ถูกมองว่าเป็นแพล็ตฟอร์มที่ไว้ผลิตคลิปสั้นๆ เนื้อหาเน้นความเอ็นเตอร์เทนต์เป็นหลัก แล้วทำไม TikTok แอพพลิเคชั่นสัญชาติจีน จึงถูก 2 ชาติมหาอำนาจสั่งแบน ด้วยเหตุผลเรื่อง ‘ความมั่นคง’
การเต้นโคเวอร์ ลิปซิงก์ ทำมีม เล่นตลก ฯลฯ เป็นภัยตรงไหน หรือมีเหตุผลใดซุกซ่อนอยู่ The MATTER ขอสรุปที่มาที่ไป ว่าเหตใดอินเดีย-สหรัฐฯ ถึงตัดสินใจแบน TikTok ด้วย
1.) TikTok เป็นแอพพลิเคชั่น สำหรับทำวีดิโอสั้น (ความยาวไม่เกิน 60 วินาที) เพื่อผลิตคอนเทนต์สนุกๆ มาโชว์กัน ส่วนใหญ่มักเป็นคลิปเต้น ลิปซิงก์ ทำอาหาร เล่นตลก ฯลฯ เริ่มให้บริการในปี ค.ศ.2017 นี้เอง เรียกว่ายังเป็นโซเชียลมีเดียที่มีอายุน้อยมากๆ
2.) เจ้าของ TikTok คือบริษัท ByteDance ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ก่อตั้งโดยจาง อี้หมิง (Zhang Yiming) นักธุรกิจวัยสามสิบปีเศษ ซึ่งเคยเป็นโปรแกรมเมอร์ให้บริษัท Microsoft อยู่ช่วงหนึ่ง
3.) ก่อนหน้านี้ TikTok เป็นที่นิยมในคนบางกลุ่มเท่านั้น กระทั่งช่วงวิกฤต COVID-19 ที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้คนอยู่ในบ้าน เพื่อเลี่ยงการติดต่อเชื้อไวรัส แอพฯ นี้จึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
4.) หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมโลโก้แอพฯ นี้ ถึงเป็นตัวโน้ตเพลงที่ดูคล้ายๆ กับตัวอักษร D ในภาษาอังกฤษ นั่นเพราะเดิม TikTok ในเมืองจีน จะใช้ชื่อว่า Douyin โดยเริ่มให้บริการปลายปี ค.ศ.2016 ก่อนเวอร์ชั่นนานาชาติแปบนึง
5.) ถามว่า ในปัจจุบัน แอพฯ TikTok ได้รับความนิยมขนาดไหน? นอกจากให้บริการใน 40 ภาษาทั่วโลก ยอดดาวน์โหลดล่าสุด ยังมีมากกว่า 1,500 ล้านครั้ง ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานจริง (active user) ข้อมูลจากรายงาน We Are Social ที่เผยแพร่ต้นปี ค.ศ.2020 ระบุว่า อยู่ที่กว่า 800 ล้านคน ถือเป็นโซเชียลมีเดียที่มียอดผู้ใช้งานมากเป็นอันดับหกของโลก
ซึ่งแน่นอนว่า ถึงปัจจุบัน จำนวน active user น่าจะมากกว่านั้นแล้ว
6.) ความสำเร็จจาก TikTok/Douyin และแอพฯ อื่นๆ ของบริษัท ByteDance ส่งผลให้นิตยสารการเงินระดับโลก Forbes ประเมินว่า จาง อี้หมิง เจ้าของและผู้ก่อตั้ง มีความมั่งคั่ง 16,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 5 แสนล้านบาทไทย
โดยเขาเป็นมหาเศรษฐีมหาเศรษฐีอันดับที่สิบของจีน (ข้อมูลปี ค.ศ.2019) และอันดับที่ 61 ของโลก (ข้อมูลปี ค.ศ.2020)
แต่ข่าวร้ายกำลังจะมาเยือนตัวเขาและบริษัท อย่างช้าๆ
7.) ที่ผ่านมา TikTok เจอกับวิจารณ์เรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว ในเดือนเมษายน ค.ศ.2020 เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์บนเว็บไซต์ Reddit ที่คล้ายเป็นเว็บไซต์พันทิปในภาษาอังกฤษว่า รุกล้ำความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งาน จากการเก็บข้อมูลเรื่อง IP Address ข้อมูลระบุพิกัด ประวัติการเข้าอินเทอร์เน็ตและการค้นหา ฯลฯ ของผู้ใช้งาน
8.) นอกจากนี้ ยังเคยถูกสื่ออังกฤษ The Guardian นำรายงานชิ้นหนึ่งออกมาเปิดเผยว่า TikTok เซ็นเซอร์วีดิโอที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เทียนอันเหมิน การเรียกร้องเอกราชในทิเบต และความเคลื่อนไหวของกลุ่มฟาหลุนกง – แต่ภายหลังทาง TikTok ออกมาปฏิเสธว่า รายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่า
9.) อย่างไรก็ตาม TikTok มาเผชิญศึกใหญ่ที่สุด เมื่อถูกรัฐบาลอินเดียประกาศแบน พร้อมกับแอพฯ สัญชาติจีนอื่นๆ รวม 59 แอพฯ ในเดือนมิถุนายนค.ศ.2020 นี้เอง โดยอ้างเหตุผลเรื่อง ‘ความมั่นคง’ !
