ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตไวรัส COVID-19 ที่ยังแพร่ระบาด การเปิดศึกจัดการกับศัตรูอย่างไวรัสที่มองไม่เห็นก็เป็นเรื่องยากแล้ว ในเวทีระหว่างประเทศเอง ก็มีประเด็นเดือดจากการจัดการไวรัสเช่นกัน ระหว่างองค์กรระหว่างประเทศอย่าง WHO หรือองค์กรอนามัยโลก ที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงนี้ กับ ปธน.สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และไต้หวัน ที่เข้ามาเกี่ยวกันด้วย
ซึ่งมาถึงวันนี้ ทรัมป์ก็ได้ออกมาประกาศว่า จะหยุดการให้เงินสนับสนุนแก่ WHO ในช่วงที่ทั่วโลกต้องการข้อมูล เครื่องมือ และการสนับสนุนทางการแพทย์อย่างหนัก ทั้งทรัมป์ยังบอกให้ WHO กลับไปทบทวนการทำงาน และบริหารองค์กรตัวเองด้วย
ศึกนี้เริ่มต้นได้อย่างไร WHO กับทรัมป์ทะเลาะอะไรกัน ไต้หวันมาเกี่ยวข้องด้วยได้อย่างไร และอะไรเป็นประเด็นทำให้ทรัมป์เดือด จนระงับเงินสนับสนุน WHO รวมถึงชาติอื่นๆ และผู้เชี่ยวชาญมองการโต้เถียงครั้งนี้อย่างไร The MATTER สรุปเหตุการณ์มาให้แล้ว
1) ในการจัดการวิกฤตไวรัสระบาดครั้งนี้ WHO เอง ถูกวิพากวิจารณ์จากหลายด้าน ถึงการดำเนินงานที่ล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนประเทศต่างๆ การให้คำแนะนำที่ผิดพลาด ถึงขนาดมีกระแสเรียกร้องในโลกออนไลน์ ลงชื่อให้ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.ของ WHO ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากการทำงานล้มเหลว
2) การทำงานของ WHO ไม่ใช่แค่ประเด็นทางการแพทย์เท่านั้น แต่เริ่มเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม ที่สถานการณ์ของการระบาดเลวร้ายลง มีประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลไต้หวันก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันได้แจ้งเตือนกับทาง WHO ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2019 โดยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบการแพร่ระบาดของไวรัสที่เมืองอู่ฮั่นของจีน รวมทั้งถามถึงการการติดต่อจากคนสู่คน
ซึ่งทางไต้หวันบอกว่า WHO ยืนยันว่าได้รับจดหมาย แต่ไม่มีการตอบกลับมาแต่อย่างใด จนมีการตั้งคำถามถึงการปิดบังข้อมูลของ WHO
3) นอกจากนั้น ไต้หวันยังร้องเรียนว่า WHO ได้รวมผู้ติดเชื้อในไต้หวันอยู่รวมกับของจีน ทำให้หลายประเทศมองว่า สถานการณ์ในไต้หวันรุนแรง ทั้งที่ปัจุบันไต้หวันพบผู้ติดเชื้อไม่ถึง 400 ราย และไต้หวันเองที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสมาชิกของ WHO ยังไม่สามารถร่วมแชร์ข้อมูลการจัดการไวรัสให้รัฐสมาชิกอื่นๆ ได้ด้วย
