เป็นไปได้ไหม ที่สถานการณ์ ‘ไฟใต้’ จะสงบลง?
นับตั้งแต่จำความได้ ‘ปัญหาชายแดนภาคใต้’ หรือ ‘ไฟใต้’ ก็เหมือนจะอยู่ในการรับรู้ของชาวไทยมาโดยตลอด จนในปี 2567 นี้ ที่ปัญหาถูกนำกลับมาพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง เมื่อ ‘คดีตากใบ’ ขาดอายุความลง ซึ่งทำให้คนหันกลับมาสนใจสถานการณ์ในชายแดนใต้ และได้รับรู้ปัญหาที่ยังคงดำเนินอยู่มากยิ่งขึ้น
นำมาสู่คำถามคาใจที่ว่า จะเป็นไปได้ไหม ที่ไฟใต้จะยุติลงและคืนสู่สันติภาพอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาชนทั้งใน และนอกพื้นที่ได้เรียนรู้ถึงปัญหาความขัดแย้งในมุมมองใหม่ๆ พร้อมจับตามองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะมีท่าทีอย่างไรบ้าง
The MATTER ชวนไปพูดคุยกับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อทำความเข้าใจไฟใต้ และมองแนวโน้มการแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนไปด้วยกัน
ช่วงที่ ‘คดีตากใบ’ กำลังจะขาดอายุความ ดูเหมือนว่าปัญหาไฟใต้ก็เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ คิดว่าหลังจากนี้ปัญหาจะเป็นไปในทิศทางใด
การรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น จะมีผลในการผลักดันให้รัฐบาลมาให้ความสำคัญต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นแนวทางการสร้างสันติภาพ สันติสุข หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางการเมือง โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือใช้กฎหมายพิเศษในการจัดการที่มีการปราบปรามการควบคุม แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ยังดูเหมือนไม่ชัดเจนในทิศทางการแก้ไข
ดังนั้น หากมีเสียงเรียกร้องจากประชาชน กล่าวคือ มีแรงกดดันและการขับเคลื่อ ปัญหาเกี่ยวกับภาคใต้มากยิ่งขึ้น อย่างในปัจจุบันนี้ที่ภาคใต้กำลังเผชิญปัญหาภัยพิบัติ อุทุกภัย ก็มีผู้คนจากพื้นที่อื่นๆ ในประเทศมาช่วยกันจำนวนมาก ถือเป็นอีกภาพสะท้อนว่าคนตื่นตัวและมามองปัญหาในภาคใต้กันมากขึ้น
หลังคดีตากใบขาดอายุความแล้ว ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นยังไงต่อไป และจะมีส่วนโหมกระแสให้เกิดความรุนแรงใดเพิ่มเติมไหม
ข้อเรียกร้องคงจะเหมือนเดิม คือเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดเพื่อแก้ปัญหาในภาคใต้
คดีตากใบเป็นกรณีที่เห็นเป็นตัวอย่างได้ชัดเจนว่า ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหาย มีคนตายจำนวนมากอย่างในกรณีตากใบ ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดเลยว่าเป็นปัญหาเรื่องความยุติธรรมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คนที่ทำผิด คนที่มีส่วนในการกระทำ ก็ไม่ได้รับการลงโทษในทางกฎหมาย
กระแสการวิจารณ์ต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จึงค่อนข้างแรง รวมถึงกระแสที่วิจารณ์นโยบายของรัฐด้วย แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมาถึง 20 ปีนับจากเกิดเหตุการณ์ จนคดีขาดอายุความลง แต่ความรู้สึกต่างๆ ยังคั่งค้างอยู่ และมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการจัดการปัญหาโดยเน้นเรื่องความยุติธรรมให้มากกว่าเดิม รวมถึงให้ประชาชนเรียนรู้และตื่นตัวมากยิ่งขึ้น มีสำนึกรู้ต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าความยุติธรรมทางกฎหมายอาจจะหมดลงแล้วจากการขาดอายุความ แต่ยังคงมีการผลักดันต่อ ให้เกิดการดำเนินการในศาลอาญาระหว่างประเทศ
และภายในประเทศเอง ก็มีกระแสผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายเรื่องอายุความจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้าน ที่จะผลักดันการแก้ไขกฎหมายเรื่องอายุความ ให้ยืดออกไปมากกว่า 20 ปี เพื่อปรับใช้กับกรณีอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีละเมิดร้ายแรงหรือกระทบต่อสิทธิของประชาชน ซึ่งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ก็อาจต้องทำให้ไม่มีการขาดอายุความไปเลย
