ไม่ใช่แค่การขอเงินเยียวยา 5,000 บาทเท่านั้นที่ล่าช้า ติดปัญหายุบยับไปหมด กระทั่งผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่เงินเดือนถูกหักไปให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในทุกๆ เดือน แต่พอชีวิตต้องเจอมรสุม เผชิญกับความลำบาก มายื่นขอเงินชดเชยเพราะวิกฤต COVID-19 ไม่ว่าจะกรณีว่างงาน ชราภาพ หรือนายจ้างให้หยุดงานเพราะเหตุสุดวิสัย
แต่ผ่านมาหลายเดือนแล้ว เงินก็ยังไม่มาสักที
เป็นเพราะอะไรกันแน่?
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่า รมว.แรงงานออกมาชี้แจงว่า ที่ล่าช้ามาจากหลายปัจจัย ทั้งติดเงื่อนไขข้อกฎหมาย จำนวนผู้ยื่นขอเงินชดเชยมีมาก นายจ้างไม่รับรองข้อมูลให้ซะที แต่ที่สำคัญก็คือ เป็นเพราะระบบ IT ที่ใช้อยู่ค่อนข้างเก่า เพราะซื้อจัดมาตั้งแต่สิบปีก่อนแล้ว แถมยังมีเรื่องฉาว มีปัญหาเป็นคดีความใน ป.ป.ช.
The MATTER เลยอยากพาทุกคนย้อนไปดูกันว่า ระบบ IT เก่าสร้างปัญหาการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกันตนที่เดือดร้อนจากวิกฤต COVID-19 อย่างไร และชวนไปหาคำตอบกันว่า ถ้ารู้ว่าระบบมันเก่า แล้วทำไมถึงไม่ยอมเปลี่ยนให้ใหม่ขึ้นล่ะ ในแต่ละปี เงินจากกองทุนประกันสังคมก็มีอยู่อย่างมหาศาล
1.) ก่อนจะไปว่ากันเรื่องระบบ IT เก่า มาฟังข่าวดีจากปากหม่อมเต่ากันก่อนว่า จากผู้ยื่นขอเงินชดเชย 9.9 แสนคน มีผู้ผ่านเกณฑ์แล้ว 4.9 แสนคน รวมเป็นเงินกว่า 2,563 ล้านบาท จะให้เงินชดเชยงวดแรกได้ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้แล้ว (คนที่ยื่นเรื่องมาแล้วหลายเดือนรอติดตาม)
2.) หม่อมเต่ายังพูดถึงอีกข่าวดีในมุมมองส่วนตัวว่า การที่คนมาขอใช้สิทธิ์ไม่ถึง 1 ล้านคน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะถ้ามา 2 ล้านคน หรือ 5 ล้านคน (จากผู้อยู่ในระบบประกันสังคมราว 16 ล้านคน) “ก็คงหน้ามืดเหมือนกัน”
3.) หนึ่งในเหตุผลที่ รมว.แรงงานอ้างว่าทำให้จ่ายเงินชดเชยล่าช้า คือลูกจ้าง 2.9 แสนรายยังไม่มีนายจ้างมารับรองสิทธิ์ ซึ่งจะประสานให้เข้ามารับรองให้ครบภายในวันที่ 8 พ.ค. แต่อีกเหตุผลที่เชื่อว่าหลายๆ คนสนใจ ก็คือการอ้างถึงระบบ IT เก่า ทำให้การตรวจสอบเพื่อจ่ายเงินชดเชย เป็นไปอย่างล่าช้า
4.) ระบบ IT เก่า ทำให้การจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกันตนล่าช้าได้อย่างไร?
