การปะทะทางทหารระหว่าง 2 ประเทศ จนเกิดการสูญเสีย และทหารเสียชีวิต ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในปัจจุบัน แต่ล่าสุด เกิดการปะทะระหว่างทหารจีน และอินเดีย 2 ประเทศมหาอำนาจ ซึ่งถือครองอาวุธนิวเคลียร์ จนเกิดการเสียชีวิตของทหารแล้ว อย่างน้อย 20 นาย โดยเป็นการปะทะอย่างที่ไม่ได้ใช้อาวุธปืนด้วย
เกิดอะไรขึ้นกับพรมแดนข้อพิพาทของ 2 ประเทศนี้ อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการโจมตีระหว่างกัน และหลังจากนี้ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเป็นอย่างไร The MATTER สรุปเหตุการณ์นี้มาให้แล้ว
1. การปะทะกันนี้เกิดขึ้นที่พรมแดนของทั้ง 2 ประเทศ ที่พื้นที่พิพาทอัคไซ ชิน-ลาดักห์ ซึ่งเป็นบริเวณที่ทั้ง 2 ประเทศมีปัญหาเรื่องพรมแดนระหว่างกันเป็นเวลานาน โดยอินเดียอ้างว่า จีนเข้ามาครอบครองพื้นที่ 38,000 ตร.กม. ซึ่งถือเป็นดินแดนของอินเดีย ขณะที่จีนเอง ก็อ้างว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของตน จนทั้งคู่ เคยทำสงครามระหว่างกันมาแล้วในปี 1962 แต่ฝั่งอินเดียได้พ่ายแพ้ไป
2. หลังจากนั้น พื้นที่นี้ก็มีความตึงเครียดอยู่เรื่อยๆ มีการตรึงกำลังทหารของทั้ง 2 ประเทศบริเวณนี้ และเกิดการโจมตี และปะทะกันอยู่เป็นระยะๆ แม้จะมีความพยายามในการทำเรื่องเจรจาระหว่างกันหลายรอบ แต่ก็ล้วนแต่ประสบความล้มเหลว
3. ส่วนของการปะทะกันในครั้งนี้ ถือเป็นการปะทะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 45 ปี ระหว่างทั้งสองประเทศ เมื่อในวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางการอินเดียประกาศว่า มีทหารของตนเสียชีวิตไปถึง 3 นาย และต่อมามีการแถลงว่า ทหารอีก 17 นาย ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสในการปฏิบัติหน้าที่ ในสถานที่เกิดเหตุที่มีอุณภูมิต่ำกว่าศูนย์ เพราะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง ทำให้ทนพิษบาดแผลไม่ไหว และเสียชีวิต ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 20 ราย จากการปะทะครั้งนี้
4. ทั้ง 2 ประเทศยืนยันว่า ไม่มีการใช้อาวุธปืน หรือการยิงกันในการปะทะนี้ โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ทหารอินเดียถูกทบุตีจนถึงแก่ชีวิต และจากการแถลงของกองทัพอินเดีย ระบุว่ามีการสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่ทางจีน ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตออกออกมา
5. สาเหตุของการปะทะกันครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศต่างก็อ้างว่าเป็นความผิดของอีกฝ่าย โดยกระทรวงกิจการภายนอกของอินเดีย ระบุว่า จีนได้ละเมิดสัญญา และไม่เคารพเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control-LAC) และเป็น “ความขัดแย้งเกิดจากความพยายาของจีนที่ต้องการจะเปลี่ยนสถานะเดิมด้วย”
6. ขณะที่ด้านของจีนเอง จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงว่า อินเดียต่างหากที่เป็นฝ่ายข้ามพรมแดนมา “ยุแหย่ โจมตีเจ้าหน้าที่จีน จนส่งผลให้เกิดการปะทะรุนแรงระหว่างกองกำลังทั้งสองฝ่าย” รวมถึง Global Times ที่เป็นสื่อของรัฐบาลจีนเอง ก็ยังระบุว่า “ความเย่อหยิ่ง และความประมาทของอินเดีย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องตามแนวชายแดนจีน – อินเดีย”