การเรียนรู้และตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ต่อปัญหา เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดมา 20 ปีแล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่มีประสบการณ์กับเหตุการณ์นี้โดยตรง แต่ก็มีการรับรู้ต่อปัญหาสูงมาก ดังนั้น คนรุ่นใหม่อาจมาขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น อย่างการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐในการแก้ปัญหา เช่น ข้อเรียกร้องเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก หรือให้ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน
ส่วนเรื่องความรุนแรงที่เกิดตามมาก็ยังคงมีต่อเนื่อง เช่น ขบวนการติดอาวุธใต้ดิน ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แบ่งแยกดินแดน เช่น ขบวนการ BRN และขบวนการอื่นๆ ซึ่งอาจมีการรับสมัครคนรุ่นหลังรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมมาเข้าร่วมเพิ่มเติม และจะกลายเป็นการขยายตัวของฝ่ายใช้อาวุธได้
โดยสรุปแล้ว การตื่นตัวและการขยายตัวในทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบรัฐจะมีน้ำหนักมากว่าการใช้กำลังและอาวุธ หรือการก่อเหตุความไม่สงบ ที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ คืออาจมีอยู่แต่ไม่ขยายตัวจนลุกลาม เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก อย่างคนรุ่นใหม่เองก็มีมุมมองว่าปัญหาต้องใช้การเคลื่อนไหวในทางการเมืองมากกกว่าความรุนแรง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
ประเด็นอะไรบ้าง ที่คนไทยยังขาดความเข้าใจหรือเข้าใจผิด ในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประเด็นที่ 1 ที่สำคัญที่สุด คือการมองคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีอคติ ที่มีคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมหรือมีเชื้อสายมลายู จึงทำให้มีความแตกตา่งจากตัวเอง ทั้งภาษา วัฒนธรรม ศาสนา จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นคนอื่น ไม่เป็นเหมือนคนไทยโดยทั่วไป จนเกิดความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ไว้ใจ ไม่ปลอดภัยกับคนต่างถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ได้ยาก ต้องเปิดใจให้กว้างและยอมรับความแตกต่าง
ประเด็นที่ 2 ในการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลที่อาจ ใช้ ‘การจัดการแบบพิเศษ’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นกระบวนการสันติภาพในการแก้ปัญหาเพื่อเจรจาพูดคุยหาทางออกอย่างสันติ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเป็นวิธีการทางรัฐศาสตร์ที่มีการใช้กันโดยทั่วไป
แต่หากใช้วิธีการนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนไทยนอกพื้นที่อาจรู้สึกหวาดระแวง และไม่ไว้ใจ ว่าทำไมให้สิทธิการจัดการแบบนั้นที่ไม่เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ แต่ต้องย้อนกลับมายอมรับว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ในอดีต ที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน มีความรุนแรงที่ยังแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาให้ยั่งยืน ก็ต้องมีการจัดการแบบพิเศษ จัดการให้ความรุนแรงลดลง ให้มีความสมานฉันท์และอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ
ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีปัญหาลักษณะนี้ ก็ใช้วิธีการจัดการปัญหาด้วยวิธีนี้ เช่น มินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ และอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีเหตุการณ์ความขัดแย้งคล้ายภาคใต้ของไทย จนปัจจุบันก็ตกลงให้มีการจัดการแบบพิเศษได้ โดยผลักดันให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม เป็นการปกครองแบบพิเศษ และประสบความสำเร็จในด้านสันติภาพ อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องมีการแบ่งแยกดินแดน
ดังนั้น ไทยจึงอาจควรแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยนำทางเลือกนี้มาพิจารณา แต่สิ่งสำคัญคือคนไทยส่วนใหญ่อาจต้องเปิดใจ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ โดยอยู่ในขอบเขต ใช้เหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง
ในเมื่อปัญหาไฟใต้ดำเนินมายืดเยื้อยาวนาน หากจะแก้ไขให้สำเร็จให้ได้ จริงๆ แล้วควรจะต้องเริ่มจากอะไร