มีคำอธิบายอย่างละเอียดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ไม่เปิดเผยชื่อ) ที่ส่งมาถึงสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ด้านการเงิน ที่อ้างถึงระบบ IT ของ สปส. ซึ่งใช้มายาวนานถึงยี่สิบปีที่ชื่อว่า SAPIENS ซึ่งทำให้กระบวนการรับแจ้ง วินิจฉัย และอนุมัติเงินชดเชยล่าช้า เพราะด้วยระบบที่ล่าสมัยสุดขีด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องพิมพ์ข้อมูลที่เป็นดิจิทัลอยู่แล้วลงกระดาษ แล้วกรอกข้อมูลด้วยมือใส่เข้าไปในระบบใหม่ทีละคน ทั้งที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร ฯลฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่ต้องไปดูอีกด้านของ SAPIENS ว่ามีนายจ้างมารับรองหรือยัง ถ้ายังไม่มารับรองก็ทำอะไรต่อไม่ได้ ไม่รวมถึงปัญหาเรื่อง human error ถ้าเจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลผิด
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งกับคนที่วินิจฉัยยังต้องเป็นคนละคน เพราะเป็นเรื่องของเงิน ทำให้กระบวนการต่างๆ ยิ่งล่าช้าออกไปอีก
5.) ระบบ IT ที่ชื่อว่า SAPIENS ล้าหลังขนาดไหน ลองดูคำอธิบายนี้ “คำสั่งควบคุมของ SAPIENS ที่มีลักษณะไม่เหมือนกับคำสั่งของโปรแกรมสมัยใหม่ คือ มีหน้าจอเหมือน DOS และต้องกดปุ่ม F1-F12 ร่วมกับปุ่มอื่นๆ ในการสั่งการ อีกทั้ง การที่ จนท. นับพันคนใช้ระบบพร้อมกัน ทำให้ระบบช้า อืด บางทีก็ค้าง กดทีนึงแล้วต้องรอไป 3-10 วินาที หรือบางทีก็เจ๊งไปเลยครึ่งวัน เข้าไปทำงานไม่ได้ ที่ช้าอยู่แล้ว ก็ยิ่งช้าเข้าไปอีก”
อ่านมาถึงบรรทัดนี้เชื่อว่า หลายคนอาจไม่รู้จัก DOS ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์เมื่อกว่า 20-30 ปีก่อน
นี่แหละ ความเก่าแก่ของระบบนี้
6.) ผู้ให้ข้อมูลดังกล่าวกับสฤณี ก็บอกว่า เจ้าหน้าที่ สปส.เองก็งงว่าทำไมยังใช้ระบบเก่าแก่เช่นนี้อยู่ พร้อมฝากโยนคำถามด้วยว่า สปส.เคยตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อระบบ IT อื่นอย่างน้อย 3 ครั้ง เหตุใดถึงยังใช้ SAPIENS อยู่ เงินเป็นพันๆ ล้านหายไปไหน
“หลายคนถูกสั่งให้ทำงานนี้ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม อาทิตย์ละ 7 วัน คือทำเต็มที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยระบบ SAPIENS มันทำให้ทำได้เร็วที่สุดได้แค่นี้”
7.) นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ รองโฆษก สปส. ยอมรับผ่านรายการ Workpoint Today ว่า ในปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมยังใช้ระบบที่ชื่อว่า SAPIENS ที่บางส่วนต้องกรอกข้อมูลด้วยมือ ในการตรวจเช็คข้อมูลแรงงานในระบบประกันสังคมจริง แต่เมื่อถามถึงการเปลี่ยนระบบใหม่ให้ทันสมัย เขากลับตอบว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะต้องดูระบบ IT ที่ใช้ได้ยาวเป็นสิบๆ ปีข้างหน้า
8.) จากการตรวจสอบในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า สปส.เคยจ้างเอกชนเข้ามาทำระบบ IT อยู่หลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยใช้งบประมาณครั้งละหลายร้อยล้านบาท แต่ครั้งที่ใช้งบมากที่สุด คือโครงการเช่าจัดหาและดำเนินการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน ในปี พ.ศ.2549 ที่ใช้งบกว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบ IT ที่ รมว.แรงงานคนปัจจุบันอ้างว่า มีปัญหาการทุจริต และเป็นคดีความอยู่ใน ป.ป.ช.
9.) ข้อสรุปโดยสรุปเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการ สปส.ขณะนั้น ได้ผลักดัน ‘โครงการจัดหาและดำเนินการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน’ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2549 วงเงิน 2,894 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณของ สปส.เอง ที่มาตรา 24 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม เปิดช่องให้ใช้เงิน 10% จากกองทุนประกันสังคม มาใช้ในการบริหารจัดการงานภายในสำนักงานได้
ก่อนจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. อนุมัติปีเดียวกัน ที่ต่อมาธุรกิจค้าร่วม SOA Consortium ชนะการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 2 ราย
10.) อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวถูกทักท้วงเรื่องความคุ้มค่า และปัญหาทางข้อกฎหมาย เพราะโครงการดังกล่าวมีบางส่วนไปเกี่ยวข้องกับระบบ IT ของกระทรวงแรงงานด้วย แต่กฎหมายเปิดช่องให้ สปส.ใช้งบจากกองทุนประกันสังคมมาบริหารจัดการงาน ‘ภายใน’ เท่านั้น ต่อมากฤษฎีกาก็ชี้ว่าเป็นการใช้งบผิดวัตถุประสงค์จริง ผู้เกี่ยวข้องจึงส่งเรื่องให้ ครม. เมื่อปี พ.ศ.2551 ปรับแก้รายละเอียดโครงการ ตัดส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับ สปส.ออก จนยอดรวมงบเหลือ 2,355 ล้านบาท และต่อมา ก็มีผู้ยื่นยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบ
11.) ในปี พ.ศ.2552 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดไพโรจน์ทั้งทางวินัยและทางอาญา แต่เนื่องจากเป็นความผิดในข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของราชการเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดในข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น (หลายคนเชื่อว่าน่าจะมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ ป.ป.ช.บอกว่าไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงถึงบุคคลอื่น) คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ อ.ก.พ. ของกระทรวงแรงงานจึงทำได้เพียง มีมติ ‘ปลดออก’ อดีตเลขาฯ สปส.รายดังกล่าว จากราชการ
ซึ่งถือเป็นโทษทางวินัยที่ ‘เบา’ กว่าการให้ออก-ไล่ออกจากราชการ และเจ้าตัวยังคงได้รับเงินบำเหน็จบำนาญอยู่
12.) ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีอาญา มีเพียงเมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้อัยการ ก็ถูกตีกลับสำนวนมาหลังพบข้อมูลไม่สมบูรณ์ จากนั้นข่าวคราวก็เงียบหายไปเลย
13.) ถามว่าคดีเมื่อสิบปีก่อน เกี่ยวข้องกับปัญหาการจ่ายเงินชดเชย COVID-19 ให้แรงงานในระบบประกันสังคมล่าช้าอย่างไร?
นักข่าวสายกระทรวงแรงงาน ได้รายงานไว้ในข่าวว่า
“ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามปรับเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. ใหม่เพื่อให้ทันสมัยและรองรับกับฐานผู้ประกันตนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากภายในสำนักงานประกันสังคมได้เกิดความแตกแยก และผู้บริหารระดับสูงต่างสนับสนุนบริษัทที่ใกล้ชิดตัวเอง และเมื่อมีการชงเรื่องเพื่อประมูลระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ก็มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ”
14.) ในข่าวยังบอกอีกว่า..
“เมื่อเดือนก่อน คณะอนุกรรมการเทคโนโลยีและสารสนเทศ จำนวน 6 คนซึ่งเป็นนักวิชาการด้าน IT จากสถาบันการศึกษาชื่อดัง ได้พากันลาออกเนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ชุดใหม่ที่นำเสนอซึ่งเป็นระบบแอพพลิเคชั่นที่สามารถเก็บฐานข้อมูลได้มากกว่าระบบเมนเฟรมที่ใช้ในปัจจุบัน ถูก ‘ผู้มีอิทธิพล’ บางรายแทรกแซงกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ อย่างไรก็ตามได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาแทนและประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าระบบคอมพิวเตอร์ใหม่นี้จะเป็นอย่างไรและให้บริษัทไหนเข้ามาดำเนินการ”
15.) น้ำลด..ตอผุด เมื่อมีวิกฤต ปัญหาที่ถูกซุกไว้ภายในถึงได้โผล่ออกมา
และคนที่รับกรรมจากกรณีนี้ก็คือ แรงงานในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 นับล้านราย ที่ยื่นขอเงินชดเชยเพื่อนำมาจุนเจือตัวเองและครอบครัวในยามลำบาก
แต่กลับต้องรอคอยนานนับเดือน เพราะปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากความไม่โปร่งใสในระบบราชการ ที่พัวพันกับเรื่องผลประโยชน์ ที่ชื่อว่างบประมาณ
อ้างอิงจาก
https://www.thaipost.net/main/detail/65223
https://prachatai.com/journal/2020/05/87509
https://www.facebook.com/SarineeA/posts/3654614297898713
https://www.facebook.com/WorkpointNews/posts/1282316808804261
http://procurement-oag.in.th/index-2.php
https://transbordernews.in.th/home/?p=25101
#Recap #ประกันสังคม #เงินชดเชยโควิด #TheMATTER