เป็นอีกครั้งที่เกมกลายเป็นจำเลยของสังคม ประเด็นดราม่าสุดร้อนแรงในวงการเกมไทยเวลานี้ คือการกลับมาพูดถึงข้อเรียกร้องจากบางฝ่ายที่ให้มีกฎหมาย ‘ควบคุมเกม’ รวมถึงการแข่งขันอีสปอร์ต ตลอดจนเรื่องของจำกัดอายุคนแข่ง และช่วงเวลาของการสตรีมเกม
กระแสนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันกำลังจะเดินไปในทิศทางไหน? The MATTER สรุปมาให้ทุกคนอ่านรวดเดียวจบในโพสต์นี้ (อาจจะยาวหน่อย แต่เชื่อว่าเห็นภาพรวมๆ ของเรื่องนี้ได้อยู่นะ)
1) ต้องเกริ่นนำก่อนว่า ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะร่างกฎหมายอีสปอร์ตกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นก้าวย่างที่สำคัญมากๆ โดยหนึ่งในหัวเรือหลักก็คือ สันติ โหลทอง นายกสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย
2) ที่ผ่านมา จุดยืนของคุณสันติก็ค่อนข้างชัดเจนว่า จะต้องไม่มีการแบนเกมใดๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย และต้องไม่มีกฎหมายที่แบนเกมเกิดขึ้นเป็นอันขาด
3) ร่างกฎหมายที่นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย และหน่วยงาน รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยกันร่างขึ้นมานั้น ก็มีเนื้อหาที่ค่อนข้างประนีประนอม และยึดความเป็นเหตุเป็นผล ความเป็นธรรมกับคนที่อยู่ในวงการเกม อีสปอร์ต รวมถึงสตรีมเมอร์เป็นสำคัญ
“กฎหมายฉบับที่ผมประชุมมาสองปี ไม่มีการแบนเกม” นายกสมาคมอีสปอร์ต ยืนยันผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์
4) แต่ในระหว่างที่ร่างกฎหมายกำลังดำเนินไป และมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง คุณสันติก็บอก (ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์) ว่า เขาเพิ่งได้รับการติดต่อจากนักการเมืองคนหนึ่งที่ขอให้เขาเข้าไปที่กรรมาธิการในสภา เพื่อพูดคุยและชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องอีสปอร์ต เพราะมีคน ‘ร้องเรียน’ เรื่องราวบางอย่างเข้ามา
“ผมทราบมาแค่ว่ามีปัญหาเรื่องจะแบนเกม เขาแจ้งมาแค่นี้นะ ว่าจะแบนเกม ผมบอกแบนเกมอะไร เราประชุมเรื่องนี้มาจะสองปีแล้ว ประชุมแบบเป็นทางการด้วย และกำหนดทิศทางกันไปหมดแล้ว” สันติ ระบุถึงข้อสงสัย
5) แต่ก่อนหน้านี้ คนสำคัญที่ทำให้ประเด็นนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากๆ คือผู้ใหญ่ในวงการเกมและอีสปอร์ต อย่าง ‘พี่แว่น’ หรือ ‘พี่บาส’ ชนิกนันท์ ทิพย์ไพโรจน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงการเกมว่าเป็นผู้ก่อตั้งทีม MiTH (Made in Thailand) รวมถึงอยู่ในวงการอีสปอร์ตมาอย่างยาวนาน หัวเรือใหญ่ของวงการนี้ ก็ออกมาระบุด้วยเหมือนกันว่า เขาได้รับเชิญให้ไปพูดคุยที่สภาในเรื่องกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องกับการควบคุมเกม
“เขาจะออกกฎหมายควบคุมเกม ตอนนี้มี 85 องค์กรที่สนับสนุนกฎหมายนี้…ถ้าผ่าน การจัดแข่งเกมต้องขออนุญาต เขาห้ามแข่งเกม FPS เกมที่มันรุนแรงแบนหมด สตรีมเมอร์ห้ามสตรีมเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน เพราะมันมีเรื่องสุขภาพ” พี่แว่น ระบุ
6) The MATTER ได้ลองค้นหาข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการร้องเรียน หรือการเรียกร้องให้มีการควบคุมเกมขึ้นในสังคมไทย ก็พบความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับที่ พี่แว่น และ นายกสมาคมอีสปอร์ตได้เอ่ยถึง