4) เมื่อไต้หวันเปิดเผย สื่อหลายแห่งก็ได้พยายามสอบถามถึงข้อเท็จจริงนี้ แต่ทาง WHO เองก็เลี่ยงการให้คำตอบ ซึ่งมีการสัมภาษณ์หนึ่งของ บรูซ เอลวาร์ด ผู้ช่วย ผอ. WHO ผ่านทางโทรศัพท์กับสื่อของฮ่องกง นักข่าวได้ถามถึงการพิจารณารับไต้หวันเป็นประเทศสมาชิก แต่เอลวาร์ดตอบว่า เขาไม่ได้ยิน ขอเปลี่ยนคำถาม และวางสายไปเมื่อเธอถามอีกครั้ง ซึ่งเมื่อมีการโทรกลับไป และถามถึงประเด็นนี้อีกครั้ง เขาก็ได้ตอบว่า “เราได้พูดคุยเกี่ยวกับประเทศจีนไปแล้ว”
5) ด้านกีบรีเยซุส ผอ. WHO ก็ออกมาตอบโต้ไต้หวัน โดยเขาออกมากล่าวหาว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เขาถูกเหยียดชาติ ด้วยการถูกเรียกว่า ‘คนดำ และนิโกร’ และยังถูกคุกคามถึงชีวิต โดยมีไต้หวันเป็นผู้นำการโจมตีอยู่เบื้องหลัง และกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันก็ทราบเรื่องนี้ดี แต่ไม่เคยออกมาปฏิเสธเลย
6) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน โจแอนน์ อู ได้ออกมาประณามและประท้วงข้อครหาที่ไม่มีมูลเหล่านี้ ซึ่งเธอระบุว่าเป็นการคิดไปเองของกีบรีเยซุส รวมถึง ไช่ อิง เหวิน ปธน.ของไต้หวัน ก็ได้ออกมาตอบโต้กีบรีเยซุสว่า ไต้หวันต่างหากที่ถูกกีดกัน และโดดเดี่ยวจากองค์กรระหว่างประเทศ
“หาก ผอ.สามารถต้านทานแรงกดดันจากจีนและมาไต้หวันเพื่อดูความพยายามของไต้หวันในการต่อสู้กับ COVID-19 ด้วยตัวเขาเองเขาจะสามารถเห็นได้ว่าคนไต้หวันเป็นเหยื่อของการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม” เธอกล่าว
7) ไม่เพียงแค่ไต้หวัน ที่ออกมาเปิดวอร์กับ WHO แต่สหรัฐฯ นำโดยทรัมป์ ก็ได้ออกมาวิจารณ์ และโจมตี WHO ว่า การทำงานที่บกพร่อง และล่าช้าขององค์กร เป็นผลให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งเขายังบอกว่า WHO เข้าข้าง และรับฟังจีนมากเกินไป จนกลายเป็นการส่งเสริมการบิดเบือนข้อมูลจากจีน และขู่จะตัดเงินช่วยเหลือ WHO ด้วย
8.) ทั้งทรัมป์ เองยังมองว่า WHO โจมตีนโยบายของเขา หลังจากที่สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศแบนไฟล์ทบินจากจีนตั้งแต่ปลายเดือนมกราคา แต่ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ กีบรีเยซุสได้ออกมาแนะนำให้ประเทศต่างๆ ให้เปิดพรมแดนต่อไป และขอให้ประเทศต่างๆ อย่าจำกัดข้อกำหนดในการเดินทาง และการค้าขาย จากการระบาดของไวรัส เพราะมาตรการดังกล่าวจะสร้างความกลัว และความเสื่อมเสียกับนานาชาติ ซึ่งแลกกับผลประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนเพียงเล็กน้อย
9) โดยทรัมป์ได้ออกมาทวีตข้อความโจมตีองค์กรนี้ว่า WHO พลาดมากๆ องค์กรได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ จำนวนมาก แต่เขาก็ยังพุ่งความสนใจไปที่จีน ทั้งยังบอกให้เราเปิดเขตแดน โชคดีที่ฉันปฏิเสธคำแนะนำของพวกเขา และยังตั้งคำถามด้วยว่า “ทำไมพวกเขาถึงให้คำแนะนำที่ผิดพลาดกับเรา?”