10.) ทำไมอินเดียถึงแบน TikTok ที่เป็นแอพฯ รวมคอนเทนต์สนุกๆ? ผู้เกี่ยวข้องให้เหตุผลว่า เป็นเพราะมีการนำข้อมูลของผู้ใช้อินเดียส่งไปยังต่างประเทศ
แต่หลายๆ สื่อก็รายงานว่า การแบน TikTok และแอพฯ สัญชาติจีนอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน มาจากเหตุผล ‘ทางการเมือง’ เรื่องความขัดแย้งบริเวณพรมแดนอินเดีย-จีน บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ที่เกิดการปะทะกันจนทหารอินเดียเสียชีวิตถึง 20 คน ซะมากกว่า
11.) TikTok เสียหายแค่ไหน เมื่อถูกอินเดียแบน? อินเดียเป็นตลาดของผู้ใช้งาน TikTok ที่ใหญ่ที่สุด ‘อันดับหนึ่ง’ ของโลก จากยอดดาวน์โหลดเกิน 466 ล้านครั้ง เกิน 30% ของยอดดาวน์โหลดทั้งหมด
12.) มีการประเมินว่า ผลจากการถูกแบนครั้งนี้ อาจทำให้บริษัท ByteDance สูญรายได้ไปมากถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1.86 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 31 บาท)
13.) เรื่องเก่ายังไม่ทันคลี่คลาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ออกคำสั่งผู้บริหาร (executive order) แบน TikTok พร้อมด้วย WeChat แอพฯ สัญชาติจีนเช่นกัน ภายใน 45 วัน (หรือภายในสิ้นเดือนกันยายน ค.ศ.2020) เว้นแต่จะขายธุรกิจให้กับบริษัทอเมริกัน
14.) คำสั่งแบนนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ Microsoft เจรจาขอซื้อ TikTok และพยายามปิดดีลให้ได้ภายในเดือนกันยายน ค.ศ.2020 พอดิบพอดี
15.) ก่อนหน้านี้ ไมก์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เคยออกมาระบุว่า “ใครก็ตามอยากจะให้ข้อมูลตัวเองอยู่ในมือรัฐบาลจีน ก็ให้ใช้ TikTok ต่อไป” ซึ่งบริษัทก็ออกมาตอบโต้ว่า ไม่เคยให้ข้อมูลกับรัฐบาลจีน
แต่หน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ หลายแห่งก็ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ลบแอพฯ นี่้ออกจากเครื่อง
16.) ปัจจุบันยอด active user ผู้ใช้งาน TikTok ในสหรัฐฯ มีอยู่ราว 80 ล้านคน ‘หนึ่งในสี่’ ของจำนวนประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมด เป็นเหตุผลว่าทำไม Microsoft ถึงอยากเข้ามาเทกโอเวอร์
17.) หลายคนอาจมองว่า คอนเทนต์ใน TikTok มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วมันเคยถูกใช้เป็นเพื่อส่งสารทางการเมืองด้วย เช่น การที่กลุ่มผู้ใช้ TikTok จองที่นั่งในเวทีหาเสียงของทรัมป์แล้วก็ไม่ไปเพื่อทำให้ที่นั่งว่าง หรือการที่เฟโรซา อาซิซ (Feroza Aziz) หญิงชายสหรัฐฯ แกล้งทำคลิปดัดขนตาแต่แฝงเนื้อหาวิพากษ์รัฐบาลจีนประเด็นเรื่องชาวอุยกูร์จนถูกแบน
18.) การแบน TikTok ของทรัมป์ถูกยกระดับเป็นการเมืองนานาชาติ เมื่อรัฐบาลจีนออกมาประกาศว่า จะตอบโต้ทุกวิถีทางหากรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามขโมยบริษัทเทคโนโลยีของจีน
19.) หลายคนขนานนามว่านี่เป็นสงครามเทคโนโลยี หรือ tech war ซึ่งเป็นภาคต่อของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ
20.) หากต้องเสียฐานผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ไปอีก หลังจากกรณีอินเดีย TikTok อาจต้องเผชิญกับความเสียหายทางธุรกิจอย่างหนักหน่วง เพราะเท่ากับผู้ใช้งานแอพฯ หายไปถึง ‘สองในสาม’ ในเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น
ไม่แปลกที่ทาง TikTok จะสู้ตาย เตรียมฟ้องศาลให้สั่งยกเลิกคำสั่งของทรัมป์
และศึก tech war นี้ก็อาจจะไม่ได้จบแค่แอพฯ สัญชาติจีนแอพฯ นี้เท่านั้น
อ้างอิงจาก
https://www.bytedance.com/en/products
https://wearesocial.com/digital-2020
https://www.brandbuffet.in.th/2019/12/zhang-yiming-tiktok/
https://www.forbes.com/profile/zhang-yiming/
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1884299
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1905752
https://www.thairath.co.th/news/tech/1905553
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/887338
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/891943
https://www.bbc.com/news/av/technology-50582918
https://www.thansettakij.com/content/world/444944
#Recap #Tiktok #TheMATTER