ยังจำเหตุการณ์ตากใบในปี 2547 กันได้ไหม?
ในเหตุการณ์นั้น แม้จะมีผู้เสียชีวิตถึง 85 รายจากการจับกุมและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับไม่เคยมีผู้รับผิด จนเวลาล่วงเลยมาถึง 20 ปี และอายุความของ ‘คดีตากใบ’ จะสิ้นสุดในวันที่ 25 ตุลาคมนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลนราธิวาสมีคำตัดสิน ‘รับฟ้อง’ คดีที่ชาวบ้านรวมตัวกันฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้อายุความถูกขยายออกไป และเป็นแสงแห่งความหวังครั้งใหม่ ว่าชาวบ้านอาจได้รับความยุติธรรมคืนมา
ก่อนที่ศาลจะสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานอันเป็นขั้นตอนต่อไปหลังรับฟ้อง The MATTER ชวนย้อนดูว่า เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์ตากใบ และรายละเอียดการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง
- 12 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งเป็นชาวบ้านนราธิวาสจำนวน 6 คน เข้าแจ้งความต่อตำรวจว่าปืนของพวกเขาหายไป แต่ตำรวจสรุปว่า ชรบ. มอบปืนให้กับสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง และได้ดำเนินคดีกับ ชรบ.
- 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนกว่า 2,000 คนจึงได้รวมตัวกันชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. ด้วยเชื่อว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ
- ชาวบ้านในเหตุการณ์ยืนยันว่าไม่มีการใช้อาวุธจากฝั่งผู้ชุมนุม โดยชาวบ้านในเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าว่า “วันนั้นก็ไม่รู้ว่ามีผู้ชุมนุมคนไหนมีอาวุธในวันนั้น แต่ไม่เห็นใครใช้อาวุธเลย มีเพียงบางคนที่ตะโกนด้วยความโกรธใส่เจ้าหน้าที่”
- เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และใช้กระสุนจริง ส่งผลให้มีผู้ชุมนุม 7 รายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
- เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุม 1,370 คน มีภาพปรากฏว่าพวกเขาถูกผูกมือไพล่หลัง บังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกัน 4-5 ชั้นด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อพาไปควบคุมตัวในค่ายทหารที่อยู่ห่างไป 150 กิโลเมตร
- ณ เวลาขณะนั้นอยู่ในช่วงเดือนถือศีลอด การต้องนอนทับกันโดยขยับตัวไม่ได้เป็นเวลาถึง 6 ชั่วโมงจึงยิ่งทำให้ร่างกายของทุกคนอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจากการขนย้ายคนครั้งนี้ จึงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ราย จากการถูกกดทับและขาดอากาศหายใจ
- ตั้งแต่เหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดีจากการกระทำที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว โดยคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 (ครบรอบ 20 ปีนับจากเกิดเหตุการณ์)
- รัฐบาลในขณะนั้น มีแกนนำเป็นพรรคไทยรักไทย และนำโดยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง ซึ่งข้อสรุปว่า วิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงนั้น ‘เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามแบบแผนและวิธีปฏิบัติที่ใช้กันตามหลักสากล’ โดยวิธีการขนย้ายผู้ชุมนุม สะท้อนว่า ‘ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก’ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ในขณะนั้นได้สำเร็จ
- ในงานครบรอบ 19 ปีเหตุการณ์ตากใบ วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ได้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้บาดเจ็บ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และทนาย ทุกคนตระหนักว่าจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครต้องรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือม่เคยรู้เลยว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการร่วมกันฟ้องร้องให้เป็นคดีอาญาอีกครั้งก่อนที่คดีจะหมดอายุความ
- ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ดำเนินการฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดนราธิวาสด้วยตนเอง พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ มีโจทก์ร่วมฟ้องทั้งหมด 48 คน ประกอบด้วยตัวแทนของผู้เสียชีวิต 34 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้น 14 คน
- ยื่นฟ้องในข้อหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาร่วมกันกระทำความผิด ฆ่าผู้อื่นโดนทรมานหรือทารุณโหดร้าย (มาตรา 288 และ 289) ข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอม โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ (มาตรา 309) และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น (มาตรา 310)
- จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด 9 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และปกครองที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ได้แก่
- จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
- จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการพล. ร. 5 ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับ สภอ.ตากใบ ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 7พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับ สภอ.ตากใบ ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงฒรี รอง ผอ.สสส.จชต. และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น
- จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น
- ในวันที่ชาวบ้านยื่นฟ้อง ตำรวจภาค 9 ได้ส่งสำนวนสั่งไม่ฟ้องในวันเดียวกัน ทั้งที่มีการไต่สวนการตายมากว่า 20 ปีแล้ว และอัยการก็ยังไม่ทวงถาม โดยได้ระบุรายละเอียดในสำนวนว่า ‘เป็นการกระทำตามสมควรแก่เหตุและเป็นเหตุสุดวิสัย’
- ระหว่างกระบวนการฟ้องร้อง ได้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรค เช่น การนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 2 เมื่อ 24 มิถุนายน 2567 ถูกเลื่อนออกไปจากคำสั่งศาล เนื่องมาจากอธิบดีและรองอธิบดีศาล ภาค 9 ท้วงว่าจำเลยไม่ทราบวันนัดไต่สวนนี้
- ล่าสุด 23 สิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส ตัดสินว่ามีมูลฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คนจากทั้งหมด 9 คน (ได้แก่ ทุกคนตามรายชื่อในข้อ 12 ยกเว้นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 7) ในข้อหาฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว
- หลังคำพิพากษาของศาลในวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา จำเลยอย่างน้อย 1 คนต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลเพื่อรับฟ้องก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 การพิจารณาคดีจึงจะเริ่มต้นขึ้นได้
- “คำตัดสินของศาลในวันนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อคืนความยุติธรรมที่ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว