ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดากองเชียร์ สมาชิก ส.ส. ไปจนถึงแกนนำของ 2 พรรคการเมืองหลักของฝ่ายค้าน อย่าง ‘พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล’ ต่างสาดความไม่พอใจเข้าหากัน จากเรื่องที่เอาเข้าจริง ทั้ง 2 พรรคเห็นตรงกันในเชิงหลักการ นั่นคือ การแก้ไข ‘รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.’ ที่มีเนื้อหาเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร
สิ่งที่ต่างกัน มีเพียงรายละเอียด วิธีการ และจังหวะเวลา
ทั้งที่มองเป้าหมายเดียวกัน แล้วเหตุใดจึงมาทะเลาะกันตามหน้าสื่อ ตามโซเชียลมีเดีย ไม่ไปนั่งคุยกันหาข้อยุติร่วมกัน จนฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่อยากให้คงรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. เอาไว้ ได้นั่งหัวเราะอยู่ในใจ
The MATTER ขอสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟัง
1.) ขอย้อนกลับไปที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. นิดนึงว่า มีปัญหาอย่างไร เหตุใดหลายๆ ฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไข
ทั้งในส่วนของ ‘ที่มา-เนื้อหา’
2.) หลังยึดอำนาจในปี 2557 คสช. ก็สัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศ แล้วเดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามโรดแม็ป ในปี 2559 หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกประกาศใช้
คสช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เขียนรัฐธรรมนูญต่างๆ เสร็จแล้ว แต่ร่างดังกล่าวก็ถูกคว่ำโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยบวรศักดิ์ทิ้งวาทะน่าสนใจไว้ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”
ซึ่งทุกวันนี้ ทุกคนในประเทศต่างรู้แล้วว่า ‘เขา’ ที่บวรศักดิ์ว่า หมายถึงใคร
3.) แน่นอนว่า โรดแม็ปเลือกตั้งย่อมขยับ เพลง “..เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน..” กลายเป็นตลกร้ายที่ใช้ล้อคณะทหาร ซึ่งไม่ทำตามสัญญา
คสช.ได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พร้อมกับสูตรในการจัดทำกฎหมายสูงสุดประเทศฉบับใหม่ 6-4-6-4 คือร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน ทำกฎหมายลูก 6 เดือน และเลือกตั้ง 4 เดือน คาดกันว่าจะได้เลือกตั้งในปี 2561
4.) ระหว่างนั้น คสช.ได้แก้กติกาประชามติ นอกจากคำถามว่ารับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังจะเปิดให้มี ‘คำถามพ่วง’ ประชามติเข้าไปด้วย และนี่คือจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการ ‘อยากอยู่ยาว’ ตามที่บวรศักดิ์เคยสปอยล์ไว้ล่วงหน้า
หรือที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ขนานนามให้ว่าการ ‘สืบทอดอำนาจ’
5.) กรธ.ทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จตามกฎหมายเวลา พร้อมส่งร่างให้องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณา คสช.ขอปรับแก้ที่มา ส.ว.ชุดแรก จากที่กำหนดให้เลือกกันในกลุ่มอาชีพไขว้กัน จำนวน 200 คน เป็นให้มาจากการ ‘แต่งตั้งโดย คสช.’ 246 คน (200 คน เลือกจากคนกลุ่มอาชีพต่างๆ 46 คน เลือกจากการสรรหามาโดย คสช.) และมี ผบ.เหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งอีก 6 คน มีวาระห้าปี หลังจากนั้นค่อยกลับไปเป็นที่มาตามที่ กรธ.เขียน
6.) ไม่เพียงแก้ที่มา ส.ว. ให้ คสช.คัดสรรคนมากับมือ คำถามพ่วงที่ สปท.-สนช. องค์กรที่ คสช.ตั้งคนมาเอง 100% ก็ยังเสนอให้ ส.ว.ชุดที่ว่า มีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
วาระดำรงตำแหน่ง ‘ส.ว.แต่งตั้ง’ คือห้าปี วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ เต็มที่ก็สี่ปี – นั่นแปลว่า ส.ว.แต่งตั้ง มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ อย่างน้อย 2 สมัย
แล้ว ‘ส.ว.แต่งตั้ง’ เลือกใครมาเป็นนายกฯ นะ .. ใช่ ‘เขา’ ที่บวรศักดิ์บอกว่า อยากอยู่ยาวหรือเปล่า
7.) การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม ปี 2559
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มักอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือฉบับ คสช. ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความชอบธรรมเพราะ “ผ่านการลงประชามติมาแล้ว” โดยมีคนเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10.6 ล้านเสียง
แต่ถ้าใครยังจำกันได้ หรือถ้าจำไม่ได้ หากลองค้นข้อมูลดู ก็จะพบว่า การประชามติดังกล่าว เป็นไปท่ามกลางบรรยากาศการปิดกั้นการแสดง ‘ความเห็นต่าง’ ในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น iLaw รวบรวมข้อมูลมา พบว่ามีอย่างน้อย 203 คน ถูกดำเนินคดี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก รณรงค์ไม่รับร่าง จัดเวทีเสวนา ตั้งศูนย์จับตาประชามติ ฯลฯ
มีเรื่องเล่าเชิงขำขันว่า ในบางจังหวัด ผู้ว่าฯ ให้เจ้าหน้าที่ไปเก็บป้าย ‘กาโน’ ที่ปักไว้ริมทาง ภายหลังจึงเพิ่งทราบว่าเป็นป้ายโฆษณาของผู้ขายกาแฟสมุนไพร
8.) รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติถูกโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ในเดือนเมษายนปี 2560 กรธ.จึงเดินหน้าจัดทำกฎหมายลูกเพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งต่อไป โดยปฏิทินการเลือกตั้งถูกขยับครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าจะได้เลือกตั้งจริงก็คือต้นปี 2562
ซึ่งเวลานั้น ส.ว.แต่งตั้ง กับอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ จะส่งสำคัญต่อ ‘หน้าตารัฐบาล-ผู้เป็นนายกฯ’ อย่างมีนัยสำคัญ
9.) การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ เกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม ปี 2562
ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งสื่อมวลชนและนักวิชาการนำคะแนนดิบมาคำนวณกับผลโหวต ตามกติกาเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ที่ กรธ.ออกแบบมาอย่างซับซ้อน
– พรรคเพื่อไทย จะได้ ส.ส. 137 คน
– พรรคพลังประชารัฐ จะได้ ส.ส. 118 คน
– พรรคอนาคตใหม่ จะได้ ส.ส. 87 คน
– พรรคประชาธิปัตย์ จะได้ ส.ส. 54 คน
– พรรคภูมิใจไทย จะได้ ส.ส. 52 คน
– พรรคเสรีรวมไทย จะได้ ส.ส. 11 คน
– พรรคชาติไทยพัฒนา จะได้ ส.ส. 11 คน
– พรรคเศรษฐกิจใหม่ จะได้ ส.ส. 6 คน
– พรรคประชาชาติ จะได้ ส.ส. 6 คน
ส่วนพรรคอื่นๆ จะได้ ส.ส. รวมกัน 18 คน
10.) หลังเลือกตั้งไม่กี่วัน 7 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย แถลงข่าวลงสัตยาบันร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน – ในเวลานั้น ว่ากันว่า 7 พรรคมีคะแนนเสียงรวมกัน 253 เสียง
ส่วนขั้วที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาชาติไทย (กปปส.เดิม) มีเสียงสนับสนุนรวมกันเพียง 123 เสียงเท่านั้น
11.) หากกติกาในช่วงนั้น ให้มีเฉพาะ ส.ส.โหวตเลือกนายกฯ ได้ ก็ยากมากๆ ที่ขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อ จะคว้าชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เมื่อมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.แต่งตั้ง ที่มีเสียงอีก 250 เสียงรวมกัน – จึงทำให้เกมพลิก
12.) ไม่รวมถึงการคิดคะแนนแบบแปลกๆ ของ กกต.ที่แจกเก้าอี้ ส.ส.ให้กับพรรคเล็ก (ผลคือไปทอนเก้าอี้ ส.ส.จากพรรคใหญ่) ถึง 11 พรรค ทั้งที่บางพรรคเสียงไม่ถึงขั้นต่ำที่ควรจะมี ส.ส.ได้ คือ 71,000 คะแนน เป็นอย่างน้อย
13.) และนี่คือการแสดงอิทธิฤทธิ์ครั้งแรกของ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ โดยผลโหวตครั้งนั้น ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ถึง 249 คน มีเพียง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว.เท่านั้น ที่งดออกเสียง (ตามมารยาทในฐานะรองประธานรัฐสภา ผู้ควบคุมการประชุม)
14.) เสียงวิจารณ์ต่อ ส.ว.แต่งตั้ง ยังรวมถึงการที่บางคนเป็นญาติพี่น้องกับคนใน คสช. บางคนเคยทำงานให้ คสช.มาแล้ว บางคนเป็นผู้สรรหา ส.ว. แต่กลายมาเป็น ส.ว.เสียเอง!
