CPTPP คืออะไร? สำคัญกับเราอย่างไร? อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่สำคัญต่อความเป็นอยู่ของเรา หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ทำเรื่องขอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ในวันที่ 28 เมษายนนี้ จนมีกระแสคัดค้าน และการ Mob From Home เพื่อคัดค้านการเข้าร่วมข้อตกลงนี้
The MATTER จึงขอสรุปมาให้ฟังว่า CPTPP คืออะไร ไทยควรเข้าร่วมหรือไม่ และข้อตกลงนี้จะส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง
1. CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) คือ ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก โดยครอบคลุมในหลายประเด็น เช่น การเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน รัฐวิสาหกิจ กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
2. ตอนนี้ ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP มีอยู่ 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ลงนามไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี พ.ศ.2561 และมี 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว โดยสมาชิกของ CPTPP มีรวมกันกว่า 500 ล้านคน คิดเป็น GDP รวมกัน 10 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 13% ของโลก
3. CPTPP เป็นข้อตกลงที่ปรับใหม่จากข้อตกลงทางการค้าเดิมที่ชื่อ TPP (Trans-Pacific Partnership) หรือก็คือ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก แต่หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกไปเมื่อปี พ.ศ.2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็เดินหน้าต่อ โดยปรับมาใช้ชื่อ CPTPP
4. พอสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป ก็กลายเป็นว่า หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ตลาดที่ไทยจะได้เพิ่มก็คือ เม็กซิโกและแคนาดา เพราะอีก 9 ประเทศสมาชิกที่เหลือนั้น เรามีข้อตกลงการค้าเสรี FTA อยู่แล้ว
5. ขณะที่ ผลการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP ระบุว่า ถ้าไทยเข้าร่วม อาจจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.12% รวมถึงการลงทุนและการส่งออกก็อาจเติบโตมากยิ่งขึ้น แต่หากไทยไม่เข้าร่วมอาจทำให้ GDP ลดลง 0.25% ทั้งยังส่งผลเสียต่อการลงทุนและการขยายการค้าของไทย รวมถึงการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตภูมิภาคในระยะยาวให้กับประเทศคู่ค้าอีกด้วย
6. อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ถ้าไทยไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาส เพราะประเทศอื่นในอาเซียน อย่างเวียดนามและสิงคโปร์เข้าร่วมแล้ว ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกไปประเทศกลุ่ม CPTPP ขยายตัวถึง 7-9% ขณะที่ การส่งออกของไทยโตเพียง 3% เท่านั้น
7. อรมน เสริมด้วยว่า COVID-19 จะเป็นปัจจัยเร่งให้ระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนเปลี่ยนไป โดยที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตของโลก และมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีกำลังการผลิตเพียงพอเกินความต้องการในประเทศ และสามารถเติบโตจนเป็นผู้ส่งออกที่ติดอันดับโลกในสินค้าต่างๆ และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ได้เป็นจำนวนมาก
8. ส่วนเรื่องข้อกังวลต่างๆ อรมน ยืนยันด้วยว่า CPTPP ยังคงให้สิทธิเกษตรกรสามารถนำพันธุ์พืชใหม่ไปใช้ทั้งผลผลิต และผลิตภัณฑ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์ หากซื้อมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และประเทศสมาชิกสามารถกำหนดสิทธิพิเศษเก็บพันธุ์พืชใหม่ไว้ปลูกต่อได้ ถ้าเป็นการปลูกต่อเพื่อใช้ประโยชน์เอง
9. แต่การเข้าร่วม CPTPP ยังมีข้อกังวลอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อเกษตรกร เพราะ CPTPP ระบุว่า สมาชิกต้องเข้าร่วมความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา 6 ฉบับ และจะทำให้ไทยต้องเข้าร่วมภาคีในอนุสัญญา UPOV 1991 หรือก็คือ สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งแปลว่า ไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายภายในบางอย่าง
10. อีกทั้ง กรรณิการ์ กิตติเวชกุล รองประธานกลุ่ม FTA Watch ยังระบุด้วยว่า การเข้าร่วม UPOV 1991 จะทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืช ผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากผลผลิตโดยบรรษัทเมล็ดพันธุ์ ทั้งยังอาจทำให้เกษตรกรทั่วไปที่เป็นผู้ปลูก-จำหน่าย ต้องซื้อและแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพันธุ์ด้วย
11. เช่นเดียวกับ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เตือนว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้อาชีพเกษตรล่มสลายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งอาจถูกฟ้องร้องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากเหล่าบริษัทข้ามชาติได้
12. นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า เกษตรกรต้องจ่ายค่าพันธุ์พืชแพงขึ้น 2-6 เท่า ทั้งยังเสียโอกาสได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากการที่บริษัทและสถาบันวิจัยต่างๆ เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ รวมถึง ปิดโอกาสวิสาหกิจและบริษัทท้องถิ่น ในการพัฒนายาที่มาจากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย
13. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ด้วยเหตุผลว่า จะทำให้นักลงทุนต่างชาติจะสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่มีข้อบังคับให้รัฐบาลต้องการขออนุมัติกรอบเจรจาจากรัฐสภาเพื่อไปเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ขาดการตรวจสอบจากนิติบัญญัติ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเพียงกลไกให้รัฐสภาเห็นชอบเมื่อเจรจาแล้วเสร็จ เพื่อลงนามรอการอนุมัติตามเท่านั้น
14. ยิ่งกว่านั้น ยังมีข้อกังวลว่า การเข้าร่วม CPTPP จะเป็นการจำกัดการเข้าถึงยาอีกด้วย โดย เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้เหตุผลว่า CPTPP จะขัดขวางการแข่งขันของบริษัทยาชื่อสามัญ ทำให้ยาจำเป็นถูกผูกขาดโดยยาต้นแบบ และทำให้ยาราคาแพง
15. เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวหลังจากการประชุมพิจารณาผลกระทบกรณีไทยเข้าร่วม CPTPP ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะไม่สนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าเป็นสมาชิกกับ CPTPP โดยสั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไทยเข้าร่วมกับ CPTPP
16. ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จะเสนอผลการศึกษาและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกรณีที่ไทยเข้าร่วม CPTPP ให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 28 เมษายนนี้ หลังจากจัดทำผลการศึกษาและการระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก FTA Watch โพสต์ว่า แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์ สั่งถอน CPTPP ออกจากวาระการประชุม ครม.แล้ว
17. แต่การถอนเรื่องนี้ ออกจากวาระการประชุม ก็ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะไม่เข้าร่วม CPTPP ซึ่งกลุ่มคนที่เข้าร่วม #MobFromHome ซึ่งเรียกร้องให้ยกเลิกการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว ก็ยังยืนยันที่จะจัดการชุมนุมเรียกร้องต่อไป เพื่อให้ไทยถอนตัวออกจาก CPTPP
การเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว ไทยจะเข้าร่วมข้อตกลงนี้หรือไม่
อ้างอิงจาก
https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-074.pdf
https://www.youtube.com/watch?v=RfPModd6WYE
https://prachatai.com/journal/2020/02/86303
https://www.facebook.com/ftawatch/photos/a.526616774015814/3197588066918658/?type=3&theater
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/878002
https://www.prachachat.net/columns/news-435116
http://www.biothai.net/sites/default/files/2013_ftathai-eu-study.pdf
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/124340
#recap #CPTPP #TheMATTER