหลายภาคส่วนได้หรือไม่?
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/brief/brief-1585398323/106136
https://www.prachachat.net/finance/news-447810
https://www.thebangkokinsight.com/320781/
https://voicetv.co.th/read/cxGc3i3UH
https://www.prachachat.net/finance/news-447810
https://www.prachachat.net/finance/news-448632
https://www.matichon.co.th/politics/news_2125881
https://www.brighttv.co.th/news/social/raomaitingkan-covid-prison
#recap #เราไม่ทิ้งกัน #TheMATTER