15.) นี่คือเหตุผลที่ทำให้หลายๆ ฝ่ายมองว่า ส.ว.แต่งตั้งเป็นกลไกอันพิกลพิการของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือฉบับ คสช. ที่บิดเบือนผลการเลือกตั้ง และทำให้คนที่อยากอยู่ยาวได้กลับมาสืบทอดอำนาจอีกครั้ง
16.) ย้อนกลับมาสู่ยุคปัจจุบัน
บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน เสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญดังกระหึ่ม แม้แต่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ที่ถูกส่งมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ต้องถูกแก้ไข
17.) คู่ขนานกัน ความเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่นำโดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งขยับจากโลกออนไลน์มาลงสู่ท้องถนนตั้งแต่ต้นปี 2563 ก็มีหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน
การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ในวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ปี 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา
18.) ต่อมาข้อเรียกร้องในการเคลื่อนไหวของเยาวชนและแนวร่วม ก็ ‘ขยับเพดาน’ ขึ้นไป โดยเฉพาะ 3 ข้อเรียกร้องของทนายอานนท์ นำภา ในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปี 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ซึ่งภายหลัง กลุ่มประชาชนปลดแอก (เปลี่ยนชื่อจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก) ได้ข้อเสนอต่างๆ มารวมกันเป็น ‘3 ข้อเรียกร้อง-2 จุดยืน- 1 ความฝัน’ ในการชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
19.) ในวันที่ 17 สิงหาคม ปี 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้แก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อจัดตั้ง ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ หรือ ส.ส.ร.
20.) อธิบายก่อนว่า เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือฉบับ คสช. นั้นไม่ง่ายนัก มีเสียงวิจารณ์มาตั้งแต่สมัย กรธ.ยกร่างเมื่อปี 2558-2559 แล้วว่า เขียนไว้แบบไม่อยากให้ถูกแก้ เพราะต้องทำตามเงื่อนไขต่างๆ ดังต่อไปนี้ (อยู่ในมาตรา 256)
– ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากคณะรัฐมนตรี ส.ส.1/5 ของทั้งหมด หรือ ส.ส.และ ส.ว. 1/5 ของทั้งสองสภา
– การลงมติในวาระแรก นอกจากต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว. ยังจะต้องมีเสียง ส.ว.1/3 ของทั้งหมด (84 คน จากทั้งหมด 250 คน) เห็นชอบด้วย
– การลงมติในวาระสอง ได้ถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญ
– การลงมติในวาระสาม-วาระสุดท้าย นอกจากต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว. โดย ส.ว.1/3 ของทั้งหมดต้องเห็นชอบ ยังต้องได้เสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้านเกิน 20% ของทั้งหมด เห็นชอบด้วย
– หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว หากมีการแก้ไขเกี่ยวกับบททั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์ วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ตามที่ฝ่ายค้านกำลังทำอยู่) ไปจนถึงอำนาจของศาลและองค์กรอิสระ จะต้องทำประชามติ
21.) ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง ส.ว. 84 คนขึ้นไปด้วยนี่แหละ
22.) หลังจากพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีข่าวว่า พรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) ขอถอนรายชื่อออกจากญัตติดังกล่าว 5 นาทีก่อนยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ โดยณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อธิบายว่า เป็นเพราะในญัตติดังกล่าว มีการกำหนดเนื้อหาไว้เลยว่า จะไม่มีการแก้ไขในหมวดที่ 1 และ 2 ทั้งที่จริงๆ ควรเปิดโอกาสให้ ส.ส.ร.ได้พิจารณาเนื้อหาโดยอิสระ
และที่กลัวว่าจะไปแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 255 ก็ล็อกไว้อยู่แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบจาก “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ” จะกระทำมิได้อยู่แล้ว