7. แต่ถึงอย่างนั้น กองทัพอินเดียก็ยืนยันว่า นายพลใหญ่ของอินเดียและจีน กำลังพูดคุยกันเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในหุบเขากัลวาน หลังจากเผชิญกับความรุนแรงในครั้งนี้ด้วย และล่าสุด นายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดีเอง ก็ได้เรียกประชุมทุกพรรคการเมืองในเย็นวันนี้ เพื่อหารือถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
8. หลังเหตุปะทะเอง ในหลายรัฐของอินเดีย อย่างอุตตรประเทศ ก็เริ่มมีการประท้วงต่อต้านจีน มีการเผารูป ปธน.สี จิ้นผิง และตะโกนไล่ทหารจีนให้กลับประเทศตัวเองไปด้วย
9. สำหรับเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control-LAC) นั้น เป็นการแบ่งที่มาจากสงครามในปี 1962 แต่ทางอินเดียเอง ก็เคยออกมาบอกว่า ไม่มีการกำหนดเส้นแบ่งเขต LAC ร่วมกันในพื้นที่พรมแดนทั้งคู่ ทั้งเส้นแบ่งเขตนี้เอง ยังถูกมองว่าเป็นการแบ่งที่ไม่มีคุณภาพ เพราะว่าใช้การแบ่งด้วย แม่น้ำ ทะเลสาบ และยอดหิมะ ซึ่งทำให้มีความคลาดเคลื่อนได้ และทั้ง 2 ประเทศก็มองเส้นแบ่งไม่ตรงกัน
10. ในปี 2017 ก็เกิดการปะทะ ที่ทหารทั้งสองฝ่ายปาก้อนหินใส่กัน จนทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จากการที่จีนสร้างถนนบริเวณนั้น และในปีนี้ ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทหารของทั้ง 2 ประเทศก็มีการปะทะกันเล็กน้อย โดยมีทหารจีน และอินเดียประมาณ 250 คนที่เผชิญหน้ากันบริเวณทะเลสาบ Pangong Tso ในหิมาลัย และทางเหนือของสิกขิม
11. มีการคาดว่าความขัดแย้งครั้งนี้ เกิดจากการที่อินเดียสร้างถนนสายสำคัญบริเวณเส้นเขตแดน LAC ซึ่งถนนเส้นนี้จะช่วยให้อินเดียสามารถเคลื่อนไหว ส่งกำลังพล และอาวุธต่างๆ มายังบริเวณพิพาทนี้ได้รวดเร็วขึ้นด้วย
12. ด้านประเทศอื่นๆ อย่าง สหรัฐฯ โดยโฆษกของกระทรวงต่างประเทศ ก็ออกมาพูดถึงเหตุการณ์นี้ว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ขณะที่สหประชาชาติเอง ก็เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยับยั้งการใช้กำลัง และให้ทั้ง 2 ประเทศร่วมมือกันลดความตึงเครียด
13. มีการมองว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งแฮปปี้มูน จาคอป รองศาสตราจารย์และนักวิเคราะห์การเมืองที่มหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru ของนิวเดลีกล่าว “อาจจะทำให้เกมเปลี่ยน นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดความสัมพันธ์ที่อินเดีย และจีนมีความสุขกันมาเป็นเวลา 45 ปี” และทั้งสี จิ้นผิง ปธน.จีน และนเรนทรา โมดี นายกฯ อินเดียเอง ต่างก็มักใช้ความเป็นชาตินิยมในการเมือง จึงมีการมองว่าอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปได้อีกด้วย
ความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจด้านอาวุธนี้ จะเป็นอย่างไร จะเกิดการปะทะกันอีกหรือไม่ ทางผู้นำของสองประเทศจะออกมาพูดถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งนี้อย่างไร เราคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/2020/06/16/asia/china-india-border-clash-intl-hnk/index.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-53073338
#RECAP #TheMATTER