อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กำลังเป็นวิกฤตทั่วโลก หลายประเทศได้ออกมาตรการรับมือด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน ล็อกดาวน์เมือง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และลดกิจกรรมการรวมตัวทางสังคมต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯ ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ก็เป็นหนึ่งประเทศที่หลายๆ รัฐได้ออกมาตรการปิดเมือง
แต่หลังจากที่ปิดเมืองกันไปได้ซักพัก ตอนนี้ กลับเกิดกระแสเรียกร้อง ไปถึงการชุมนุมของประชาชนบางส่วน ที่ออกมาขอให้รัฐกลับมาเปิดเมืองได้แล้ว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เอง ก็มองว่าสถานการณ์การระบาดในประเทศยังไม่ดีขึ้นขนาดที่จะผ่อนคลายนโยบายได้ รวมถึงความกังวลว่าการออกมาชุมนุม จะยิ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสมากขึ้นด้วย
เกิดอะไรขึ้นในสหรัฐฯ ผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องเพราะอะไร ท่าทีของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร The MATTER สรุปเหตุการณ์มาให้แล้ว
1) ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ประชาชนในหลายรัฐ ของสหรัฐฯ ได้เริ่มออกมาชุมนุมเรียกร้อง ขอให้รัฐบาลท้องถิ่นเปิดเมือง เนื่องจากต้องการให้เมืองกลับสู่สภาพปกติ และกังวลถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้น โดยมีทั้งประชาชนในรัฐมิชิแกน ยูทาร์ เท็กซัส โอไฮโอ เคนทักกี นอร์ท แคโรไรลา มิเนสโซตา เป็นต้น
2) ประชาชนเหล่านี้มองว่า ถึงเวลาที่รัฐจะต้องคลายมาตรการล็อกดาวน์ และบอกว่า พวกเขากังวลเรื่องปากท้อง และเศรษฐกิจ มากกว่าความกลัวเรื่องเชื้อไวรัส ซึ่งในการชุมนุม ประชาชนได้ชูป้ายที่ต่างมีข้อความว่า ‘คุณไม่สามารถปิดอเมริกาได้’ ‘คืนเสรีภาพให้เรา’ ‘อเมริกาคือดินแดนแห่งเสรีภาพ’ และบางส่วนที่มองว่ามาตรการเหล่านี้ คือการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ และรัฐไม่มีสิทธิในการห้ามไม่ให้พวกเขาไปทำงาน ไปโบสถ์ หรือออกจากบ้านได้ โดยบางรัฐผู้ชุมนุมมีการนำปืนออกมากับตัวด้วย
3) ผู้ชุมนุมบางส่วนนั้นนำโดยกลุ่มนักกิจกรรมอนุรักษ์นิยม หรือขวาจัด และยังมีกลุ่มได้ถือป้าย และสัญลักษณ์สนับสนุนทรัมป์ โดยพวกเขามองว่า การปิดเมืองเป็นแผนการส่วนหนึ่งของรัฐบาลท้องถิ่น ที่จะบ่อนทำลายเศรษฐกิจ และทำร้ายโอกาสในการเลือกตั้งครั้งใหม่ของทรัมป์ ขณะที่บางคนเอง ก็ไม่ได้ออกมาชุมนุมเพราะสนับสนุนทรัมป์ แต่กังวลว่าการเมืองจะกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของพวกเขาจริงๆ
4) ซึ่งประชาชนที่มารวมตัวเหล่านั้น ต่างก็ไม่ได้เว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงหลายๆ คนยังไม่แม้กระทั่งสวมหน้ากากอนามัยเลยด้วย และยังมีบางส่วนที่ต่อต้านการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือต่อต้านคำสั่งให้อยู่บ้านของรัฐบาลท้องถิ่นด้วย โดยมองว่าเป็นคำสั่งที่ไร้สาระ
5) นอกจากการออกมาชุมนุมแล้ว ในบางรัฐ ผู้ประท้วงต่อต้านการล็อกดาวน์ ยังใช้วิธีอย่างการขับรถไปรอบๆ เมือง บีบแตร และตะโกนถ้อยคำต่างๆ ซึ่งมีทั้งรถบรรทุก รถตู้ รถจักรยาน หรือแม้แต่ขี่ม้า สวมหมวกคาวบอย และถือธงชาติอเมริกันโบกไปรอบๆ ก็มี
6) รัฐมิชิแกน หนึ่งในรัฐที่มีการชุมนุม มีประชาชนออกมารวมตัวมากถึง 3,000 คน ซึ่งนอกจากการเรียกร้องเปิดเมืองแล้ว ยังมีการมองว่า ผู้ชุมนุม เป็นกลุ่มของผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ที่ต่อต้านผู้ว่าการรัฐมิชิแกน เกรตเชน วิตเมอร์ (Gretchen Esther Whitmer) จากพรรคเดโมแครต ที่อาจถูกเสนอเป็น รอง ปธน.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งพวกเขายังตะโกนแคมเปญว่า ‘lock her up’ หรือจับเธอขัง
7) ผู้ว่าการรัฐฯ วิตเมอร์ เอง เมื่อมีประชาชนมาต่อต้าน ก็ออกมาบอกว่า การประท้วงเป็นสิทธิของประชาชน ที่กังวลเรื่องเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่รัฐกังวลคือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อาจเกิดจากการชุมนุมนี้ ทำให้อาจต้องยืดมาตรการป้องกันออกไปอีก
8) ไม่เพียงแค่เรื่องของเศรษฐกิจ ที่ถูกนำมาเป็นประเด็นต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ เพราะในเท็กซัส ก็มีการประท้วงโดยมีแกนนำเป็นนักทฤษฎีสมคบคิด ที่พูดถึงว่า โคโรนาไวรัสเป็นเพียงแค่เรื่องหลอกลวง ไวรัสไม่แพร่ระบาด และพวกเขาแข็งแรงโดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยเลย เช่นเดียวกับ ผู้ชุมนุมวัย 46 ปีรายหนึ่ง ที่มาชุมนุมพร้อมลูกสาววัย 6 ขวบ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ไม่กลัวเชื้อโรคที่เกิดขึ้น มีเชื้อโรคที่เกิดรอบตัวเราตลอดเวลา และส่วนใหญ่เรามีสุขภาพดี