23.) นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล ยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของตัวเองเพิ่มเติมอีก นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในมาตรา 269-272 เพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว.แต่งตั้ง ไม่ให้มาร่วมเลือกนายกฯ ได้ – แต่ปัญหาของก็คือเสียงของพรรคก้าวไกล มีไม่ถึง 1/5 ของ ส.ส.ที่จะยื่นญัตติเองได้ (ก้าวไกลมี ส.ส. แค่ 53 คน ต้องการขั้นต่ำ 98 คน จากทั้งหมด 489 คน) ต้องอาศัย ส.ส.จากพรรคอื่นด้วย
24.) วันที่ 25 สิงหาคม ปี 2563 พรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส. 132 คน ลงมติว่าจะไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกล แต่ยังจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ส.ส.ร. ตามญัตติเดิม นำไปสู่กระแสข่าวในทำนองว่า ทั้ง 2 พรรคขัดแย้งกัน
25.) วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กอธิบายว่า ตอนที่พรรคก้าวไกลถอนชื่อจากญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. พวกตนก็ไม่ได้ไปตำหนิอะไร เพราะถือเป็นสิทธิของพรรคก้าวไกล แต่พรรคเพื่อไทยยังยืนยันจะเดินหน้าเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการจัดตั้ง ส.ส.ร. ให้ได้ในสมัยประชุมนี้ ซึ่งหากฝ่ายรัฐบาลเอาด้วย ก็เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ
26.) “พรรคเพื่อไทยมีสิทธิจะรักษาคำพูดและยืนหยัดกับหลักการที่ตกลงไว้ที่เห็นว่าประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด ส่วนพรรคอื่นก็มีสิทธิจะเปลี่ยนความคิดรายวันได้ตามกระแสซึ่งผมและเพื่อไทยไม่เคยไปต่อว่าหรือตำหนิ แต่พรรคอื่นก็ไม่มีสิทธิมาตำหนิหรือต่อว่าพรรคเพื่อไทยเช่นกัน หากจะเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยต้องเคารพสิทธิและความคิดผู้อื่นให้เป็นก่อน” คือคำพูดของวัฒนา ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำพูดที่รุนแรงว่า ทุเรศว่ะ
27.) ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมาอธิบายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. อาจใช้เวลานานถึงสองปี ควรจะเร่งปิดสวิตซ์ ส.ว.แต่งตั้ง เสียก่อน
ขณะที่สุทิน คลังแสง ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ออกมาลดอุณหภูมิลงโดยบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความขัดแย้ง เป็นเพียงความเห็นต่าง
28.) หลายฝ่ายออกมายอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีปัญหา แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมว่า ก็มีบางฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเขียนขึ้นมาในยุค คสช. ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะการที่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.แต่งตั้ง ที่ 99% เคยโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อ
29.) แค่จุดเริ่มต้นก็แสดงให้เห็นถึงปัญหา หากพรรคฝ่ายค้าน ที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ยังไม่สามารถหาจุดลงตัว ให้สามารถเดินหน้าทำงานสอดคล้องไปด้วยกันได้แม้มีความเห็นแตกต่างกัน น่าสนใจเหมือนกันว่า ที่สุดแล้วจะสามารถทำงานใหญ่ใดๆ สำเร็จลุล่วงหรือไม่
เพราะเอาเข้าจริง ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้มีแค่เรื่อง ส.ว.แต่งตั้งเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
30.) แล้วคนที่จะได้ยิ้มในท้ายที่สุด อาจไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังไม่ถูกแก้ไข หรือถูกถ่วงเวลาให้แก้ไขได้ช้าที่สุด
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/thai/thailand-42770720
https://www.thairath.co.th/content/523568
https://thaipublica.org/2018/07/senate-election-system-in-thailand-2560/
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10159197642995551/
https://freedom.ilaw.or.th/blog/referendum_charge
https://www.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122/2542275282654525/
https://thematter.co/brief/recap/recap-15966114492/119359
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
https://www.posttoday.com/politic/news/630908
https://news.thaipbs.or.th/content/295600
https://www.sanook.com/news/8238926/
https://www.thairath.co.th/news/politic/1918292
https://www.facebook.com/WatanaMuangsook/photos/a.692230194245846/1975776792557840
https://www.matichon.co.th/politics/news_2322815
#Recap #แก้ไขรัฐธรรมนูญ #TheMATTER