รากเหง้าปัญหาคือเรื่องความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา และมีการปราบปราม การกดดันมาจากส่วนกลาง จนทำให้เกิดการต่อสู้ ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น หากจะแก้ปัญหา ก็จะต้องเข้าใจประเด็นปัญหารากเหง้า ว่าที่ผ่านมา ในความขัดแย้งเหล่านี้มันเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
รวมถึงต้องเข้าใจว่าการจะแก้ไขปัญหานั้นมีความอ่อนไหวและละเอียดอ่อนมาก จึงจะต้องแสวงหาทางออกด้วยวิธีสันติ ไม่ใช้ความรุนแรงหรือการปราบปราม หรือใช้มาตรการทางการทหาร ที่สำคัญคือทุกฝ่ายจะต้องมีความอดทนอดกลั้นอย่างมาก ทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายประชาชน
สำหรับประชาชนในพื้นที่ที่มีความคิดต่อต้านรัฐ ก็อาจต้องยอมรับและร่วมแสวงหาทางออกด้วยวิธีสันติ ซึ่งจะต้องใช้เวลาเรียนรู้ โดยเปิดใจให้กว้าง ทำความเข้าใจปัญหารากเหง้า ซึ่งจะถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา
ซึ่งในวิธีการแก้ปัญหานั้น ภาษาทางราชการจะเรียกว่า ‘การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง’ ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่ดำเนินการมาแล้วหลายปี ผ่านการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ดี จะต้องระวังการสร้างความเข้าใจนั้น จะต้องเป็นการ ‘เข้าใจซึ่งกันและกัน’
เพราะแม้จะมีคำพูดอยู่ตลอดเวลาจากภาครัฐฝ่ายความมั่นคงว่าต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นว่า ประชาชนจะต้องเข้าใจรัฐ แต่รัฐไม่ต้องเข้าใจประชาชน
โดยเน้นสร้างความเข้าใจว่าภาครัฐทำอะไรก็ถูกต้อง ส่วนประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ ถือเป็นพวกเข้าใจผิด ถูกหลอกลวง ถูกบิดเบือน จึงจะต้องทำให้เขาเข้าใจถูกต้อง
อย่างเช่นที่ผ่านมา หากมีองค์กร กลุ่ม หรือภาคประชาสังคมในพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่ต่างจากรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงก็จะมองว่าเป็นการก่อกวน ก่อความวุ่นวายและความไม่สงบ จนเกิดปฏิบัติการที่ทำให้เกิดภาพลบต่อฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ จนกลายเป็นว่า แทนที่จะเสริมความเข้าใจให้ถูกต้อง กลายเป็นยิ่งไม่เข้าใจ ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐก็จะยิ่งไม่เห็นด้วยมากยิ่งขึ้น เพราะถูกเพ่งเล็ง เฝ้าติดตาม หรือถูกคุกคามโดยรัฐ
ดังนั้น หากยังคงใช้หลักคิดนี้ ก็จะไม่มีทางสร้างความเข้าใจได้เลย เพราะเป็นความเข้าใจเพียงด้านเดียว แต่ในความเป็นจริงภาครัฐก็จะต้องเข้าใจพื้นที่อย่างถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่รากเหง้า ด้านประชาชนก็ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐมีวิธีคิดอย่างไร หรือเป็นความเข้าใจซึ่งกันและกันนั่นเอง
รัฐบาล ในฐานะคนที่มีอำนาจมากที่สุด ควรเข้ามามีบทบาทกับปัญหาไฟใต้อย่างไรต่อไป เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน
ปัญหารากเหง้าของไฟใต้ คือปัญหาความยุติธรรม ทั้งในแง่กฎหมาย ไปจนถึงในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนา
อ้างอิงจากสถิติของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จังหวะชายแดนภาคใต้มีคนยากจนมากที่สุด หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของประชากรยากจนทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่สะท้อนว่าปัญหาคุณภาพชีวิตของคนภาคใต้ เช่น การเข้าถึงการศึกษา นั้นมีปัญหามาก จึงสะท้อนว่าการบริหารจัดการในปัจจุบันยังไม่มีความยุติธรรม
การแก้ไขปัญหาจึงต้องมีการเจรจาตามหลักสันติภาพ แสวงหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ให้ประชาชนทุกคนทุกฝ่ายในพื้นที่มีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้ฝ่ายความมั่นคงคิดและดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งจะช่วยให้ความรุนแรง ทั้งความรุนแรงทางตรงอย่างเหตุการณ์ความไม่สงบ และความรุนแรงทางอ้อมนั้นลดลงได้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ต้องอาศัยเวลา และอาจต้องอยู่ในส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน
Editor: Thanyawat Ippoodom
Graphic Designer: Manita Boonyong
Graphic Designer: Manita Boonyong