9) ขณะที่ในเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ได้มีการแชร์ภาพ และคลิปเหตุการณ์การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่การแพทย์ 2 ราย สวมหน้ากากอนามัย ที่เข้าไปยืนขวางขบวนรถของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งกลายเป็นไวรัล โดยผู้ชุมนุมต่างก็ตะโกนออกมาใส่เจ้าหน้าที่ว่านี่เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ และไล่ให้เจ้าหน้าที่ไปยังประเทศจีนด้วย
10) หลังจากมีกระแสของผู้ชุมนุม ปธน.ทรัมป์ ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนผู้ประท้วง โดยเขาได้ทวีต 3 ข้อความว่า ปลดปล่อยมิชิแกน ปลดปล่อยมิเนสโซตา และปลดปล่อยเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีการชุมนุม และล้วนแต่มีผู้ว่าการรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครต
11) เช่นเดียวกับ เจฟฟ์ แลนดรี (Jeff Landry) อัยการของรัฐหลุยเซียนา จากรีพับลิกัน ที่ก็ออกมากล่าวว่า ตอนนี้มีเหตุความไม่สงบมากมาย และ “ผู้ว่าการฯ ที่ใช้การระบาดใหญ่เป็นข้ออ้างในการดำเนินมาตรการบางอย่างให้เป็นไปตามความเสี่ยง”
12) แต่ถึงแม้ว่าจะมีการประท้วงในหลายรัฐทั่วอเมริกา แต่ก็มีการมองว่า ประชาชนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนส่วนน้อยเท่านั้น เพราะจากผลสำรวจชาวอเมริกันของ Politico และ Morning Consult เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน 81% มองว่า ควรจะยังคงมีมาตรการระยะทางสังคมต่อไป ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 แม้ว่ามันจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจก็ตาม ขณะที่ผลสำรวจของ NBC พบว่า ประชาชน 60% กังวัลเกี่ยวกับไวรัสมากกว่าเศรษฐกิจ
13) สถานการณ์การระบาดของไวรัสในสหรัฐฯ เรียกได้ว่ายังคงมีการพบผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แม้ว่าในหลายรัฐจะคาดว่า จำนวนเหล่านั้นเลยจุดสูงสุดมาแล้ว ซึ่งไม่ใช่ว่ามาตรการคลายล็อกดาวน์จะไม่มีการพูดถึงเลย เพราะในบางรัฐอย่าง จอร์เจีย ก็มีการประกาศว่าจะเปิดเมืองในวันศุกร์นี้
14) ขณะที่ผู้ว่าการรัฐฯ เทนเนสซี ก็บอกว่าคำสั่งให้อยู่บ้านจะหมดลงในวันที่ 30 เมษายน และวางแผนจะให้ธุรกิจกลับมาเปิดในวันที่ 1 พฤษภาคมด้วย เช่นเดียวกับเซาท์ แคโรไรนา ที่จะเริ่มเปิดธุรกิจบางส่วน แต่ยังให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการระยะห่างทางสังคม
15) แต่ถึงอย่างนั้น การคลายข้อกำหนดมาตรการล็อกดาวน์ ก็เกิดขึ้นพร้อมความกังวล และความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ที่มองว่า เร็วไปที่จะเปิดเมือง และการเปิดจะทำให้เกิดการระบาดระลอกที่ 2 ได้ ซึ่งจากการสำรวจของ Pew ยังพบว่า 66% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมองว่า พวกเขากังวลมากขึ้นว่า รัฐบาลของแต่ละรัฐจะยกเลิกข้อจำกัด เร็วเกินไปด้วย ทั้งยังมีการพูดถึงว่าการออกมาประท้วง อาจทำให้การล็อกดาวน์จำเป็นที่จะต้องขยายออกไปมากขึ้นด้วย
16) ไม่เพียงแค่ประชาชนสหรัฐฯ ที่มีการออกมาชุมนุมขอให้เปิดเมือง แต่ในบราซิลเองก็มีการชุมนุมคัดค้านคำสั่งปิดเมืองของรัฐบาลท้องถิ่นเช่นกัน ซึ่งแม้แต่ ปธน.ชาอีร์ โบลโซนาโรของบราซิล ก็เข้าร่วมประท้วง เพราะมองว่ามาตรการกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
สถานการณ์ในสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีการชุมนุมประท้วงมากขึ้นหรือไม่ แต่ละรัฐจะมีมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์แบบไหน และการเปิดเมืองนั้น จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างที่มีการกังวลหรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2020/04/18/us/texas-protests-stay-at-home.html
https://nowthisnews.com/news/health-care-workers-stand-up-to-people-protesting-stay-at-home-orders
https://edition.cnn.com/2020/04/20/us/coronavirus-updates-monday/index.html
https://www.nytimes.com/2020/04/18/us/texas-protests-stay-at-home.html
https://news.yahoo.com/us-anti-confinement-protesters-demand-economic-freedom-221429304.html
https://www.bbc.com/news/world-latin-america-52351636
#recap #TheMATTER