10) หลังจากนั้น โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เอง ก็ออกมาย้ำท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการโจมตี WHO อีกรอบว่า แจ้งเตือนเรื่อง COVID-19 ล่าช้า เกรงใจจีน และไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการแจ้งเตือนจากไต้หวัน โดยเธอกล่าวว่า “เป็นอีกครั้งที่ WHO เลือกการเมืองอยู่เหนือสุขภาพของประชาชน” พร้อมวิจารณ์ WHO ที่ไม่ยอมให้สถานะไต้หวัน เป็นผู้สังเกตการณ์ และพฤติการณ์ของ WHO ทำให้ทั้งเสียเวลาและชีวิตคน
11) แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการมองว่า การที่ทรัมป์หันมาโจมตี WHO เป็นเพราะต้องการเบนความสนใจ จากการรับมือ และการจัดการที่ผิดพลาดของเขาในสหรัฐฯ จนกลายเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกเช่นกัน โดยถ้าย้อนดูไทม์ไลน์ของ WHO จะเห็นว่า องค์กรได้ทำการแต้งเตือนการระบาดในอู่ฮั่นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา และต่อมาได้มีการสรุปให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และรัฐบาลประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับการระบาดของโรค และได้เริ่มแจกจ่ายแนวทางไปยังประเทศสมาชิก เพื่อให้ประเมิน และวางแผนความเสี่ยงในประเทศของตน
12) ประเด็นที่ทรัมป์ และนักวิจารณ์อื่นๆ โจมตี WHO เป็นพิเศษคือ การทวีตข้อความในวันที่ 10 มกราคม ว่า ไม่แนะนำให้ตรวจสอบคนที่เดินทางเข้าออกอู่ฮั่น และในวันที่ 14 มกราคม ยังยืนยันคำกล่าวอ้างของจีนว่า ยังไม่มีพิสูจน์ว่า ไวรัสนั้นติดต่อระหว่างคนสู่คน ก่อนจะมายืนยันการติดต่อระหว่างคนสู่คนในวันที่ 23 มกราคม และยกระดับความเสี่ยงของโรคในระดับสูง ซึ่งถูกมองว่าเชื่อฟังจีนมากเกินไป
13) นอกจากนั้น ยังมีเหตุการณ์ที่ทำให้ WHO ถูกวิจารณ์อย่างหนัก คือ กรณีเมื่อกีบรีเยซุส เดินทางไปจีนช่วงสิ้นเดือนมกราคม เพื่อประชุมกับสี จิ้นผิง ซึ่งเขาได้ออกมาบอกว่า การศึกษาที่ดำเนินการโดยจีนนั้นโปร่งใส ขณะที่หลายฝ่ายมีความสงสัยว่า จีนปกปิดการระบาด รวมถึงการที่ WHO ยอมจีนมากไป จากการที่จีนไม่ยอมให้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในอู่ฮั่นในช่งแรกของการระบาด จนกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเริ่มมีเจ้าหน้าที่ WHO เข้าไป ซึ่งถูกมองว่า ล่าช้าเกินไปแล้ว
14) นอกจากไต้หวัน และสหรัฐฯ แล้ว ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศ ที่ออมาโจมตี WHO โดย ทาโร อาโซะ รองนายกฯ ญี่ปุ่น และ รมต.การคลังเองก็ออกมากล่าวว่า มีคนเริ่มมองว่าองค์การอนามัยโลก เป็นองค์การอนามัยจีน หรือ CHO (Chinese Health Organization) เพราะสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดจากปักกิ่ง และการไม่สนใจคำเตือนของไต้หวันด้วย
.
15) หลังจากขู่ และโจมตีมาหลายวัน เมื่อวานนี้เอง (15 เมษายน) ทรัมป์ก็ได้ออกมาประกาศระงับการให้เงินสนับสนุนแก่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO แล้ว ทั้งยังบอกให้อนามัยโลกทบทวนองค์กรตัวเองในด้านการบริหารจัดการที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง จนส่งผลให้ไวรัสระบาดไปทั่วโลก
16) สำหรับสหรัฐฯ ถือเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของ WHO โดยเงินช่วยเหลือแต่ละปีของสหรัฐฯ อยู่ที่ 400-500 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 15% ของจำนวนเงินสนับสนุนทั้งหมดที่ WHO ได้รับในปีที่แล้ว ในขณะที่เงินสนับสนุนจากจีนนั้นอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์ต่อปี
17) แต่เงินช่วยเหลือก้อนดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ผ่านสภาคองเกรสแล้ว และในทางทฤษฎี ทำเนียบขาวเองไม่สามารถปิดกั้นการระดมทุนเพื่อองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับคำสั่งจากรัฐสภาได้ แต่ก็มีการคาดว่ารัฐบาลเอง จะใช้วิธีไม่จ่ายเงิน หรือคว่ำบาตรแทนด้วย รวมถึงต้องมีการอนุมัติจากวุฒิสภาในการโอนงบไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นแทน
18) ด้าน ดร. ฮันส์ คลอจจ์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปของ WHO เอง ก็ออกมาโต้ตอบทรัมป์ว่า ในตอนนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะตัดงบช่วยเหลือ ในขณะที่การระบาดยังเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งกีบรีเยซุสเอง ก็ออกมาบอกว่า เสียใจต่อการตัดสินใจของทรัมป์ และ WHO “จะทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราเพื่อเติมช่องว่างทางการเงิน ที่เราเผชิญ และเพื่อให้มั่นใจว่างานของเราจะไม่หยุดชะงัก”
19) ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เอง ต่างก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ โดย ริชาร์ด ฮอร์ตัน หัวหน้าบรรณาธิการวารสารการแพทย์ Lancet ระบุว่าว่าการตัดสินใจของทรัมป์คือ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์ทุกคนผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพทุกคน พลเมืองทุกคน ต้องต่อต้านและกบฏต่อการทรยศต่อความเป็นปึกแผ่นของโลกใบนี้” เช่นเดียวกับแพทย์คนอื่นๆ ที่กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจที่คิดสั้น และอันตรายอย่างล้ำลึกด้วย
20) บิล เกตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft และผู้ที่ทำงานระดมทุนเกี่ยวกับโรคระบาดมายาวนานเอง ก็เป็นอีกคนที่ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ โดยเขาได้ทวีตว่าการตัดสินใจของทรัมป์นั้น เป็นอันตราย และงานของ WHO ในตอนนี้คือการชะลอการแพร่กระจายไวรัส COVID-19 “ถ้างานนั้นต้องหยุดลง ก็ไม่มีองค์กรอื่นใดมาแทนที่พวกเขาได้ ตอนนี้โลกต้องการ WHO มากขึ้นกว่าเดิม” เกตต์ระบุ
21) จีนเอง ก็ออกมาโต้ตอบสหรัฐฯ ในเรื่องนี้เช่นกัน โดยการขอให้สหรัฐฯ ทำตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับ WHO และมองว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ จะส่งผลเสียต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ขณะที่ผู้นำประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลียก็ออกมายืนยันว่าจะไม่ลดการสนับสนุน และเข้าใจว่าตอนนี้ WHO กำลังทำงานอย่างหนักด้วย
การจัดการไวรัส ที่กลายเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศนี้จะจบลงอย่างไร ? บทบาทของ WHO ต่อการเมืองระหว่างประเทศเองจะถูกตั้งคำถามอีกหรือไม่ ? ทรัมป์จะตัดเงินช่วยเหลือ WHO จริงไหม ? และหากถูกตัดงบประมาณก้อนใหญ่นี้แล้ว จะส่งผลต่อการจัดการไวรัส และการทำงานของ WHO ขนาดไหน เราคงต้องติดตามประเด็นเหล่านี้กันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-52230833
https://www.bbc.com/news/world-asia-52088167
https://www.theguardian.com/us-news/2020/apr/15/trump-turns-against-who-to-mask-his-own-stark-failings-on-covid-19-crisis?CMP=fb_gu&utm_medium=Social&utm_source=Facebook&fbclid=IwAR1TW4bMBrqqO2QGMVYfxD0sskBWBeGRO8kcfI36pdTw_UGgrsY2QtURX_s#Echobox=1586930630
https://edition.cnn.com/2020/04/15/business/who-funding-bill-gates-dangerous/index.html?utm_medium=social&utm_content=2020-04-15T10%3A06%3A06&utm_term=link&utm_source=twCNNi
https://www.cnbc.com/2020/04/08/who-responds-to-trumps-threat-to-cut-funding.html
https://www.nytimes.com/2020/04/08/world/asia/trump-who-coronavirus-china.html
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872439
#Recap #TheMATTER