7) ย้อนกลับไปในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน รวมถึงภาคีเครือข่ายหลายองค์กร ได้เข้ามายื่นหนังสือเรียกร้องกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
8) เนื้อหาของการเรียกร้องในครั้งนั้น คือการขอให้ผลักดันกฎหมายกำกับดูแลเกม และประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเยาวชนอย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งให้รัฐส่งเสริม สนับสนุนให้มีแผนปฏิบัติการแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับอีสปอร์เยาวชน
“ผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมเกมคอมพิวเตอร์และเกมออนไลน์ เพื่อกำหนดให้มีการจัดเรตติ้ง ควบคุมเวลา กำหนดอายุ และปกป้องคุ้มครองเด็กไม่ให้เข้าสู่การพนันออนไลน์ที่ปรากฎในเกมเกือบทุกเกมที่กำลังเล่นอยู่ในประเทศไทยเวลานี้” คือส่วนหนึ่งของคำแถลงจาก ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน หนึ่งในเครือข่ายความร่วมมือเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ 84 องค์กรทั่วประเทศ
ด้าน วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ ก็รับปากว่า สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทันที คือการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับเครือข่ายนี้เพื่อประชุมและหารือในเรื่องนี้ร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆ
9) วันที่ 25 มิถุนายน กลุ่มภาคีเครือข่าย 84 องค์กร ได้ยื่นเรื่องอีกครั้งที่รัฐสภา โดยครั้งนี้ได้ยื่นเรื่องกับ ประธานคณะ กมธ. การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับย้ำจุดยืนเดิมทั้งเรื่องการให้มีกฎหมายกำกับดูแลเกม และการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน
นอกจากนั้น ยังมีข้อเรียกร้องอีกหลายข้อ เช่น ผลักดันให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเกม และผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเกมและอีสปอร์ต ที่ต้องคำนึงถึงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามกติกาสากลเป็นสำคัญ
10) ในวันที่ 25 มิถุนายนเช่นเดียวกัน นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนพร้อมทั้งภาคีเครือข่าย ได้เข้าพบกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เพื่อสองถามถึงแนวทางของกระทรวงศึกษาต่อเรื่องอีสปอร์ต
11) ในการเข้าพบครั้งนี้ นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ได้อธิบายกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการว่า ถึงแม้ อีสปอร์ตจะได้รับการประกาศให้เป็นกีฬาไปแล้ว แต่การจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ กลับไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรฐานหรือแนวทางที่เหมาะสม
โดยเว็บไซต์ ‘สมัชชาสุขภาพ’ ได้ระบุถึงความเห็นของ ธีรารัตน์ ที่ระบุว่า ตามกติกาสากลแล้ว การแข่งขันอีสปอร์ตต้องมีมาตรฐาน โดยผู้เล่นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ผ่านการรับรองด้านสุขภาพ และมีผู้ปกครองเห็นชอบ รวมถึงมีการจัดเรตติ้งเกมด้วย
เว็บไซต์สมัชชาสุขภาพ อ้างอิงถึงคำกล่าวจาก ธีรารัตน์ เอาไว้ว่า
“รูปธรรมที่สุดเรื่องหนึ่งในขณะนี้คือ การร่างกฎหมายเกม ที่ใกล้เสร็จแล้วเกือบ 100% โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่พัฒนาข้อเสนอมาด้วยกันตั้งแต่ต้น และยังร่วมอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนจนถึงปัจจุบัน นับเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ในสถานศึกษา”
อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาต่อต้านการแข่งขันเกม แต่ต้องการสร้างสมดุล ที่จะช่วยให้เด็กในแต่ละวัยเล่นเกมได้อย่างเหมาะสม
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 27 พ.ย. 2562 นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนก็เคยย้ำจุดยืนในงานเสวนา ‘เปิดวิถีออนไลน์ เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว’ เอาไว้ด้วยว่า
“เกมรุนแรงไม่ควรจะแข่งขันเป็นกีฬา เพราะเหมือนเราส่งเสริมความรุนแรง แล้วก็เราควบคุมไม่ได้ แล้วร้านเกมที่เปลี่ยนเป็นศูนย์กีฬา มีห้องนอน ห้องน้ำดูแลเต็มที่ มันคืออะไร เป็นที่ที่เด็กควรไปรึเปล่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่”
12) เราจึงน่าจะเห็นที่มาที่ไปของการที่ทั้งพี่แว่น และนายกสมาคมอีสปอร์ตต้องเดินทางไปสภาเพื่อหารือกับทางคณะกรรมาธิการสภาได้พอสมควร ผ่านความเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายกว่า 80 องค์กรในระลอกนี้ โดยเป็นการยื่นขอเสนอผ่านทั้งคณะกรรมาธิการในสภา 2 ชุด รวมถึงนำเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
13) ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ คำอ้างอิงที่ทางฝั่งขององค์กรกว่า 80 องค์กรได้ระบุว่า มีการร่าง ‘กฎหมายเกม’ ที่ใกล้เสร็จแล้วเกือบ 100% นั้น เนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวคืออะไร
อีกข้อสังเกตคือ มันเป็นกฎหมายเกม ที่มีคนในวงการเกมได้เข้าไปร่วมร่าง ร่วมแสดงความเห็น ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงมากน้อยแค่ไหนบ้าง แล้วมันคือร่างกฏหมายฉบับเดียวกับที่นายกสมาคมอีสปอร์ตเข้าไปช่วยพิจารณาหรือไม่? ประเด็นนี้ก็ยังต้องรอคำตอบที่แน่ชัด
14) ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงจากผู้คนที่ตั้งคำถามว่า ข้ออ้างเรื่องการแบนเกมที่รุนแรงจากการแข่งขันอีสปอร์ตนั้น มันสมเหตุสมผลแค่ไหน? การแข่งขันเกมที่รุนแรงนั้น นิยามขอคำว่า ‘รุนแรง’ คืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน แล้วมันส่งผลให้เยาวชนเกิดพฤติกรรมที่รุนแรงเสมอหรือไม่ มันคุ้มค่าแค่ไหนที่จะแบนการแข่งขันเกมที่ถูกมอง หรือแปะป้ายว่ารุนแรงทั้งหมด?
เช่นเดียวกับแนวคิดที่ห้ามมีการสตรีมเกมติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมงนั้น ถ้าเป็นเรื่องจริง มันจะเป็นไปได้แค่ไหน เมื่อเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสตรีมเมอร์ชาวไทยทั้งแบบเป็นงานอดิเรก รวมถึงคนที่เป็นสตรีมเมอร์เป็นงานหลักเต็มเวลา (ฟูลไทม์) ก็สตรีมเกมกันมากกว่า 2 ชั่วโมงจนเป็นปกติของชีวิตประจำวันไปแล้ว และพวกเขาก็ยืนยันว่า แม้จะสตรีมนานหลายชั่วโมง แต่พวกเขาก็สามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่ต้องจับตากันต่อไป คือการประชุมในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ เมื่อพี่แว่นและนายกสมาคมอีสปอร์ต รวมถึงคนอื่นๆ ในวงการนี้ ได้เข้าไปร่วมให้ความเห็นต่อ ‘ข้อร้องเรียน’ นี้แล้ว ผลจะออกมาอย่างไรต่อไป
ซึ่งแน่นอนว่า มันย่อมส่งผลโดยตรงต่อทั้งคนที่เล่มเกม ผู้เล่นทีมอีสปอร์ต และอาจรวมถึงสตรีมเมอร์ทั่วประเทศไทยไม่น้อยเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/watch/?v=3194644213939176
https://m.twitch.tv/clip/TardyObservantSandpiperHassaanChop
https://www.facebook.com/santiTESF/videos/3086437938088518
https://www.nationalhealth.or.th/node/3134
https://www.innnews.co.th/politics/news_700215/
#RECAP #EsportsTH #TheMATTER